มทร.สุวรรณภูมิอัพสกิลวิจัยเพื่อพัฒนาจังหวัด ร้อยจุดเด่นต.สามเรือนแหล่งเที่ยว-ชิลตลอดปี

มทร.สุวรรณภูมิอัพสกิลวิจัยเพื่อพัฒนาจังหวัด ร้อยจุดเด่นต.สามเรือนแหล่งเที่ยว-ชิลตลอดปี

เปิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งใหม่ ชุมชนสามเรือน แหล่งเห็ดตับเต่ามากที่สุดในประเทศนอนโฮมสเตย์ เดินสะพานไม้ไผ่ชมทิ้งถ่วง เรืองแสง กระโจมอกล่องเรือไปอาบน้ำใต้แสงจันทร์ ในคืนเดือนเพ็ญ ที่คลองโพธิ์ แหล่งท่องเที่ยวใหม่อยู่ใกล้แค่บางปะอิน ถิ่นที่คนไทยต้องรู้


หากจะบอกว่าอยุธยาเป็นเมืองท่องเที่ยวก็คงไม่แปลก แต่การท่องเที่ยวที่แตกต่างนั้นจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องได้รับการกล่าวถึง ยิ่งเป็นการท่องเที่ยวที่ดึงเอาจุดเด่นของชุมชนออกมาโดยงานวิจัยของนักวิชาการแล้วละก็ หลายคนคงอาจนึกไม่ถึง แต่ภายใต้กรอบงานวิจัยเชื่อมโยงการตลาดและการเกิดแผนธุรกิจชุมชน  ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุวรรณภูมิ ที่ทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำให้เกิด โครงการนวัตกรรมการเชื่อมโยงการตลาดการท่องเที่ยวนิเวศเกษตร ชุมชนสามเรือน อำเภอบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่น่าตื่นตาตื่นใจ  ที่เบื้องหลังล้วนเกิดขึ้นจากงานวิจัยที่เรียกว่า “นวัตกรรมงานวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่”

กระบวนการเกิดขึ้นของการท่องเที่ยวชุมชนสามเรือน เกิดจากการที่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุวรรณภูมิ ลงพื้นที่คลุกคลีกับชาวบ้านจนได้ฐานทุนและข้อมูลอันประกอบกันเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่การรื้อฟื้นขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของชุมชนที่เคยสูญหายไปอย่าง “การอาบน้ำคืนเพ็ญ” ในวันลอยกระทง ให้กลับคืนมา พร้อมๆ กับการฟื้นฟู “คลองโพธิ์” ที่เคยเน่าเสียให้กลับคืนมา เป็นความแยบยลของกระบวนวิจัยที่เชื่อมโยงเอางานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้ามาผสมผสานกับงานประเพณี         

ดร.ธารนี นวัสนธี ผู้ช่วยคณบดีกำกับดูแลศูนย์วิจัยและนวัตกรรม คณะศิลปะศาสตร์ มทร.สุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า เดิมที มทร.สุวรรณภูมิ ลงไปพื้นที่สามเรือนเพื่อทำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาก่อน ซึ่งทำให้รู้จักพื้นที่นี้เป็นอย่างดี ต่อมาได้รับทุน นวัตกรรมงานวิจัยเชิงพื้นที่ จาก สกว.ตั้งแต่ปี 2558 มาดำเนินโครงการในพื้นที่อยู่ 3-4 โครงการ เช่นงานวิจัยเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูประเพณีโบราณของชุมชน, การสร้างมูลค่าเพิ่มให้เห็ดตับเต่าโดยการแปรรูป เป็นต้น  ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าว ใช้กระบวนการงานวิจัยใหม่ที่ต้องเอาโจทย์ของพื้นที่เป็นตัวตั้ง

"งานวิจัยเริ่มจากกระบวนการหาโจทย์ ซึ่งเราต้องคุยกับชาวบ้านเพราะเขาเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง ย้อนกลับไปหมู่บ้านนี้ยังไม่มีเรื่องท่องเที่ยวจะมีก็แต่การมาดูงานการต่อเชื้อเห็ดตับเต่าซึ่งเป็นเชิงธุรกิจ ส่วนที่เป็นไฮไลน์ก็คือการจัดงานวันเห็ดตับเต่างามที่สามเรือน ซึ่งมี อบต.สามเรือนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ร่วมกับชาวบ้านจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา 4 ปี ก่อน แต่การจัดงาน 3 วันใน 1 ปียังไม่เพียงพอที่จะสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชาวบ้าน จึงเป็นที่มาของงานวิจัยดังกล่าวข้างต้น สิ่งที่เขาอยากได้คือเรื่องการท่องเที่ยว ในขณะที่เขามีต้นทุนในเรื่องเห็ดตับเต่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่มาระยะหลังเริ่มน้อยลงเพราะน้ำเริ่มเน่าเสียจากโรงงาน, บ้านเรือนและการทำเกษตรกรรม เนื่องจากธรรมชาติของเห็ดตับเต่ามักขึ้นเฉพาะในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติค่อนข้างสูง น้ำต้องสะอาดดินต้องดีไม่มีสารเคมี ปีแรกๆ จึงมีทั้งส่วนของการส่งเสริมการเพาะเห็ด ทำอย่างไรคลองโพธิ์จะกลับมาดีเหมือนเดิม เราก็ทำวิจัยเรื่องคุณภาพน้ำ ทำเรื่องพันธุ์ปลา  ซึ่งทำงานควบคู่กับชาวบ้านเลย ตรงนี้ทำให้ชุมชนตื่นตัวและเกิดเป็นกลุ่มอนุรักษ์คลองโพธิ์ขึ้น พอทำไปสักระยะ เห็นความเปลี่ยนแปลงว่าเห็ดเริ่มมีปริมาณมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำเรื่องการแปรรูป เอาความรู้ไปให้ชาวบ้านซึ่งต่างจากงานบริการวิชาการปกติ 12 เดือนที่เราทำวิจัยเราจะต้องพาชาวบ้านคิด พาทำ จนเขาเชื่อใจ ซึ่งในที่สุดก็เกิดเป็นกลุ่มแปรรูปขึ้น”

