ท่องเที่ยววิถีชาวนา เมื่อในนาไม่ได้มีแค่ต้นข้าว

ท่องเที่ยววิถีชาวนา เมื่อในนาไม่ได้มีแค่ต้นข้าว

ปัจจุบันเกษตรกรไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตที่รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูมิอากาศ ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ระบบการค้าข้าวที่ผูกขาดและผันแปร นอกจากนี้ ทัศนคติและค่านิยมทางสังคมที่มองงานของเกษตรกรว่าเป็นงานหนัก ต้องใช้แรงงานตรากตรำ ไม่มีความก้าวหน้าหรือเจริญขึ้นในแง่อาชีพการงาน ก็มีส่วนทำให้เกษตรกรมีมุมมองด้านลบต่องานนี้และไม่ส่งเสริมให้ลูกหลานทำอาชีพเกษตรกรรม  ทั้งๆ ที่รากฐานวัฒนธรรมของไทยส่วนใหญ่ อาทิ ขนบประเพณี ดนตรี ศิลปะ และวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรม เช่น ภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น หัตถกรรม นิทาน ดนตรี เพลงร้อง ฯลฯ ล้วนพัฒนามาจากวิถีชีวิตและสังคมเกษตรกรรม


“การท่องเที่ยว”  อีกหนึ่งความหวังของชาวนา

จากนโยบาย “การท่องเที่ยววิถีไทย” พบว่า แนวคิดการส่งเสริมให้มีการนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านการเปิดประสบการณ์และการสร้างการเรียนรู้ให้กับนักท่องเที่ยวได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง การท่องเที่ยววิถีชาวนาไทย เป็นรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community based Tourism: CBT)  ที่นำเสนออัตลักษณ์วิถีชาวนาท้องถิ่นไทย ช่วยรักษาฐานทรัพยากรให้คงอยู่ รวมถึงการสืบสานภูมิปัญญา วัฒนธรรมข้าว ประเพณี อาหาร และวิถีชีวิตคนไทยที่สัมพันธ์กับข้าว เน้นการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยกลุ่มชาวนาและคนในชุมชนท้องถิ่น ช่วยสนับสนุนการพัฒนาคน พัฒนาทักษะและเพิ่มเติมความรู้ใหม่ให้กับสมาชิกในชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและเป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งทางสังคมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมร่วมกัน ขณะเดียวกันยังทำให้ประชาชนไทยและต่างชาติได้เรียนรู้และเห็นคุณค่าของชาวนาไทย เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักท่องเที่ยวกับชาวบ้าน หรือระหว่างผู้บริโภคข้าวกับผู้ปลูกข้าว การท่องเที่ยววิถีชาวนาไทยจึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และกระตุ้นเศรษฐกิจของชาวนา เป็นทางเลือกในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตราคาข้าวตกต่ำและประสบปัญหาภัยแล้ง

การท่องเที่ยววิถีวิถีชาวนา จึงเป็นโอกาสและความหวังหนึ่งในการปรับตัวของเกษตรกรในชนบทไทยให้พออยู่ได้ มีรายได้ อีกทั้งยังจะช่วยให้มีการรักษาวิถีวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการให้ความสำคัญกับเกษตรไม่ใช่ในฐานะผู้ผลิตข้าวหรือพืชอาหารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผู้ดูแลผืนนา ผืนไร่ ที่ดิน พืชพันธุ์ไม้ ปศุสัตว์ และเป็นผู้สืบสานวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของไร่นา  อันจะเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรรมให้คงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม  รวมทั้งเป็นการสร้างแหล่งพักผ่อนและเรียนรู้ให้กับบุคคลภายนอก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวอีกด้วย การท่องเที่ยวในลักษณะนี้เป็น “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” คือเน้นปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การร่วมกิจกรรมระหว่างนักท่องเที่ยวและเจ้าบ้าน/ชาวบ้านในชุมชนเพื่อการสร้างความเข้าใจทางวัฒนธรรม  และการสร้างโอกาสพัฒนาศักยภาพในการสร้างสรรค์ของทั้งนักท่องเที่ยวและชาวบ้านในชุมชน

ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาด้วยการท่องเที่ยว

จากโจทย์ดังกล่าว ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นจึงเล็งเห็นเครื่องมือ “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” ที่จะสามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณค่าและมูลค่าของเกษตรกรไทย ด้วยกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ในการสนับสนุนให้คนท้องถิ่นทำวิจัยด้วยตนเอง จึงสนับสนุนชุดโครงการวิจัย “การท่องเที่ยววิถีชาวนาไทย” โดยมุ่งสร้างความเข้มแข็งของคนท้องถิ่น และใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นในทุกมิติทั้งด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ

ดังนั้น โครงการ “การท่องเที่ยววิถีชาวนา” จึงมุ่งเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชาวนาไทยที่ดำเนินการโดยชุมชนชาวนาให้เป็นแหล่งรายได้เสริม สร้างงานและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยเกษตรกรและคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวบนฐานคิดที่ว่าชาวบ้านทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากรและวิถีชีวิตของชุมชน ขณะเดียวกันก็เป็นการเชื่อมโยงให้กลุ่มนักท่องเที่ยว คนในเมือง เข้ามาเรียนรู้ มาเข้าใจวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวนาไทย อีกทั้งยังโยงเศรษฐกิจชาวนากับตลาดประชารัฐในระดับชุมชน อันเป็นการสร้างศักยภาพของคนในชุมชนผ่านการเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการการท่องเที่ยววิถีชาวนาไทย

โดยเป้าหมายของโครงการคือ เกิดแหล่งท่องเที่ยววิถีชาวนาไทย  ที่เป็นต้นแบบใน 4 ภูมิภาค คือ 1. พื้นที่คลองโยง จ.นครปฐม 2. พื้นที่ควนขนุน จ.พัทลุง 3. กู่กาสิงห์ จ.ร้อยเอ็ด 4.ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จังหวัดหนองคาย : ข้าวหอมอินทรีย์ 5. ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จังหวัดมุกดาหาร : ศูนย์เรียนรู้เกษตร 6. ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จังหวัดสกลนคร : การแปรรูปผลผลิต 7. บ้านผาหมอน จ.เชียงใหม่ 8. บ้านบางขลัง จ.สุโขทัย 9. สวรรคโลก จ.สุโขทัย และ10. บ้านทวน เขื่องใน จ.อุบลราชธานี และปี 2562 ขยายผลไปอีก 21 ชุมชน ซึ่งพื้นทีที่เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชาวนาประกอบด้วย

ศูนย์เรียนรู้มีชีวิต  ประกอบด้วยแปลงนา แปลงสาธิต  วิถีการทำนาตลอดทุกขั้นตอน พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งวิถีชาวนาไทย  (Museum Farm) ตามวิถีของภูมิภาคนั้น ๆ  ตลาดประชารัฐเพื่อชุมชน   และร้านค้าชุมชน  จำหน่ายสินค้าของฝาก และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไร่นาอินทรีย์ของชุมชนและเครือข่ายจากต่างพื้นที่ รวมทั้งจะเกิด ศูนย์บริการการท่องเที่ยว ที่เป็น one-stop services  เพื่อให้ข้อมูลและให้บริการแก่นักท่องเที่ยว และต้องมีพื้นที่อำนวยความสะดวกอื่นๆ  เช่น  ที่จอดรถ  ร้านอาหาร ห้องสุขา ที่ทิ้งขยะ

ทั้งนี้หลังจบโครงการ มีการคาดการณ์ว่า ชาวบ้านจะมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยววิถีชาวนา ประมาณ  520,000 - 700,000 บาทต่อปี หากมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 20 ครัวเรือน  จะมีรายได้เสริมครัวเรือนละ 26,000 - 35,000 บาทต่อปี   การคาดการต่อมาคือเกิดการกระตุ้นให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและตลาดประชารัฐ โดยการนำเอาทรัพยากร ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ สร้างคุณค่า และสร้างมูลค่าได้อย่างเหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดรายได้กับคนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง

ดร.บัญชร แก้วส่อง ที่ปรึกษาฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และผู้ผลักดันให้เกิดโครงการท่องเที่ยววิถีชาวนา กล่าวว่า โครงการท่องเที่ยววิถีชาวนาเฟสแรก 10 พื้นที่ได้สร้างรากฐานที่สำคัญ 3 ประการให้กับสังคมไทย คือ 1. สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ชุมชน 2. สร้างสังคมฐานรากที่อยู่บนพื้นฐานของความรักใคร่ เกื้อกูล แบ่งปัน และ 3. สร้างประชาธิปไตยฐานราก ที่ชาวบ้านมีปากมีเสียงในการตัดสินใจเลือกอนาคตของตนเอง

“โครงการนี้เป็นวิจัยไทยบ้านที่มีกระบวนการให้ชาวบ้านได้ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ อันนำไปสู่สังคมฐานรากของชาวบ้าน สู่เศรษฐกิจฐานรากของชาวบ้าน แล้วก็นำไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่สามารถตัดสินใจได้ด้วยกลุ่มของตัวเอง โดยวัฒนธรรมตัวเอง วิธีการของตัวเอง ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก”

อย่างไรก็ดี  ผลเชิงบวกจะเกิดขึ้นได้หากมีการเตรียมการที่ดี  มีการสร้างเป้าหมายร่วมกันของคนในชุมชนและท้องถิ่น  มีการเตรียมระบบการทำงานอย่างมีส่วนร่วม  เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในชุมชน  และมีการทำความเข้าใจร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุนว่า กระบวนการพัฒนาควรดำเนินการอย่างเหมาะสมกับบริบทและศักยภาพของกลุ่ม

Comments

Share Tweet Line