เปิดเสวนา“ Master Plan สุวรรณภูมิ...เรื่องสำคัญของชาติ”

เปิดเสวนา“ Master Plan สุวรรณภูมิ...เรื่องสำคัญของชาติ”

ในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561 เมื่อเร็วๆ นี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จัดเสวนาประเด็นร้อน “Master Plan สนามบินสุวรรณภูมิ...เรื่องสำคัญของชาติ” ที่อิมแพ็ค โฟรั่ม เมืองทองธานี นำโดย ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการ กทม. อดีตที่ปรึกษาสนามบินนานาชาติ ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมจราจรขนส่งและการบิน และ รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ชี้ประเทศไทยไม่ควรย่ามใจว่า ที่ตั้งยุทธศาสตร์ดี ใคร ๆ ก็จะมาลงทุนมาเที่ยว หากสนามบินด้อยมาตรฐานและศักยภาพ บริการขาดคุณภาพ ไม่สามารถแข่งขันกับสนามบินอื่นได้  เครื่องบินไม่มาจะเกิดผลกระทบใหญ่ ชี้ประเด็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจทำลายอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการจะก้าวเป็นศูนย์การบินระดับนานาชาติ เตรียมดึงอีกกลุ่มวิชาชีพเศรษฐศาสตร์เข้ามาร่วมผลักดันเรื่องคุณภาพ Master Plan สุวรรณภูมิ ซึ่งสำคัญต่อประเทศให้ถึงที่สุดเพื่อประโยชน์ของชาติ


ดร.ทศพร ศรีเอี่ยม (Tossaporn Sreeiam)ประธานจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ’61 กล่าวเปิดเสวนาครั้งนี้ว่าเป็นการต่อเนื่องจากเวทีสาธารณะที่สมาคมสถาปนิกสยามจัดเมื่อ16 ตค.61 ซึ่งมี 12 องค์วิชาชีพและลงมติเอกฉันท์คัดค้านการย้ายตำแหน่งอาคารผู้โดยสาร หรือ เทอร์มินัลหลังที่ 2 (ใหม่) ผิดไปจากแผนแม่บทเดิม วัตถุประสงค์เพื่อระดมข้อคิดเห็นทางวิชาการและประสบการณ์เพื่อการวิเคราะห์แผนแม่บทสุวรรณภูมิและผลกระทบจากอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (ใหม่) จึงเป็นหน้าที่ของเหล่าสถาปนิก วิศวกร และประชาชน ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อปกป้องประโยชน์บ้านเมืองและอนาคตของประเทศ

ในการเสวนา ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ (Samart Ratchapolsitte) ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมจราจรขนส่งและการบิน และวิศวกรผู้ร่วมวางแผนแม่บทสุวรรณภูมิ  กล่าววิเคราะห์ถึงผลกระทบของการย้ายตำแหน่งอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (ใหม่) ที่ทาง ทอท.จ่อลงนามสัญญาจ้างออกแบบ ซึ่งหวั่นว่าสูญเงินงบประมาณค่าแบบ 330 ล้านบาท อีกทั้งขาดรายละเอียด ให้เวลาในการออกแบบและระยะเวลาในการก่อสร้างมีไม่เพียงพอในการสร้างสนามบินนานาชาติที่ต้องมีมาตรฐานศักยภาพและมีการแข่งขันสูงในการที่จะพัฒนาคุณภาพบริการสร้างความพึงพอใจต่อสายการบิน นักเดินทางและนักท่องเที่ยวที่มาจากทั่วโลก เมื่อวิเคราะห์ตำแหน่ง อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (ใหม่) ที่มาตั้งผิดจุดจากผังแม่บทเดิมจะสร้างปัญหาในทุกด้าน ความแออัดของทางถนน ทั้งทางอากาศและทางบก ทางสัญจรในสนามบิน ต่อเวียนรถยาวกว่า 4 กิโลเมตร ทางเดินรถ APM ต้องต่อรถ 3 ต่อ ผู้มาใช้บริการไม่สะดวกและต้องมาเสียเวลาในสนามบินยาวนานเกินไป อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (ใหม่) ไม่สามารถรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนตามทอท.อ้าง หากสร้างขยายเทอร์มินัล 1 ทั้งสองปีกด้านข้างตามแผนแม่บทเดิมที่วางไว้ ซึ่งจะใช้งบถูกกว่าหลายเท่าตัว กล่าวคือ ปริมาณหลุมจอดไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ไม่ตอบโจทย์ในการก่อสร้าง เทอร์มินัล 2 (ใหม่) ที่ต้องการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่มากขึ้น จึงขอแนะนำให้ลงทุนขยายเทอร์มินัล 1 ตามแผนแม่บทสุวรรณภูมิทั้งสองปีกจะตรงจุดและคุ้มค่ามากกว่า เพราะหากขยายเทอร์มินัล 1 ปีกสองข้างและอาคารแซทเทิลไลท์ 1 แล้วเสร็จ จะมีหลุมจอดเพิ่มขึ้น 28 หลุม การออกแบบก็เรียบร้อยแล้ว และ EIA ก็ผ่านแล้ว เมื่อเทียบกับ เทอร์มินัล 2 (ใหม่) ยังไม่ได้ออกแบบและ ครม. ยังไม่อนุมัติ รวมไปถึงค่าก่อสร้างที่สูงกว่ามาก ถึง 42,000 ล้านบาท ในขณะที่ หากขยายเทอร์มินัล 1 ทั้งสองปีก ค่าก่อสร้างเพียง 10,000 ล้านบาท ซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน และระยะการก่อสร้างก็เร็วกว่าการสร้างเทอร์มินัลแห่งใหม่

