มหกรรมการแสดงเครือข่ายวัฒนธรรมข้ามชาติ มศว แหล่งเรียนรู้รากแก้ววัฒนธรรม

มหกรรมการแสดงเครือข่ายวัฒนธรรมข้ามชาติ  มศว แหล่งเรียนรู้รากแก้ววัฒนธรรม

     หากเปรียบการเรียนนาฎศิลป์เสมือน “รากแก้ว” ที่ทำให้ไม้ใหญ่เติบโตแข็งแกร่ง แผ่กิ่งก้านสาขาให้ความร่มรื่นร่มเงาได้มาช้านานแล้วละก็ วันนี้รากแก้วกลับดูไม่เหนียวพอที่จะเหนี่ยวยึดต้นไม้ใหญ่ให้คงทนท้าแดดฝนไปได้นานนัก เพราะขาดน้ำ ขาดปุ๋ย ขาดความเอาใจใส่เหลียวแล ไม่นานวันไม้ใหญ่อาจล้มต้นยืนตายซากเป็นแน่แท้  แต่เมื่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้จัด “มหกรรมศิลปะ ดนตรีและการแสดง ครั้งที่ 8 (The 8th SWU International Festival of Arts and Culture 2018) หรือ มหกรรมการแสดงเครือข่ายวัฒนธรรมข้ามชาติ”

ขึ้นโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ ก็ทำให้น้องๆ นักศึกษานิสิตที่เรียนนาฎศิลป์และผู้ที่รักในศิลปวัฒนธรรมของชาติ ต่างก็มีความหวังว่า “รากแก้ว”รากนี้จะยังคงสามารถทำหน้าที่ยึดไม้ต้นใหญ่นี้ ให้กลับฟื้นคืนชีวิตชีวา แผ่ผลิกิ่งก้านดอกใบให้ความสุขสวยงามแก่ผู้พบเห็นพึ่งพิงร่มเงา ไม่ต่างจากความมลังเมลืองและความคิดสร้างสรรค์ในผลงานผ่าชุดการแสดงที่หลากหลายจากนานาประเทศกว่า 40 ชุดการแสดงเหล่านี้ อีกทั้งยังช่วยจุดประกายสร้างสานฝันที่เป็นจริงให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดงที่มีทักษะด้านการแสดงไม่ว่าจะเป็น ร้อง เล่น เต้นระบำ อย่างมืออาชีพในอนาคต
                  
“การเรียนศิลปะการแสดงไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ถือว่ามีคุณค่าต่อมนุษย์ สังคมและชาตินั้นๆ  ศิลปะ วัฒนธรรม การแสดง คือสิ่งแสดงเอกลักษณ์ อัตลักษณ์และรากเหง้า  อีกด้านหนึ่งศิลปวัฒนธรรมช่วยพัฒนาสติปัญญา พัฒนาอารมณ์จิตใจ พัฒนาร่างกายและการปรับตัวทางสังคมทำให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมากดั่งพระราชนิพนธ์แปลของรัชกาลที่ 6 จากเรื่องเวนิสวาณิชของเช็กสเปียร์ ว่า ‘ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดกบฎอัปลักษณ์’  ดังนั้นศิลปวัฒนธรรมจึงเป็น Soft Power ที่มีพลังมหาศาลและในยุคที่เรากำลังพูดถึงนโยบายประชารัฐ ไทยแลนด์ 4.0  ศิลปวัฒนธรรมก็เป็นมิติหนึ่งที่เราจำเป็นต้องฟื้นฟูดูแลรากแก้วนี้ของไทยเราให้แข็งแกร่งเพื่อเป็นเสาหลักด้านศิลปวัฒนธรรมในยุคไทยแลนด์ 4.0 ส่วนว่าเราควรจะ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมสอดคล้องกับความเปลี่ยนไปในโลกสังคมปัจจุบันอย่างไรนั้น ก็คิดว่าการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมทั้งนาฏศิลป์ไทย ดนตรีไทย จิตรกรรมไทยหรืองานภูมิปัญญาไทยต่างๆ มิใช่เพียงการเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์เพียงเท่านั้น หากแต่เป็นการเรียนรู้เพื่อจะก้าวไปสู่การเพิ่มมูลค่า การผลักดันความเป็นไทยสู่สากลและเป็นการขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรม” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ วรรณวิไชย คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว ศิษย์เก่านาฎศิลป์ มศว กล่าวอย่างภูมิใจ
                 
