ศิริพงศ์ กับเรื่องสั้น”เสื้อคลุมของผู้พัน”เจ้าของรางวัลพานแว่นฟ้าปี61

ศิริพงศ์ กับเรื่องสั้น”เสื้อคลุมของผู้พัน”เจ้าของรางวัลพานแว่นฟ้าปี61

 

จากหนุ่มเมืองคอน ที่เดินทางเข้าเมืองกรุงเพื่อสานฝัน เริ่มต้นการทำงานเป็นเทคนิคสถานีวิทยุ ด้วยความชื่นชอบในสถานการณ์ข่าวสารบ้านเมือง และ รักในการอ่าน จึงผันตัวยึดอาชีพผู้สื่อข่าวสายการเมือง จนกลายเป็นคนสร้างงานวรรณกรรมในปัจจุบัน เรามารู้จักกับนักเขียนหน้าใหม่ “กบ-ศิริพงศ์ หนูแก้ว” กับเส้นทางชีวิต มุมมอง แนวคิด ของผู้ชายคนนี้ และกว่าจะเป็น “เสื้อคลุมของผู้พัน”

 

อยากให้พูดถึงประวัติความเป็นมา?

ศิริพงศ์ : ผมเกิดและเติบโตที่ ต.ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช พอเรียนจบ ปวส. สนใจงานเขียนตั้งแต่เด็ก ผมได้อ่าน บทกวี “เกลียวคลื่นคืนฝั่ง” ของ “เดือนแรม ประกายเรือง” กวีหน้ารามมือรางวัล พออ่านแล้วเกิดแรงบันดาลใจในการเขียน ผมตั้งคำถามว่า ถ้าอยากเป็นนักเขียนต้องทำอย่างไร จากนั้นเข้ามากรุงเทพมหานคร เรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะรัฐศาสตร์ และปัจจุบันนี้ผมทำงานที่สำนักข่าวทีนิวส์ครับ

 

 

 

ตามกรอบแนวคิดหน้าที่พลเมืองของรางวัลพานแว่นฟ้า เรื่องนี้นำเสนอสะท้อนอะไรของสังคม?

ศิริพงศ์ : ประชาชนของสังคม ที่ยังมีความคิดทางการเมืองที่แปลกแยกกันอยู่ หลายคน ที่เป็นกลุ่มก้อนยังพยายามแสดงสิทธิ ที่ก้าวล่วงคนอื่นทั้งที่โดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว มีการละเมิดสิทธิคนอื่นโดยอ้างความชอบธรรมซึ่งยึดติดอยู่กับคำว่า ประชาธิปไตย ไม่รู้สึกผิดกับการล้ำเส้นคนอื่น ในขณะที่ไม่ยอมให้คนอื่นล้ำเส้นตนเองเช่นกัน ไม่มีความรู้สึก ละเลยถึงหน้าที่ในฐานะพลเมืองที่ควรจะเป็น ส่วนฝ่ายรัฐเองก็ลงมาเป็นคู่ขัดแย้ง มีการดึงกองทัพออกมาเป็นพวก พยายามเข้าไปแทรกแซงครอบงำด้วยอำนาจทางการเมือง ซึ่งขึ้นอยู่กับใครกุมอำนาจรัฐ สุดท้ายเจ้าหน้าที่ที่ออกมาปราบปราม และประชาชนที่ออกมาชุมนุม ก็คล้ายจะกลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ทั้งที่ในความเป็นจริง คู่ขัดแย้งที่แท้จริงไม่ใช่พวกเขา ท้ายที่สุดหากทุกคนยังยึดติดกับความคิดของตนเอง ไม่ว่าประชาชน ผู้มีอำนาจ ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้ สิทธิ หน้าที่ พลเมือง สุดท้ายเสื้อคลุมก็ไม่ถูกถอดออก ทุกคนยังเป็นผู้พัน แม้ประเทศนี้จะผ่านการปฏิรูป ปฏิวัติ อีกสักกี่ครั้งก็ตาม

 

“เสื้อคลุมของผู้พัน” ได้แรงบันดาลใจจากอะไร?

ศิริพงศ์ : บ้านตรงข้ามบ้านผม เป็นบ้านของผู้พันท่านหนึ่ง ทุกอาทิตย์ผู้พันจะเข้ามาตัดกิ่งต้นไม้ เก็บดอกไม้ในสวนหน้าบ้าน ทำความสะอาดบ้าน บ้านพักของผู้พันเป็นบ้านอยู่แถวย่านเกียกกาย จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับทหาร โดยลองจินตนาการว่าให้ผู้พันอยู่ในห้อง นั่งรำลึกความหลัง พร้อมกับผูกเข้าไปกับเรื่องการเมือง โดย ให้ผู้พันเป็นตัวละคร ตัวเดินเรื่อง เป็นตัวแทนความคิด เกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งของคนไทยที่มีมานานนับ 10 ปี ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบคน ไม่ได้เป็นการวิพากษ์ทหาร ซึ่งทำให้คนอ่านต้องตีความนั่นเอง

 

 

มีความกดดันบ้างไหมกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบันที่ส่งเรื่องนี้เข้าประกวด?

ศิริพงศ์ : ผมอยากเสนอความคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์แบบนี้เราควรจะแก้ไขอย่างไร อย่างน้อยหนังสือวรรณกรรมจะช่วยให้สังคมได้คลี่คลายสถานการณ์ให้หลุดพ้น ทำให้คนที่เข้ามาอ่าน อยากจะทำแบบนี้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยให้มากขึ้น

 

เรื่องนี้ใช้เวลาเขียนนานแค่ไหน?

