แควนตัสกรุ๊ป ปลื้มกำไรผลประกอบการปีงบประมาณ 2561

แควนตัสกรุ๊ป ปลื้มกำไรผลประกอบการปีงบประมาณ 2561

·       กำไรอ้างอิงก่อนภาษี 38,400 ล้านบาท (1,600 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) (เพิ่มร้อยละ 14)


·       กำไรก่อนภาษีตามกฎหมาย 33,600 ล้านบาท (1,400 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) (เพิ่มร้อยละ 18)

·       รายได้ตามกฎหมายต่อหุ้น 13.44 บาท (56 เซ็น) (เพิ่มร้อยละ 21)

·       ความสามารถในการทำกำไรจากที่ลงทุนไว้ร้อยละ 22

·       เงินสดหมุนเวียนอิสระ 34,608 ล้านบาท (1,442 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10)

·       เงินปันผลผู้ถือหุ้น 12,000 ล้านบาท (500 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) หรือ 2.40 บาท (10 เซ็น) รวมซื้อหุ้นคืน 7,968 ล้านบาท (332 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย)

·       จัดสรรโบนัส 1,608 ล้านบาท (67 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) ให้บุคลากรระดับปฏิบัติการ 27,000  คน

·       โครงการปรับปรุงห้องพักผู้โดยสารในสนามบิน 6 แห่ง

·       เห็นชอบสร้างสถาบันการบินแห่งที่สองในภูมิภาคของออสเตรเลีย

 

แควนตัสกรุ๊ปประกาศผลประกอบการประจำปีงบประมาณ 2561 สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2561 (1 กรกฎาคม 2560- 30 มิถุนาย 2561) ด้วยกำไรอ้างอิงก่อนภาษี 38,400 ล้านบาท (1,600 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) พร้อมเดินหน้าจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น ลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า จ่ายโบนัสให้บุคลากรระดับปฏิบัติการ โดยผลประกอบการที่ได้รับมาจากดีมานด์ในทุกตลาด รวมถึงความแข็งแกร่งจากเส้นทางบินภายในประเทศออสเตรเลียของทั้งสายการบินแควนตัสและสายการบินเจ๊ทสตาร์

 

มร.อลัน จอยส์ ประธานกรรมการบริหารแควนตัสกรุ๊ปเผยว่า “ผลกำไรที่ได้รับสะท้อนความแข็งแกร่งของแควนตัสกรุ๊ปในตลาด ตลอดจนถึงผลลัพธ์จากกลยุทธ์การทำงานเพื่อปรับปรุงและสร้างคุณค่าระยะยาวให้กับผู้ถือหุ้น”

 

“การลงทุนให้บริการอินเทอร์เน็ทไวไฟฟรีและการปรับปรุงภายในห้องโดยสารช่วยให้ลูกค้าประทับใจกับประสบการณ์ที่ได้รับ อีกทั้งราคาตั๋วโดยสารในเส้นทางบินภายในประเทศเมื่อเทียบกับเมื่อ 15 ปีที่แล้วยังถูกลงเกือบร้อยละ 40 เราเห็นสัญญาณดีมานด์ที่ดีขึ้นในตลาดหลักๆ เป็นสัญญานที่ดีสำหรับการดำเนินงานปีงบประมาณถัดไป รวมทั้งผลประกอบการที่ได้รับยังเป็นเรื่องที่ดีแม้ว่าจะประสบกับภาวะน้ำมันราคาสูงขึ้น และความท้าทายนี้จะอยู่กับเราต่อไปจนถึงปีงบประมาณหน้า อย่างไรก็ตามเรามั่นใจว่าจะสามารถฝ่าฟันความท้าทายนี้ได้ทั้งในเรื่องรายได้และการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากโปรแกรมประกันความเสี่ยงด้านน้ำมัน”

 

“อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของเรามาจากบริการที่เป็นยอดและการทุ่มเทเพื่อความปลอดภัยจากบุคลากรของเราที่ได้รับการสนับสนุนโดยการลงทุนและนวัตกรรมต่างๆ และเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ทั่วโลก คณะกรรมการบริหารมีมติจัดสรรเงินกว่า 7,200 ล้านบาท (300 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา จ่ายโบนัสให้บุคลากรระดับปฏิบัติการ”

 

