SOFT SKILLS เสริมแกร่งวิศวกรพันธุ์ใหม่...ก้าวเป็น Global Engineer

SOFT SKILLS เสริมแกร่งวิศวกรพันธุ์ใหม่...ก้าวเป็น Global Engineer
 บมจ. ไทยเมเดนชา ในเครือ เมเดนชา กรุ๊ป ผู้นำเทคโนโลยีไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าในรถไฟฟ้าชิงกันเซนระดับโลกจากญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry : METI) ผนึกความร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดโครงการ “ Meiden Group Endowed Course สร้างวิศวกรพันธุ์ใหม่”โดยมี รศ.ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รองอธิการบดีอาวุโส เป็นประธานพิธีเปิด ฝึกทักษะ Soft Skills สนองตอบการพัฒนาไทยแลนด์ 4.0
 
          รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.กล่าวว่า ความร่วมมือของทั้งสององค์กร นับเป็นโอกาสอันดีที่สำหรับการเตรียมความพร้อม“วิศวกร” คนรุ่นใหม่ ก้าวสู่วิถีแห่งศตวรรษที่ 21  ไม่ว่าจะเป็นทักษะการสื่อสารในองค์กร จิตวิญญานของความเป็นทีม มารยาททางสังคมและธุรกิจ การควบคุมพัฒนาความปลอดภัย จิตสำนึกในคุณภาพ ทักษะภาษาอื่นๆ  เทคโนโลยีอนาคต ทักษะการต่อรองเพื่อประโยชน์สูงสุดของทั้งสองฝ่าย ทัศนคติและพฤติกรรมทางบวก เพื่อสร้างเสริมศักยภาพของวิศวกรพันธุ์ใหม่ สู่การเป็น Global Engineer โดยมีดร.สมภพ ผลไม้ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า วางแผนดูแล ระยะเวลาในการฝึกอบรม 1 ปี การอบรมพิเศษนี้เปิดฝึกอบรมรุ่นแรกในปี 2560 จำนวน 50 คน และในปีนี้ 2561 ได้เปิดรุ่นที่ 2 เป็นนักศึกษา ปี 3 จำนวน 50 คน
 
มร.ยาสุฟูมิ ริว (Yasufumi Ryu) กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยเมเดนชา กล่าวว่า โครงการเปิดหลักสูตร ที่มีชื่อว่า “Meiden Group Endowed Course” โดย เมเดนชา กรุ๊ป เนื่องด้วยเห็นศักยภาพของประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน และคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. มีความโดดเด่นในอาเซียนด้านการศึกษา Active Learning และวิจัยพัฒนานวัตกรรม  เราต้องการมีส่วนร่วมพัฒนาองค์ความรู้แก่คนไทยและแบ่งปันต่อสังคมไทยอย่างยั่งยืน เสริมทักษะประสบการณ์ความรู้เป็นทุนติดตัวไปกับวิศวกรรุ่นใหม่ สร้างการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต โดยฝึกฝนและพัฒนาด้านทักษะ Soft Skills เทคโนโลยีด้านระบบไฟฟ้าและพลังงาน ตลอดจนความปลอดภัยและคุณภาพในการผลิตที่มีมาตรฐานระดับโลก  สนับสนุนการกระจายความเจริญไปยังภูมิภาคได้รวดเร็วขึ้นผ่านคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพ ระบบสาธารณูปโภคและการศึกษาวิจัยที่ก้าวหน้า โดยสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาทุนมนุษย์และการสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่ไทยแลนด์ 4.0
 
มาคุยกับส่วนหนึ่งของหนุ่มสาวว่าที่วิศวกรพันธุ์ใหม่ ที่เข้าร่วมโครงการนี้  ธนาวุฒิ ว่องไววิริยะ (คิง) หนุ่มนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.เปิดมุมมองว่า “ผมคิดว่าการเตรียมความพร้อมในวันนี้ จะเป็นรากฐานของชีวิตการทำงานในวันหน้า วิศวกรยุคใหม่ในอนาคต ควรมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 นอกเหนือจากวิชาหลักด้านไฟฟ้า ยังต้องรู้ถึงการดูแลรักษา การควบคุมคุณภาพ และที่สำคัญคือ ทักษะทางสังคม หรือ Soft Skills รอบด้าน ความเป็นไปของโลกข้ามวัฒนธรรม มีความเป็นผู้นำและรับผิดชอบต่อสังคม ในอนาคตผมอยากจะทำงานด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศของเราครับ“
 
ปทิตตา เขียวเล็ก (นีน่า) นักศึกษาสาวสดใส ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เผยว่า “ประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านปฏิรูปประเทศ ทั้งด้านการรวมหน่วยงานอุดมศึกษากับวิจัยนวัตกรรมเข้าด้วยกัน  โครงการคมนาคมขนส่ง ระเบียงเศรษฐกิจ EEC ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก โครงการเมืองอัจฉริยะในกรุงเทพและจังหวัดหลักทั่วประเทศ วิศวกรและคนไทยทุกวิชาชีพ ต้องปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถให้ตนเองด้วยการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง เราคนรุ่นใหม่ต้องรู้จักนำมาต่อยอด อนาคตใฝ่ฝันอยากทำงานเป็นวิศวกรในการท่าอาศยานค่ะ”
 
มาดี พรพิธิวรรณ (ตอง) หนุ่มน้อยนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า “โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วด้วยดิจิทัล คลาวด์และไอโอที ที่ช่วยเพิ่มอัตราเร่งและเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา บ่อยครั้งเทคโนโลยีใหม่ก็ disrupt พลิกเปลี่ยนวิถีเดิมๆอย่างฉับพลัน เกิดแพลทฟอร์มใหม่ๆ การได้เข้าร่วมโครงการนี้ เราจะได้มุมมองที่แตกต่างกว้างไกลยิ่งขึ้น ผมเชื่อมั่นว่า ทักษะและความรู้ด้าน Soft Skill ที่ได้รับมาพลิกแพลงกับบทเรียน หรือหากจบการศึกษาไปแล้ว สามารถเชื่อมโยง วิเคราะห์ ออกแบบ ซึ่งจะตอบโจทย์การทำงานได้ดีขึ้นและมากยิ่งขึ้นครับ”
 
          วรรณชัย โกกะยุทธานนท์ (ต้น) หนุ่มนักศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เผยว่า “ผมมีความสนใจในเรื่องระบบ Safety ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของทุกธุรกิจอุตสาหกรรมในอนาคต และอยากมีความรู้เพิ่มเติมทางด้านนี้ ผมจะนำความรู้และทักษะระบบความปลอดภัย มาลดการเกิดความผิดพลาดได้ อนาคตก็อยากจะทำวิจัยระบบความปลอดภัยอยู่แล้ว จึงไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ ได้ทักษะภาษาและวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น มารยาทธุรกิจ การสื่อสารในองค์กร หากเรามีความรู้ในภาษาที่ 3 ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการทำงาน การสื่อสารในอนาคตด้วย”


Comments

Share Tweet Line