ราชมงคลพระนคร โกอินเตอร์ ปั้นครูต้นแบบ ราชอาณาจักรภูฏาน

ราชมงคลพระนคร โกอินเตอร์ ปั้นครูต้นแบบ ราชอาณาจักรภูฏาน

การเผยแพร่วัฒนธรรมถือเป็นพันธกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ที่สะท้อนถึงศักยภาพและคุณภาพทางวิชาการ ล่าสุดคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ได้ส่งอาจารย์ไปเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมไทยในราชอาณาจักรภูฏาน ผ่านโครงการฝึกอบรมระดับนานาชาติ


รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวว่า  ช่วงเดือนมิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัย โดยคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ส่งอาจารย์ร่วมเป็นครูอาสาสมัครเพื่อนไทย อบรมหลักสูตรการทำขนมอบ และอาหารนานาชาติระยะสั้น ณ ราชอาณาจักรภูฏาน ภายใต้โครงการ Home Ownership Project Endowment หรือ HOPE  ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักพระราชวัง ราชอาณาจักรภูฏาน ก่อตั้งขึ้นโดยเล็งเห็นถึงการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นและผู้ด้อยโอกาสให้มีอาชีพ เกิดความรู้ใหม่นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัว 

นางปิยะธิดา สีหะวัฒนกุล คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า ฃ ราชมงคลพระนครได้รับโอกาสจากกระทรวงการต่างประเทศ ผ่านสำนักงานพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ (สพร.) หรือ TICA ให้ส่งครูอาสาสมัคร เป็นวิทยากรสอนวิชาชีพด้านการตัดเย็บเสื้อผ้า การทำเบเกอรี่ และการประกอบอาหารให้บุคคลในศูนย์การเรียนรู้ราชอาณาจักรภูฏาน ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมในค่ายทหารที่มีอยู่ทุกจังหวัดของราชอาณาจักรภูฏาน โดยภายในศูนย์จะเป็นแหล่งเรียนรู้ การฝึกฝนอาชีพต่างๆ รวมถึงการฝึกบุคคลหรือครูต้นแบบเพื่อให้นำความรู้ต่างๆ ไปถ่ายทอดให้ประชาชนได้ฝึกฝนและประยุกต์ในการประกอบอาชีพต่อไป  ซึ่งทีมอาจารย์อาสาสมัครได้ลงพื้นที่สอนหลักสูตรระยะสั้น 3  หลักสูตร  หลักสูตรละ 7 วัน  โดยระยะที่ 1 หลักสูตรขนมอบ ได้แก่ ขนมปัง คุกกี้ เค้ก และหลักสูตรอาหารนานาชาติ  โดย ผศ. ณนนท์ แดงสังวาลย์ และ อาจารย์ศันสนีย์ ทิมทอง อาจารย์สาขาวิชาอุตสาหกรรมการบริการอาหาร ณ เมืองซิบโซ (RBA WING V Sibsoo, Bhutan ) ระหว่างวันที่ 4-14 มิถุนายน 2561  และระยะที่ 2 หลักสูตรการตัดเย็บ โดย ผศ. อภิรัติ โสฬศ  ณ เมืองทิมพู (RBG HQ VSD Centre Thimphu, Bhutan) ระหว่างวันที่ 18-28 มิถุนายน 2561

ด้าน ผศ.อภิรัติ โสฬศ อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารธุรกิจคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ผู้เรียนสามารถนำทักษะที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ในท้องถิ่นของตนได้เป็นอย่างดี เพราะสอนตั้งแต่พื้นฐาน รายละเอียดปลีกย่อยจนสามารถสร้างเป็นผลผลิตสำเร็จรูปได้ เช่นการตัดเย็บเสื้อผ้า  จะสอนตั้งแต่การวัดหุ่น การสร้างแบบตัดเสื้อ กระโปรง การสร้างแพทเทินชุด ซึ่งผู้เรียนนำไปประยุกต์ใช้ในการตัดเย็บเสื้อผ้ารูปแบบอื่นๆ ต่อไป  ทั้งนี้สิ่งที่คาดหวังคือต้องการให้ประชาชนรวมถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมของภูฏาน ได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ประกอบอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวต่อไป  ด้านมหาวิทยาลัยได้เผยแพร่การเรียนการสอน ซึ่งคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร นับเป็นต้นแบบในการผลิตบัณฑิต ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

 นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ที่ได้รับโอกาสนำศิลปวัฒนธรรมในด้านการตัดเย็บและทำอาหารไปเผยแพร่ให้ชาวต่างชาติได้ชื่นชมและยกระดับความเป็นอยู่ของชาวภูฏานได้ในอนาคต

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line