สสว. จัดงานเสวนา “SME ฟิฟตี้พลัส ในยุคที่มากกว่าการออมเงิน”

สสว. จัดงานเสวนา “SME ฟิฟตี้พลัส ในยุคที่มากกว่าการออมเงิน”

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เดินหน้าการส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจ SME ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงยุค 4.0 จัดงานเสวนา “SME ฟิฟตี้พลัส ในยุคที่มากกว่าการออมเงิน” ที่โรงแรมอโนมา ราชดำริ เพื่ออบรมเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ และนักธุรกิจหน้าใหม่หรือกลุ่มสตาร์ตอัพ วัย 40 ปี ขึ้นไป หวังจุดประกายไอเดียแก่กลุ่มคนเตรียมเกษียณ สร้างความรู้ความเข้าใจพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเงิน ที่บางครั้งเงินออมสะสมก็ไม่เพียงพออีกต่อไป


นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) กล่าวว่า “งานเสวนาครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อม ที่จะนำไปสู่การยกระดับผู้ประกอบการให้เป็น SME พันธุ์ใหม่ ตามแผนดำเนินการในปี 2562 ที่มุ่งเน้นการยกระดับ สร้างศักยภาพและจุดเด่นของคนทำธุรกิจ ให้มีการทำงานเชิงรุก มีประสิทธิภาพ และปรับกระบวนการทำงานสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่ทางสสว.วางแผนไว้รองรับสังคมผู้สูงอายุ พร้อมต้องการให้มีความมั่นคงภายหลังเกษียณ เรียนรู้กลไกทำธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

โดยภายในงาน ได้เชิญ นายวีระ เจียรนัยพานิชย์ รองผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายบริหารการตลาดลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นกูรูด้าน SME มาร่วมแชร์ประสบการณ์ ชวนคิดจุดประกายไอเดีย แก่ผู้สนใจทำธุรกิจในช่วงวัยใกล้เกษียณ ว่ายังมีอะไรท้าทายให้ทำ และสานต่อได้ โดยการสัมนาครั้งนี้ยังมีการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อช่วยประเมินความพร้อมของผู้ประกอบการในการเริ่มต้นทำธุรกิจ พร้อมมองเทรนด์การทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน 5 ประการ 1.ทำนาดูดินฟ้า ทำการค้าดูนโยบายรัฐ ซึ่งผู้ประกอบการควรศึกษาให้เข้าใจเรื่องการลงทุน การสนับสนุนจากรัฐบาลยุค 4.0  2.การท่องเที่ยวแบบ อัตลักษณ์ไทย ขายจุดเด่นความเป็นท้องถิ่น 3.ความเป็นคนเมืองต่างจังหวัด ความสะดวกสบายแบบคนเมืองด้วยต้นทุนท้องถิ่น 4. ซิลเวอร์เอจ (Silver Age) แม้สูงวัยก็ทำธุรกิจได้ และสุดท้าย 5.ธุรกิจแบ่งปัน social enterprise ไม่มุ่งหวังที่รายได้อย่างเดียวแต่ทำให้สังคมเติบโต เกื้อหนุนไปพร้อมๆกัน

นอกจากนี้ “เจ้จง” นางจงใจ กิจแสวง เจ้าของธุรกิจหมูทอดเงินล้าน ยังร่วมเล่าถึงประสบการณ์การทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ จากแห่งแรกพระราม 4 ขยายร้านสาขาได้ถึง 10 สาขา จากเดิมที่เคยเป็นแม่ค้าร้านขายของชำ หนี้สินล้นตัว ก่อนจะผันตัวมาเป็นแม่ค้าร้านข้าวแกงเงินล้านที่ยึดคอนเซ็ปต์ขายถูกแต่มีคุณภาพ ขณะที่เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายฐานลูกค้า สร้างคอนเนคชั่น และสร้างออเดอร์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากขายหน้าร้านเพียงอย่างเดียว

“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของภาคเอสเอ็มอีในไทย โดยเฉพาะโครงการที่ สสว. รับผิดชอบอย่างโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ตลอดปี 2559-2561 มีการปรับการอบรมให้เข้มข้นในทุกๆปี ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงทางบริบทของประเทศและทั่วโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่นในปีนี้ สสว.ได้เน้นการอบรมที่เกี่ยวกับด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกจับตา เพราะหากไม่รีบพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้ให้กับผู้ประกอบการ ฐานรากอย่างเอสเอ็มอีไทยจะตายลง ไม่มีฐานที่มั่นทางธุรกิจของประเทศ เมื่อพัฒนามาถูกทาง ประเทศก็จะเดินหน้าได้ถูกต้อง แข่งขันระดับนานาชาติได้ ซึ่งนี่คือก้าวแรกของความสำเร็จที่รัฐบาลเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบปรับปรุง โดย สสว.ได้ทำหน้าที่นี้อย่างตั้งใจและไม่ใช่แค่เรา แต่มาจากทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกัน” นายสุวรรณชัยกล่าว

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line