การดำเนินงานเส้นทางบินภายในประเทศ

แควนตัสกรุ๊ปมีรายได้ก่อนดอกเบี้ยและภาษี 26,400 ล้านบาท (1,100 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) สูงกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมาร้อยละ 25 ซึ่งเป็นผลจากการรวมตารางบินเน็ทเวิร์คของแควนตัสและเจ๊ทสตาร์ในตลาดหลักเข้าด้วยกัน ตลอดจนถึงการลงทุนปรับปรุงห้องโดยสารเครื่องบินแอร์บัส A320 ในสายการบินเจ๊ทสตาร์ การลงทุนห้องพักรับรองผู้โดยสารใหม่ การให้บริการอินเทอร์เน็ทไวไฟฟรีในสายการบินแควนตัส ทั้งนี้เส้นทางบินภายในประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินงานของแควนตัสกรุ๊ปทั้งหมดร้อยละ 6 ทั้งนี้แควนตัสกรุ๊ปมีส่วนแบ่งในตลาดองค์กรคงเดิมแต่มีส่วนแบ่งในตลาดเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นในตลาดทรัพยากรธรรมชาติในครึ่งปีงบประมาณนี้ นอกจากนั้นดีมานด์เส้นทางบินภายในประเทศจากสายการบินพันธมิตรเส้นทางบินต่างประเทศยังเพิ่มขึ้น รวมถึงดีมานด์ตลาดเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนยังมีความแข็งแกร่ง และเจ๊ทสตาร์บรรทุกผู้โดยสารเส้นทางบินภายในประเทศและต่างประเทศ 24 ล้านคน

 

เส้นทางบินต่างประเทศ

แควนตัสเส้นทางบินต่างประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 หรือ 9,576 ล้านบาท (399 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) ยังคงมีมาร์จิ้นอยู่ในระดับที่ดีในตลาดที่มีการแข่งขันสูงรวมถึงในภาวะที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ในปีงบประมาณนี้แควนตัสเส้นทางบินต่างประเทศได้เริ่มให้บริการด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์สเส้นทางเพิร์ธ-ลอนดอน และให้บริการร่วมกับสายการบินเอมิเรตส์เส้นทางข้ามทะเลทัสมัน ส่วนสายการบินเจีทสตาร์เส้นทางบินต่างประเทศมีผลกำไรเช่นกันหลังจากสามารถบริหารผลกระทบ 264 ล้านบาท (11 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) จากเถ้าภูเขาไฟปะทุที่เกาะบาหลี รวมทั้งยังได้เปิดให้บริการเที่ยวบินเส้นทางบินใหม่ระหว่างเมลเบิร์น-โฮจิมนห์ซิตี้ สำหรับตลาดเอเชียทุกตลาดเจ๊ทสตาร์มีผลกำไร อีกทั้งการขยายฮับของแควนตัสในสิงคโปร์ยังส่งผลดีต่อผู้โดยสารในการต่อเที่ยวบินเที่ยวต่อไปด้วย

 

ส่วนผลประกอบการของแควนตัสเฟรทเป็นที่น่าพอใจ มีความแข็งแกร่งในตลาดต่างประเทศและทรงตัวในตลาดภายในประเทศ

 

แควนตัสรอยัลตี้

แควนตัสรอยัลตี้มีผลประกอบการ 8,928 ล้านบาท (372 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากปีงบประมาณก่อน อย่างไรก็ตามมาร์จิ้นลดลงร้อยละ 0.4 เนื่องจากเงื่อนไขการตลาดที่ผสมผสานกันและโปรโมชั่นคะแนนโบนัสเพื่อสนับสนุนการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทางการเงิน โดยยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ร้อยละ 24.1 สำหรับโปรแกรมสะสมคะแนนฟรีเคว่นฟลายเออร์เติบโตร้อยละ 4.2 โดยมีสมาชิกทั้งหมด 12.3 ล้านคน  นอกจากนั้นยังมีอัตราการเติบโตด้านรายได้จากการร่วมทุนใหม่ๆ รวมถึงธุรกิจประกันสุขภาพ และแควนตัสพรีเมียร์การ์ด ส่วนการขยายตัวไปในบริการด้านการเงินมีแผนงานเริ่มในครึ่งปีแรกปีงบประมาณ 2562

 

ด้านการเงิน

เงินสดหมุนเวียนอิสระเพิ่มขึ้น 3,192 ล้านบาท (133 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) ช่วยผลักให้หนี้สุทธิไปอยู่ที่ระดับต่ำสุด และเกิดความยืดหยุ่นในอนาคตสำหรับการลงทุนและการปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายด้านทุนอยู่ที่ 72,000 ล้านบาท (3,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) สำหรับปีงบประมาณ 2561 และ 2562 (สุทธิจากการขายสินทรัพย์) ในปีงบประมาณ 2561 คิดเป็นเงิน 47,280 ล้านบาท (1,970 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) โดย 11,112 ล้านบาท (463 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) มาจากรายได้การปรับเปลี่ยนด้านต่างๆ และประโยชน์จากการขาย

 