  ความคิดที่ว่าเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่เพียงพอ เทคโนโลยีต้องผสมผสานกับศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งจะช่วยสร้างผลลัพธ์ที่ทำให้หัวใจของเราอิ่มเอมมีความสุขได้ เพราะฉะนั้นการเรียนด้านศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ หากต้องการผลลัพธ์ที่พึงพอใจ ผู้เรียนซึ่งเป็นเด็กยุคไอทีก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการเรียนการสอนที่มีการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ เรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพราะเทคโนโลยีจะสอนได้ว่าเราจะสร้างสิ่งต่างๆ “อย่างไร” ขณะที่โลกของศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ กลับบอกเราว่า ต้องสร้าง “อะไร” และสร้าง “ทำไม” สิ่งนี้เกิดจากการเรียนรู้และทำความเข้าใจมนุษย์ผ่าน ภาษา ประวัติศาสตร์ ปรัชญา สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งได้รับการนำมาสื่อสาร สร้างสรรค์ แปลแปลงเป็นกระบวนท่าการร่ายรำต่างๆ ทั้งแบบดั้งเดิมและสากล กว่า 40 ชุดการแสดง จากเครือข่ายจากสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย 14 สถาบันและจากต่างประเทศอีก 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ฟิจิ ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซียและสาธารณรัฐเช็ก
                
    “แม้สังคมโลกเราจะก้าวมาสู่ยุคดิจิทัลและความเจริญด้านเทคโนโลยีก็มีอิทธิพลต่อชีวิตเราแทบทุกอย่างโดยเฉพาะรูปแบบการเรียนการสอน ที่ต้องมีการบูรณาการศาสตร์หลายศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อเชื่อมโลกจากที่ต่างๆ ให้เป็นสากล ไม่อย่างนั้นนิสิตที่เรียนศิลปกรรมศาสตร์ก็จะไม่มีแรงบันดาลใจ ไม่ตื่นตัว ซึ่งนิสิตเองก็จะได้ดูว่าชุดการแสดงมากมายหลายสิบชุดจากประเทศต่างๆ แตกต่างกันทางด้านวัฒนธรรมเชื้อชาตินั้น เราสร้างอะไรขึ้นมาและสร้างมาทำไม” รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว กล่าว
                
   ขณะเดียวกันด้าน 2 นักแสดงสาวจากสหรัฐอเมริกา Nancy Villarreal และ Aida Landeros  จาก Ollin Lxtli Dance Company ได้โชว์ท่าเต้นสไตล์ชนเผ่าอย่างสนุกสนานพร้อมกับเสียงกรุ๋งกริ๋งจากเครื่องประดับที่ข้อเท้า “ศิลปะและดนตรีเป็นสิ่งบำบัดร่างกายและจิตใจต่อผู้แสดงและผู้ชม เพราะคือความสุขแม้จะไม่รู้ความหมายของการแสดงจากประเทศต่างๆ แต่การดูแสดงหรือดูงานศิลปะนั้น เราไม่จำเป็นต้องตีความ ได้รับรู้จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 ก็ถือว่าการแสดงนั้นประสบความสำเร็จแล้วเพราะผู้ชมหัวเราะ ยิ้มมีความสุข นี่คือเหตุผลว่าเราเต้นเราเล่นระบำกันเพื่ออะไร สิ่งนี้คืองานศิลปะที่มีคุณค่าต่อมนุษย์ทุกเชื้อชาติแบบไม่มีเงื่อนไขไร้ขีดจำกัด”
 
การเรียนวิชาการนาฎศิลป์ในปัจจุบันไม่เพียงแต่จะสอนให้เด็กเต้นเป็น รำเป็น แต่ยังต้องอาศัยการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ที่หลากหลาย การแสดงสดๆ บนเวทีแม้เพียงครั้งเดียวก็อาจจุดประกายไฟฝันให้เกิดนักแสดงหน้าใหม่ขึ้นได้ในอนาคตก็เป็นได้ ซึ่งหลายสถาบันในประเทศที่มีการเรียนการสอนสาขาศิลปกรรมศาสตร์นี้ ต่างได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ความคิดสร้างสรรค์ทุกแบบของมนุษย์นั้นมีค่าและมีประโยชน์  เราเพียงแต่ต้องหาที่ทางอันถูกต้องให้กับทักษะของเราเท่านั้นเพราะนี่คือการเปิดโลกการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทยแลนด์ 4.0 ”ที่สถาบันการศึกษาจำเป็นจะต้องทำหน้าที่บำรุงรักษา “รากแก้ว” รากนี้ให้แข็งแกร่งหยั่งรากลึกลงผืนดิน เพื่อให้ไม้ใหญ่ที่เปรียบเสมือนวิชาการด้านนาฎศิลป์ไทยเรา ให้คงอยู่ต่อไปอย่างมีคุณค่าต่อชีวิตมนุษย์และสังคมไทยเรา.
 


REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line