ไฟเซอร์ร่วมขับเคลื่อนให้คนไทย หยุดเป็นเหยื่อ เชื้อดื้อยา

ไฟเซอร์ร่วมขับเคลื่อนให้คนไทย หยุดเป็นเหยื่อ เชื้อดื้อยา

ไฟเซอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้วิจัยยาและชีวเวชภัณฑ์ระดับโลก ตระหนักถึงความรับผิดชอบของการมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับความท้าทายของปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance: AMR) ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเนื่องจากคร่าชีวิตคนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในวงกว้าง จึงได้ร่วมลงนามในปฏิญญาดาวอสในปี พ.ศ. 2559  เพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการดำเนินงานเพื่อก้าวข้ามความท้าทายจากปัญหาเชื้อจุลชีพดื้อยา โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมยาต้านจุลชีพ การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม การพัฒนากลไกการเข้าถึงยาต้านจุลชีพและการวินิจฉัยโรคที่ และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตยาต้านจุลชีพ


ดร. นพ. นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการดำเนินงานแก้ปัญหาเชื้อจุลชีพดื้อยาในระดับโลก และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย จึงได้มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆที่หลากหลายและร่วมมือกับทุกภาคส่วนในทุกระดับ ได้แก่ โครงการวิจัยและเฝ้าระวังสถานการณ์เชื้อดื้อยา การจัดทำคู่มือและสนับสนุนระบบการกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพในสถานพยาบาล (antimicrobial stewardship) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเชื้อดื้อยา การจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบที่หลากหลายแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปผ่านความร่วมมือกับสถาบันทางการแพทย์และองค์กรวิชาชีพต่างๆ

“สิ่งสำคัญอย่างมากที่จะบรรลุเป้าหมายเรื่องปัญหาเชื้อดื้อยาในประเทศไทยได้ก็คือ การเสริมองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมแก่บุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลทุกระดับรวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชนทั่วไปให้เข้าใจถึงความสำคัญและผลที่จะตามมาของปัญหาที่จะส่งผลโดยตรงกับพวกเขาและสมาชิกในครอบครัว ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่”ดร. นพ. นิรุตติ์ แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

เนื่องจากวันที่ 12-18 พฤศจิกายนนี้เป็นสัปดาห์รณรงค์สร้างความตระหนักเรื่องเชื้อดื้อยาและการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ดร. นพ. นิรุตติ์ ให้คำแนะนำเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเพื่อลดความเสี่ยงเชื้อดื้อยา โดยใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้นและกินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง ไม่หยุดยาเอง เพราะเชื้อแบคทีเรียจะปรับตัวกลายเป็นเชื้อดื้อยาในที่สุด ไม่ซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง ไม่แบ่งหรือขอยาปฏิชีวนะจากผู้อื่นแม้จะมีอาการคล้ายคลึงกัน การหยุดพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าวเป็นหัวใจสำคัญของการความสำเร็จในการชะลอหรือลดอุบัติการณ์เชื้อดื้อยา

“ไฟเซอร์ ในฐานะองค์กรภาคเอกชนและเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพของประเทศ ขอสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทยอย่างเต็มที่เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ในการลดอัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต ตลอดจนลดผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศจากปัญหาปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ โดยเราจะก้าวข้ามปัญหาความท้าทายนี้ไปด้วยการร่วมมือกันในทุกภาคส่วน” ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวสรุป

Comments

Share Tweet Line