การประกันความเสี่ยงน้ำมันช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในช่วงปีงบประมาณ 2561 ช่วยให้แควนตัสกรุ๊ปสามารถปรับรายได้ให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และจะยังคงดำเนินต่อไปในปีงบประมาณ 2562 โดยได้มีการประกันความเสี่ยงน้ำมันไว้แล้วร้อยละ 87 จากประสิทธิภาพการดำเนินงานช่วยให้การใช้น้ำมันในปีงบประมาณนี้ลดลงร้อยละ 1 และคาดว่าจะอยู่ระดับเดียวกันในปีงบประมาณหน้า

 

เงินปันผลสำหรับผู้ถือหุ้น

คณะกรรมการบริหารแควนตัสกรุ๊ปประกาศจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น 12,000 ล้านบาท (500 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) หรือ 2.40 บาท (10 เซ็น) ต่อหุ้นมีกำหนดจ่ายในวันที่ 10 ตุลาคม 2561 ตามการบันทึก ณ วันที่ 6 กันยายน 2561 รวมถึงซื้อหุ้นคืน 7,968 ล้านบาท (332 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) ซึ่งจะช่วยให้เงินทุนกลับเข้ามาในแควนตัสกรุ๊ปนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2558 เป็นเงินรวม 74,400 ล้านบาท (3,100 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) และหุ้นลดลงราวร้อยละ 26

 

การลงทุนในอนาคต

ในปีงบประมาณ 2561 แควนตัสกรุ๊ปลงทุนหลายเรื่องด้วยกัน เช่น การสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787-9 ดรีมไลเนอร์ส 6 ลำ เพื่อให้บริการเส้นทางบินต่างประเทศ เร่งปลดระวางเครื่องบินโบอิ้ง 747  ปรับปรุงภายในห้องโดยสารเครื่องบินแอร์บัส A380 และเครื่องบินแอร์บัส A321LR NEOs ใหม่สำหรับสายการบินเจ๊ทสตาร์ 18 ลำ นอกจากนั้นจะเดินหน้าโครงการซันไรส์ (Project Sunrise) เพื่อเปิดให้บริการเที่ยวบินตรงจากชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายในปี พ.ศ.2565 ขณะเดียวกันแควนตัสกรุ๊ปได้ประกาศโครงการปรับปรุงห้องพักรับรองผู้โดยสารทั่วโลก 6 แห่ง มีการดีไซน์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้โดยสาร รวมถึง

·        ปรับปรุงและขยายห้องพักรับรองผู้โดยสารชั้นเฟิร์สคลาสเส้นทางบินต่างประเทศที่สนามบินซิดนีย์

·        ปรับปรุงห้องพักรับรองผู้โดยสารที่สนามบินโอ๊คแลนด์

·        ปรับปรุงห้องพักรับรองผู้โดยสารที่สนามบินนาริตะในกรุงโตเกียว

·        ขยายปรับปรุงห้องพักรับรองผู้โดยสารเส้นทางบินต่างประเทศที่สนามบินบริสเบน

·        ปรับปรุงห้องพักรับรองผู้โดยสารเส้นทางบินภูมิภาค 2 แห่ง ที่แทมเวิร์ธ และโฮบาร์ท

 

นอกจากนั้น แควนตัสกรุ๊ปยังได้ประกาศตั้งสถาบันการบินแห่งที่ 2 ซึ่งจะช่วยตอบสนองดีมานด์ตลาดการบินทั่วโลกที่ยังคงมีอัตราการเติบโตอยู่ โดยมุ่งเน้นผลิตบุคลากรคุณภาพเพื่อป้อนให้สายการบินภายใต้แควนตัสกรุ๊ป และธุรกิจการบินในประเทศที่ต้องการบุคลากรด้านนี้ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางฝึกอบรมนักบินในภูมิภาค โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากรัฐบาลของเครือรัฐ รัฐสภาท้องถิ่น และภาคเอกชน โดยแควนตัสกรุ๊ปได้ตั้งงบประมาณจัดตั้งสถาบันการบินทั้งสองแห่งซึ่งจะอยู่ในภูมิภาคออสเตรเลียไว้ 480  ล้านบาท (20 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) และจะประกาศว่าเป็นเมืองไหนเร็วๆ นี้ โดยสถาบันการบินแห่งแรกจะเปิดให้บริการในปี  2562 และคาดว่าแห่งที่สองจะเปิดให้บริการในปี 2563 ขณะเดียวกันแควนตัสกรุ๊ปยังได้จัดสรรเงินช่วยเหลืออีก 72 ล้านบาท (3  ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย) ให้ชุมชนในภูมิภาคออสเตรเลียที่ประสบปัญหาภัยแล้งด้วย

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line