สวทช.พัฒนาอุปกรณ์ทำงานร่วมหุ่นฝึกช่วยชีวิตผลิตจากยางพารา

สวทช.พัฒนาอุปกรณ์ทำงานร่วมหุ่นฝึกช่วยชีวิตผลิตจากยางพารา
นักวิจัยเอ็มเทค สวทช. เจ๋ง ออกแบบอุปกรณ์ที่ทำงานร่วมกับหุ่นฝึกช่วยชีวิตผลิตจากยางพารา โชว์ “สมรรถนะของผู้ฝึก” ผ่านจอแสดงผลขณะฝึก ช่วยผู้ฝึกเห็นข้อมูลได้ทันที พร้อมออกแบบ “อุปกรณ์ช่วยฝึกการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ” เพื่อช่วยฝึกการใช้งานเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศ 
 
ดร. ทิพย์จักร ณ ลำปาง หัวหน้าห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีน้ำยาง หน่วยวิจัยยาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา และคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พัฒนาอุปกรณ์ที่ทำงานร่วมกับหุ่นฝึกช่วยชีวิตผลิตจากยางพาราที่มีฟังก์ชันอุปกรณ์แสดงข้อมูลขณะฝึก รวมทั้งพัฒนาเครื่องฝึกการใช้งานเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าแบบสาธิต (เออีดี:AED Training) ผลงานนี้ได้จัดแสดงในงาน ASEAN Federation of Cardiology Congress (AFCC 2018) เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องมาตรฐานการช่วยชีวิตให้แก่ผู้ป่วยและญาติ รวมถึงประชาชนทั่วไป เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริง 
 
ดร. ทิพย์จักร กล่าวว่า เนื่องจากการช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นให้มีการหายใจกลับคืนสู่สภาพเดิมได้นั้น วิธีการคือ การผายปอดและการนวดหัวใจ แต่หากทำการนวดหัวใจโดยไม่มีความรู้และไม่ได้ผ่านการฝึกฝนก็จะทำให้การช่วยชีวิตไม่ได้ผล หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือได้ ดังนั้นเพื่อส่งเสริมการสอนการช่วยชีวิตที่ได้มาตรฐาน เอ็มเทค สวทช. เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา จึงได้ร่วมมือกับ คณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต พัฒนาหุ่นจำลองสำหรับการฝึกช่วยฟื้นคืนชีพที่ทำจากยางพารา หุ่นจำลองมีสัมผัสนุ่มคล้ายร่างกายมนุษย์ มีราคาถูกกว่าหุ่นที่นำเข้าจากต่างประเทศราว 3-7 เท่า อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ
 
“เอ็มเทค สวทช. เป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา ยังได้พัฒนาชุดอุปกรณ์ตรวจจับระยะที่ถูกต้องแม่นยำ และแสดงข้อมูลระยะลึกของการกดขณะฝึกนวดหัวใจสำหรับใช้งานร่วมกับหุ่นฝึกช่วยชีวิตผลิตจากยางพารา พร้อมทั้งจอแสดงข้อมูลสรุปหลังจากการฝึกในแต่ละครั้งด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการฝึกช่วยฟื้นคืนชีพ โดยผู้ฝึกสามารถรับทราบข้อมูลที่สำคัญต่างๆ เช่น ความลึกและอัตราเร็วในการนวดหัวใจ ทำให้สามารถตอบสนองและปรับปรุงการนวดหัวใจในระหว่างการฝึกได้ ชุดอุปกรณ์ดังกล่าวได้รับคำแนะนำการใช้งานให้เหมาะสมกับการฝึกสอนจริงจากคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต” 
 
 
ดร. ทิพย์จักร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เอ็มเทค สวทช. ยังได้พัฒนาเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติแบบสาธิต (AED) พร้อมด้วยแผ่นอิเล็กโทรดที่ใช้สำหรับสาธิตที่มีราคาย่อมเยา เพื่อทดแทนการนำเข้าเครื่องจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงกว่า 2-5 เท่า โดยได้รับการแนะนำขั้นตอนการใช้งาน (AED Training) จากคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต เพื่อใช้ในการฝึกอบรมจริงในหลักสูตรการช่วยชีวิต โดยเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติแบบสาธิตเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาที่สามารถใช้ช่วยฝึกสอนการใช้งานเครื่อง AED ของจริงที่มีหน้าที่วิเคราะห์จังหวะการเต้นของหัวใจและสามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวอย่างเป็นจังหวะ หรือช็อกกล้ามเนื้อหัวใจที่สั่นพลิ้วให้หยุดสั่นแล้วกลับมาทำงานปกติอีกครั้ง ซึ่งอุปกรณ์นี้อยู่ระหว่างขอจดสิทธิบัตรและขึ้นบัญชีนวัตกรรม
 
ทั้งนี้ความร่วมมือระหว่าง เอ็มเทค สวทช. เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา และคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต ถือเป็นประโยชน์ต่อการต่อยอดงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาออกแบบโครงสร้างเชิงวิศวกรรมและนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการฝึกอบรมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้จักและเข้าถึงการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนเกิดความเข้าใจวิธีการที่ถูกต้องในการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ในภาวะวิกฤติได้เป็นอย่างดี 


REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line