สวทช. เพิ่มมูลค่า “กล้วย” ผสานธัญพืชจากชุมชนสู่ “กราโนล่าพาวเวอร์บาร์

สวทช. เพิ่มมูลค่า “กล้วย” ผสานธัญพืชจากชุมชนสู่ “กราโนล่าพาวเวอร์บาร์
“สร้างคน สร้างงาน และสร้างอาชีพ” จากจุดเริ่มต้นแนวคิดในการทำธุรกิจของห้างหุ้นส่วนจำกัดมองดอยน่าน 1 ใน 54 ธุรกิจจาก 50 จังหวัดทั่วประเทศที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน PRIMARY GMP สู่การพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนจาก “กล้วยอบกรอบ” ต่อยอดเป็น “กราโนล่าพาวเวอร์บาร์” ที่ให้พลังงานสูงตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพ 
 
นางสาวณัฐรดา แก้วชื่นชัย ที่ปรึกษาโครงการ สวทช. ภาคเหนือ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ไอแทป (ITAP: Innovation and Technology Assistance Program) ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายสำหรับผู้ประกอบการผลิตอาหารขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนสถานประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน PRIMARY GMP ที่ถือเป็นมาตรฐานการผลิตขั้นต้น ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศว่าด้วยเรื่องวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายเป็นหลัก โดยไอแทปจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ และ สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เหมาะสม
 
ห้างหุ้นส่วนจำกัดมองดอยน่าน เป็นสถานประกอบการที่ได้รับรองมาตรฐาน PRIMARY GMP ที่มีโจทย์ความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างชัดเจน และผู้ประกอบการเป็นคนในชุมชนที่มีแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมเรียนรู้และเปิดรับไอเดียใหม่ๆ โดยโครงการนี้ไอแทปได้ประสานงานเชิญนายวิญญู ศักดาทร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับ หจก.มองดอยน่าน และเริ่มต้นโครงการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
 
นายวิญญู ศักดาทร อาจารย์คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญโครงการไอแทป สวทช. กล่าวว่า มองดอยน่านเป็นผู้ผลิต “กล้วยอบกรอบ” ผลิตภัณฑ์สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีชื่อใน จ.น่าน ทั้งรูปแบบและภาพลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ที่มีความทันสมัย ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ไม่ยาก ซึ่งการปรับเปลี่ยนรูปแบบและเพิ่มคุณประโยชน์ให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยการนำเศษกล้วยอบกรอบที่เหลือมาผสมกับธัญพืชเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ “กราโนล่าแบบแท่ง” เป็นขนมขนเคี้ยวที่พกพาสะดวก สามารถนำไปผสมนมทานเป็นอาหารเช้าได้ที่อุดมไปด้วยประโยชน์จากธัญพืชและให้พลังงานจากกล้วย น้ำผึ้งและข้าวโอ๊ตเป็นหลัก ซึ่งจะสามารถขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนที่รักสุขภาพได้อีกช่องทางหนึ่ง
 
“กล้วยอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่สำคัญและจำเป็นต่อร่างกาย เช่น ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามินเอ บี6 บี12 และวิตามินซี ช่วยเพิ่มพลังให้กับสมอง เพราะมีสารที่ช่วยทำให้เกิดสมาธิและมีการตื่นตัวตลอดเวลา ส่วนธัญพืชมีประโยชน์ที่อุดมด้วยวิตามินอี วิตามินบีรวม แร่ธาตุต่างๆ และใยอาหาร มีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งปกป้องการเสื่อมสภาพของเซลล์ เสริมสร้างระบบประสาทและเซลล์เม็ดเลือดแดงให้แข็งแรงสมบูรณ์ จึงเป็นอาหารทานเล่นที่เหมาะกับผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นไปจนถึงวัยกลางคน รวมถึงกลุ่มที่เน้นอาหารเพื่อสุขภาพเป็นหลักด้วย”
 
 
นางพิมพ์วิมล มาอินทร์ กรรมการผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดมองดอยน่าน กล่าวว่า มองดอยน่านเป็นผู้ผลิตกล้วยทอดบรรจุถุงแบบปรุงรสและไม่ปรุงรส มีขั้นตอนการคัดผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี รูปลักษณ์สวยงามและสมบูรณ์ เพื่อจัดจำหน่าย จึงทำให้มีเศษกล้วยทอดที่แตกหักในกระบวนการผลิตจำนวนมากที่ไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้ จึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะนำเศษกล้วยที่ถูกคัดออกนี้มาแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความทันสมัยและมีคุณประโยชน์ผู้บริโภค นอกเหนือจากกล้วย น้ำผึ้งและข้าวโอ๊ตที่เป็นส่วนประกอบหลักของกราโนล่าพาวเวอร์บาร์แล้ว ยังได้นำธัญพืชที่หาได้จากท้องถิ่นอีก 5 ชนิด มาเป็นส่วนประกอบสำคัญด้วย อาทิ งาขี้ม้อน งาดำ ฟักทอง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และถั่วลิสง คาดว่าจะสามารถผลิตและวางจำหน่ายได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ 
 
เนื่องจากมองดอยน่านเป็นธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก มีกำลังการผลิตสูงสุด 50-100 กิโลกรัมต่อวัน และเฉลี่ยสูงสุดประมาณ 1,000 กิโลกรัมต่อเดือน มีพนักงานที่เป็นคนในพื้นที่และดูแลเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน จนทุกวันนี้ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจที่ธุรกิจของเราเติบโตขึ้นจนเป็นที่ยอมรับของชุมชนและได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สถานประกอบการแม่ข่ายของ อ.ย ปี 2017 และปี 2018  ผลิตภัณฑ์ต้นแบบของอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน และที่สำคัญธุรกิจยังช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วย 
“เริ่มต้นแนวคิดที่ต้องการ “สร้างคน สร้างงาน และสร้างอาชีพ” จากเดิมที่ขายกล้วยอบกรอบถุงละ 10 บาท ทำให้คนในชุมชนมีงานทำ มีรายได้จากการปลูกและขายกล้วย ผู้สูงอายุในชุมชนก็มีรายได้จากการแกะกล้วย โดยไม่ต้องรอเงินจากลูกหลานที่ส่งมาให้ หรือแรงงานวัยกลางคนที่ไม่อยากทิ้งครอบครัวไปทำงานต่างถิ่นก็มาทำงานกับเรา รวมถึงนักเรียนจากโรงเรียนบริเวณใกล้เคียงก็หารายได้เสริมจากการนำกล้วยไปขาย มีเงินค่าขนม ลดภาระของพ่อแม่ ก็ทำให้มีกำลังใจในการทำงานและต้องการต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปเรื่อยๆ”


REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line