นอกจากนี้ พบว่า เทอร์มินัล 2 (ใหม่)  สนามบินสุวรรณภูมิ อยู่ในตำแหน่งที่ตั้งไม่เหมาะสม ไม่สะดวกต่อการใช้งาน เนื่องจากระยะทางที่ไกล ระหว่างเทอร์มินัล 1 และเทอร์มินัล 2 รวมไปถึงการออกจากเทอร์มินัล 2 ไปยังพื้นที่ต่างๆ ในสนามบิน ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิด หาก ทอท. สร้างเทอร์มินัล 2 ในพื้นที่เดิมทิศใต้ด้านถนนบางนา-ตราด ตามแผนแม่บทเดิมที่กำหนดไว้ ซึ่งมีดุลยภาพและการระบายไหลเวียนทั้งทางบกและทางอากาศดีกว่าและปลอดภัยกว่า

การอ้างว่า ICAO เห็นชอบการสร้างเทอร์มินัล 2 (ใหม่) นั้น ในเอกสารตัวหนังสือระบุไว้เป็นเพียงทางเดินเชื่อมสำหรับในประเทศ (Concourse A Annex) ไม่ใช่เทอร์มินัล แต่อย่างใด และขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในบริบทที่เป็น Single Airport แต่ปัจจุบันนโยบายรัฐบาลกำหนดแผนการใช้ 3 สนามบิน จึงต้องนำมาประกอบในการพิจารณา

รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค (Tortrakul Yomnak) กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการสร้างเทอร์มินัล 2(ใหม่) ทอท.ทำกันเงียบๆ โดยอ้างว่ายังไม่ได้เสนอครม.การผนึกกำลังของประชาชนและวิชาชีพสถาปนิก-วิศวกรครั้งนี้เป็นนิมิตหมายอันดีของความมุ่งมั่นรักษาประโยชน์ของประเทศชาติ  เริ่มแรกที่เห็นรอยสิว จากการออกแบบที่เห็นภายนอกแต่เมื่อมองลึกเข้าไปเป็นหนองไหลออกมา ภายใต้มีลักษณะก้อนมะเร็งซ่อนไว้ คลี่ไปถึงแผนแม่บทที่มีการดำเนินการไม่ชอบมาพากล สรุป 4 ประเด็นหลัก 1.การออกแบบสนามบิน เป็น Engineering Design มีทั้งการวิเคราะห์ วางแผนและพัฒนาเพื่อการใช้งานและความปลอดภัย ไม่ใช่เรื่องสวยงามเป็นหลัก  2.การลงทุน ขยายสองปีกของเทอร์มินัล1 ใช้เพียง 1 หมื่นล้าน เทียบกับการสร้างเทอร์มินัล 2 (ใหม่)ผิดที่ผิดทาง ใช้งบ 45,000 ล้านบาท 3.คุณภาพของบริการ เรามักมองสนามบินแค่ความสวยงาม แต่ปัจจุบันและอนาคตแข่งกันที่การบริการ เราจะติดอันดับสนามบิน 1ใน 10 ของโลก ผู้ใช้บริการสามารถเข้า-ออกได้รวดเร็ว การรับ-ส่งไหลเวียนดี ไม่ใช่แค่เน้นการสร้างศูนย์การค้า 4.จะสร้างผลกระทบใหญ่และปัญหาตามมามากมายจากเทอร์มินัล 2 (ใหม่) ซึ่งจะส่งผลต่ออนาคตประเทศ อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้ให้ประชาชนและประเทศกว่าปีละ 1.1 ล้านล้านบาท  อย่างไรก็ตามคนไทยอย่าเพิ่งหมดหวังว่าผู้บริหารประเทศไม่สนใจเรื่องนี้  ข้อมูลที่ท่านได้รับนั้นมีข้อเท็จหลายเรื่อง เรามุ่งมั่นต้องการให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้เข้าใจว่า ทำไมสถาปนิก วิศวกรและนักเศรษฐศาสตร์จึงออกมาคัดค้าน

นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ (Atchapol Dusitanon) นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และหม่อมหลวงประกิตติ เกษมสันต์ เลขาธิการสภาสถาปนิก ยืนยันว่าบรรดาสถาปนิกเข้าใจ เราไม่ได้มาถกเถียงเรื่องแบบหรือก่อสร้าง ทุกวันนี้องค์กรวิชาชีพคัดค้านทอท. เพราะดำเนินการผิดไปจากแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ จึงต้องร่วมกันผลักดันเพื่อประเทศ ซึ่งถ้าพวกเราไม่ทำแล้ว จะรอให้ใครทำ มันเป็นหน้าที่สำคัญของวิศวกรและสถาปนิกในการที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติในครั้งนี้

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line