ศิริพงศ์ : เรื่องนี้ผมใช้เวลาเขียนจริงๆ 2-3 เดือน ความตั้งใจเดิมจะส่งตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ว่าไม่ได้ส่ง ก็เลยเอามาส่งในปีนี้

 

รู้ตัวว่าชอบการอ่าน การเขียนตอนไหน และเริ่มจริงจังกับงานเขียนเมื่อไหร่?

ศิริพงศ์ : หลังจากที่เรียนจบ ปวส. และเดินทางเข้า กทม. ได้มีโอกาสเข้าทำงานที่ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ผมชอบไปนั่งกองข่าว พี่ลุง พี่เปอร์ เอาหนังสือมาให้อ่าน ผมเลยชอบการอ่านหนังสือตั้งแต่ตอนนั้น และเริ่มงานเขียนแบบจริงจังเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา

 

 

เคยส่งผลงานเข้าประกวดไหม เคยได้รับรางวัลไหม?

ศิริพงศ์ : ผมเคยส่งงานเขียนเข้ากับพานแว่นฟ้า ครั้งแรกเมื่อปี 2559 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 และก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทเรื่องสั้น

 

พอทราบว่าเข้ารอบ 13 เล่มรู้สึกยังไง?

ศิริพงศ์ : พอเข้ารอบ 13 เล่ม ดีใจมากเลยครับ ในใจคิดนะว่าถึงแม้ไม่ได้รางวัลชนะเลิศ อย่างน้อยก็ได้รางวัลชมเชย และไม่คาดหวังว่าจะได้รางวัลชนะเลิศ

 

คาดคิดไหมว่ามาถึงวันนี้ วันที่ผลงานได้รางวัลชนะเลิศ?

ศิริพงศ์ : ไม่คาดคิดว่าจะได้รางวัล ตอนที่ส่งไม่ได้ตั้งความหวังอะไร แค่อยากลองดูว่าสนามแบบนี้เป็นไงบ้างเค้ารับงานแบบไหน

 

 

ราหูอมจันทร์ ของ มูลนิธิกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ที่ได้รับการคัดเลือก ได้รับการตีพิมพ์หรือยัง?

ศิริพงศ์ : ได้รับการตีพิมพ์เรียบร้อยแล้ว ในนิตยสารราหูอมจันทร์ Vol.19 ธันวาคม 2560 – มีนาคม 2561 และจะประกาศผลรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562

 

 

ฝากถึงคนที่กำลังเดินเส้นทางนักเขียนหรือคนที่กำลังท้อแท้หรือล้มเลิกความตั้งใจ?

ศิริพงศ์ : ผมถือว่าผมเป็นหน้าใหม่ สำหรับนักเขียนเด็ก ป.1 ป.2 อยากให้น้องๆ หรือ เพื่อนๆ ที่มุ่งหวังเส้นทางนักเขียนเริ่มจากการอ่านหนังสือก่อน จะได้เรียนรู้วิธี ความคิดแนวทาง ในการเขียน จากนั้นค่อยลองเขียน พัฒนาไปเรื่อยๆ

 

มีนักเขียนในดวงใจไหม มีท่านใดที่เป็นแรงบันดาลใจ?

ศิริพงศ์ : ผมได้มีโอกาสอ่าน เรื่องสั้น “สะพานขาด” ของ “กนกพงศ์ สงสมพันธุ์” นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ. 2539 แล้วเกิดแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องสั้น

การสร้างงานวรรณกรรม กับ งานประจำจะแบ่งเวลาอย่างไร?

ศิริพงศ์ : นับตั้งแต่กลับมาทำงานประจำเมื่อปลายปี 2559 ก็ตั้งกฏเกณฑ์กับตัวเองไว้ว่า ต้องเขียนเรื่องให้ได้เดือนละเรื่อง แต่เอาเข้าจริงๆ อย่าว่าแต่เดือนละเรื่องเลย เพราะเรื่องเดียวก็ต้องใช้เวลาถึง 2-3 เดือนเลยทีเดียว ซึ่งด้วยเหตุที่ว่า งานประจำคืองานข่าว ที่คนทำข่าวเองจะรู้กันว่า ความเป็นนักข่าว มันไม่ใช่แค่วันละ 8-9 ชั่วโมง แต่มันคือทั้ง 24 ชั่วโมง นั่นหมายความว่า แทบจะอยู่กับข่าวตลอดเวลา ไม่ว่าอยู่ออฟฟิศ หรือกลับมาบ้านแล้วก็ตาม การแบ่งเวลาทำงานสองอย่างจึงต้องเข้มงวดกับตนเองว่า กลางวันเป็นนักข่าว กลางคืนเป็นนักเขียน ตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม เป็นเวลาของงานข่าว แต่หลัง 4 ทุ่มเลยไปอีกวัน นั่นคือ ตี 1-2 จะเป็นเวลาของงานเขียน

 

สำหรับรางวัลพานแว่นฟ้า เป็นรางวัลการประกวดผลงานเขียน วรรณกรรมการเมือง เพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงออกทางการเมืองและสืบสานวรรณกรรมการเมืองให้มีส่วนปลุกจิตสำนึกประชาธิปไตย จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในปีนี้ เป็นปีที่ 16 ของรางวัลพานแว่นฟ้า และเป็นการอำลารัฐสภา ก่อนที่จะย้ายไปยังที่ทำการแห่งใหม่

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะจัดพิธีมอบรางวัล ในวันพุธที่ 12 กันยายน 2561 เวลา 09.00 – 12.00 น.  ณ ห้องโถง อาคารรัฐสภา 1

 

ที่มา:INNNEWS

 


Comments

Share Tweet Line