นางวรารัตน์ ชาติวิเศษ ประธานกลุ่มโฮมสเตย์ชุมชนสามเรือน กล่าวว่า จากงานวิจัยที่มทร.สุวรรณภูมิลงไปคลุกคลีกับชาวบ้านในชุมชน และสร้างให้ชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยไม่ใช่เฉพาะเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเท่านั้น แต่ยังสร้างความเป็นนักวิจัยในชุมชนด้วย ทำให้ชาวบ้านตื่นตัวและนำมาซึ่งการพัฒนาต่อยอดไปเรื่องอื่นๆ เช่น อยากจะพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อให้มีคนมาเที่ยว สร้างรายได้ชุมชน ทำให้เกิดการค้นคว้าหาของดีของบ้านตัวเอง เอาข้อมูลมาแชร์กัน

“ตอนเราแชร์ข้อมูลกันกับนักวิจัยเราเองก็เพิ่งรู้ว่าชุมชนของเรามีของดีมากมาย เช่น มีแหล่งดูนก มีคนที่ทำขนมไข่เหี้ยน้ำซึ่งชื่อแปลกมาก มีหิ่งห้อยตัวใหญ่หรือทิ้งถ่วง มีแปลงปลูกกล้วยไม้ซึ่งมีมานานแต่เราก็ไม่เห็นคุณค่าว่าเขาจะเป็นจุดขายอะไรให้นักท่องเที่ยวเข้ามาจนกระทั่งอาจารย์นักวิจัยเขาเข้ามาแล้วก็บอกว่านี่แหล่ะคือของดีในชุมชนเราก็เก็จเลย ก็ตื่นตัวกันมาก เกิดเป็นการท่องเที่ยวล่องเรือตามคลองโพธิ์ เกิดกลุ่มโฮมสเตย์ซึ่งตัวเองสนใจอยากทำอยู่แล้วก็เอาด้วยเพราะอยากทำมานาน นอกจากนี้อาจารย์มทร.สุวรรณภูมิยังกระตุ้นให้เด็กๆ สนใจในชุมชนของตัวเอง เกิดนักสื่อความหมาย(ยุวมัคคุเทศก์)รองรับนักท่องเที่ยวในที่สุด 

ประธานกลุ่มโฮมสเตย์ชุมชนสามเรือนกล่าวว่า สำหรับผู้ที่สนใจมาเที่ยวชุมชนสามเรือนสามารถมาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี มาที่นี่นักท่องเที่ยวสามารถ ล่องเรือตามคลองโพธิ์ชมวิธีชีวิตคนริมน้ำ ชมทิ้งถ่วง (เป็นญาติกับหิ่งห้อย) เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์บ้านลุงหอม ดูนกกระจาบ หากมาในช่วงคืนลอยกระทงก็จะเห็นประเพณีการอาบน้ำคืนเพ็ญ แต่หากจะมาให้ตรงกับช่วงที่เห็ดตับเต่าออกดอกก็ต้องมาในช่วงเดือนมีนาคม – สิงหาคม สำหรับผู้ที่ต้องการมาพักค้างคืน ที่นี่มีบ้านพักรับร้องนักท่องเที่ยวจำนวน 6 หลังๆ ละ 10 คน ทานอาหารปิ่นโตอาหารพื้นถิ่นที่หาทานยาก และไฮไลน์อยู่ที่การแปรรูปเห็ดตับเต่า ตื่นเช้าใส่บาตรพระหรือตัดกล้วยไม้ไปสักการะพระที่วัดสามเรือนก็น่าสนใจ

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะลองไปสัมผัสการท่องเที่ยวในแบบของสามเรือน สามารถติดต่อได้ที่ “นางวรารัตน์ ชาติวิเศษ” เบอร์โทรศัพท์ 086-1339269 

Comments

Share Tweet Line