ศิลปะเพื่อส่งเสริมอาชีพชาวพิปูน และการอนุรักษ์ปลาหมูแกะแห่งต้นน้ำตาปี

ศิลปะเพื่อส่งเสริมอาชีพชาวพิปูน  และการอนุรักษ์ปลาหมูแกะแห่งต้นน้ำตาปี

อำเภอพิปูน ซึ่งนับเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรมากเป็นอันดับต้นๆ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ในขณะเดียวกันประชากรกลับมีรายได้ต่ำ(รั้งท้ายของจังหวัด) มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช จึงเลือกพื้นที่อำเภอพิปูน เป็นเป้าหมายในการใช้งานวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนาและแก้ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ในพื้นที่ให้ดีขึ้น รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจ และการสร้างสังคมเข้มแข็ง ซึ่งวางกรอบการวิจัยออกเป็น 2 ประเด็นหลัก บนฐานศักยภาพและความพร้อมของพื้นที่ คือการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว  และการพัฒนาอาชีพ  ผ่านโครงการวิจัยเชิงพื้นที่มากถึง 10 งานวิจัย หนึ่งในนั้นคือ โครงการพัฒนาระบบการสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อสร้างตราสัญลักษณ์และการออกแบบบรรจุภัณฑ์แบบมีส่วนร่วมของชุมชน


กรณีศึกษาวิสาหกิจชุมชนต้นน้ำตาปี แฮนด์เมด จังหวัดนครศรีธรรมราช บนกรอบการพัฒนาอาชีพ เป็นการสร้างองค์ความรู้ทางศิลปะโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบตราสัญลักษณ์และบรรจุภัณฑ์ให้กับวิสาหกิจชุมชนต้นน้ำตาปี  แฮนด์เมดซึ่งเกิดผลงานศิลปะของชุมชนแบบมีส่วนร่วม เกิดชุด “สมุดศิลปะชุมชน” จำนวนมากกว่า 60 ชิ้น  ภายใต้แนวความคิด “พิปูนบ้านฉัน ยางค้อมบ้านเรา” มีทั้งผลงานวาดเส้น ผลงานจิตรกรรม ผลงานสื่อผสม ผลงานศิลปะแบบจัดวาง 4 ชุด

ผศ.แฉล้ม สถาพร และ อ.ภาสกร ทองขุนดำ ทีมวิจัยโครงการฯ เปิดเผยว่า ต้องการนำความรู้ด้านศิลปะไปพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นน้ำตาปี ซึ่งทำเรื่องผ้ามัดย้อมให้มีทักษะในด้านศิลปะมากขึ้น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมกับย้อนเล่าเบื้องหลังงานวิจัยให้ฟังว่า จากการที่ลงพื้นที่สำรวจความต้องการและปัญหาของชุมชน เราเห็นความต้องการของชุมชนในเรื่องของความต้องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงพวกโลโก้  และยังไม่มีการรวมกลุ่ม ทีมอาจารย์นักวิจัยจึงกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไร ในฐานะอาจารย์ศิลปะ จนได้ข้อสรุปว่า ต้องการนำความรู้ทางวิชาการด้านศิลปะและการออกแบบ ซึ่งเป็นศาสตร์เดียวกับที่สอนในมหาวิทยาลัยไปให้ชาวบ้าน

ผลที่เกิดขึ้น ตอนแรกเราแอบคิดเหมือนกันว่างานศิลปะมันห่างจากคน คนมักเข้าใจยาก ต่างจากศิลปิน ที่ผลิตงานที่ทำงานแสดงงานและภาคภูมิใจในงานของตัวเอง พวกเราคุยกันหนักว่าจะทำอย่างไรให้ศิลปะเข้าไปถึงทุกคนในชุมชนได้ แต่สุดท้ายมันกลายเป็นความประทับใจ อย่างที่เราคาดไม่ถึง  เพราะจากที่เราทำกับกลุ่มวิสาหกิจมันกลับขยายออกไปยังกลุ่มเครือญาติ พี่น้อง คนในครอบครัวก็มาร่วมกันช่วยกันผลิตงานศิลปะ

น.ส.กมลวัทน์  ดั่งหั่งชิ้น หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นน้ำตาปี   กล่าวว่า ชาวบ้านต้องการพัฒนาฝีมือตัวเองอยู่แล้วเพราะอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ พออาจารย์เข้ามาก็ดีใจและตั้งใจกันมาก เมื่อก่อนตนเองผลิตสินค้าในนามส่วนตัวผ่านหน้าร้าน แต่พออาจารย์เข้ามาซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่ตนเองต้องการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเอง อยากทำผ้ามัดย้อม พยายามหาความรู้ในอินเตอร์เน็ตแต่ก็ยังไม่ถ่องแท้กระทั่งทีมนักวิจัยมรภ.นครศรีธรรมราชเข้ามาก็ได้รับคำปรึกษาและแนะนำให้ตั้งเป็นกลุ่ม มีการรวบรวมเอาชาวบ้านมาเป็นสมาชิก ปัจุบันมีสมาชิกตั้งต้น 9 คนและมีผู้ถือหุ้นในชุมชนอีกจำนวนมาก

“ตอนแรกพวกเราก็วาดภาพอะไรไปเรื่อยเปื่อย ต่อมาอาจารย์ก็ลองให้เราคิดเอาเรื่องใกล้ตัวมาเป็นแรงบันดาลใจ ก็มีคนวาดพวกดอกไม้และปลา เราก็เกิดความคิดเรื่องการอนุรักษ์ ก็คิดว่า ปลาหมูแกะหรือ ภาษาทางการเรียกว่าปลาหมูแกะข้างลาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแม่น้ำตาปีมาตั้งแต่เรายังไม่เกิด แม่น้ำที่สะอาดมลภาวะไม่มี และเป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำบ้านเรา พี่เอาภาพที่ชาวบ้านวาดปลาออกมาทำเป็นพวงกุญแจและหมอน เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มเราและยังช่วยสื่อสารเรื่องการอนุรักษ์ไปในตัว เพราะปัจจุบันปลาหมูแกะมีน้อยลงมาก เพราะคนนิยมรับประทานมันในช่วงที่มันวางไข่”

ด้านสยาม รัตนบุษยาพร พัฒนากรอำเภอพิปูน กล่าวว่า การที่มรภ.นครศรีธรรมราช ลงมาทำงานวิจัยเชิงพื้นที่กับชาวบ้านครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ และผมมองว่าเป็นสิ่งที่มันอาจจะช้าไปด้วยซ้ำ งานวิจัยชุมชนกับการพัฒนาประเทศไทย มันน่าจะควบคู่กันมาตั้งนานแล้ว การที่เขาเป็นผู้ผลิตผู้ประกอบการในชุมชน เมื่อได้เรียนรู้วิชาการในการที่จะทำให้เขาได้พัฒนาตัวของเขาเอง พัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาพื้นที่ ก็ทำให้เขาสามารถหลุดออกมาเห็นโลกกว้าง แล้วเขาก็พบว่ามีสิ่งที่เขายังไม่เจอ ยังไม่รู้อีกมาก จากการจุดประกายให้เขามาทำวิจัยร่วมนี้ มีประโยชน์อย่างมาก

Comments

Share Tweet Line