“ต้องตอบโจทย์พื้นที่”...เสียงสะท้อนจากชุมชนวังวน ถึงงานวิจัย

“ต้องตอบโจทย์พื้นที่”...เสียงสะท้อนจากชุมชนวังวน ถึงงานวิจัย

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการขับเคลื่อนชุมชนคืองานวิจัยที่ตอบโจทย์พื้นที่ แต่ขณะเดียวกันมีคำถามกลับมาว่า แล้วงานวิจัยแบบไหนหรือต้องทำงานวิจัยอย่างไร เพื่อให้เข้าถึงการแก้ปัญหาได้ตรงจุดของชุมชนและยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์เดิมตามวิถีของชุมชนนั้นๆ โดยมีชุมชนและนักวิชาการเกี่ยวก้อยทำวิจัยไปด้วยกันอย่างลงตัว


นางประภาพรรณ กันตังพันธุ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังวน อำเภอกันตัง กล่าวในวงเสวนา“เส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บนพื้นที่ 3 ตำบล”โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวในเขตลุ่มน้ำปะเหลียน โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงพื้นที่ภายใต้โครงการนวัตกรรมการจัดการงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยใช้โจทย์ปัญหาในพื้นที่ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดมาเป็นโจทย์วิจัย  โดยระบุว่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำปะเหลียนเป็นแหล่ง ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญเพราะหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนใน 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอกันตัง อำเภอย่านตาขาว อำเภอปะเหลียน และอำเภอหาดสำราญ   

ที่ผ่านมาชุมชนในตำบลวังวน ประสบปัญหาขยะในพื้นที่เป็นสัดส่วนถึง 80% จากส่วนยอดของใบจากอ่อน ที่กลายเป็นส่วนเหลือทิ้งจากกระบวนการทำใบจาก ซึ่งเป็นอาชีพเสริมของคนในชุมชน โดยที่ผ่านมายังไม่มีการแก้ปัญหาเป็นรูปธรรม จนกระทั่งมีงานวิจัยเข้ามาส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานก้านจากบ้านนายอดทอง ทำให้สามารถลดขยะและต่อยอดองค์ความรู้ของชาวบ้านที่มีอยู่แล้วให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายขึ้น

“โจทย์ของชุมชนคือปัญหาเศษวัสดุเหลือใช้จากใบจากที่ถูกกองทิ้งไว้ เกิดคำถามว่า ส่วนที่เหลือเราจะเอาไปไหน  ซึ่งเรามีภูมิปัญญาของชาวบ้านเรื่องการจักสานก้านจาก แต่ยังขาดการแปรรูปหรือการเสริมองค์ความรู้ในเรื่องนี้ พอมีนักวิจัยเข้ามาขับเคลื่อนด้วยการนำภูมิปัญญาดังกล่าวมาขยายผลหรือต่อยอดทำให้มีการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ อย่างติหมาหรือเสวียน ทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นบ้านมีความทันสมัย สวยเก๋ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลายกลุ่ม ทั้งการนำติหมาไปประดับตกแต่งบ้าน การใช้ติหมาใส่น้ำแทนถุงพลาสติก ตรงนี้เกิดการจ้างงาน เกิดอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ของชุมชนและลดปริมาณขยะได้”

นางประภาพรรณ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากงานวิจัยการแปรรูปของเหลือทิ้งจากก้านจากมาเป็นวัสดุต่างๆ แล้ว มทร.ศรีวิชัยยังมีงานวิจัยอีกหลายเรื่อง เช่น งานวิจัยยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปอย่างหอยปะหรือหอยตลับ การแปรรูปปลาหลังเขียว งานวิจัยด้านการท่องเที่ยว โดยเข้ามาศึกษาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน ก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายชาวบ้านในแต่ละตำบลที่ใช้พื้นที่ร่วมกัน รวมไปถึงงานวิจัยด้านอาชีพของเกษตรกรเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น การพัฒนาเครื่องวัดคุณภาพน้ำ ที่สามารถวัดและส่งข้อมูลคุณภาพน้ำบริวณปากแม่น้ำ ณ เวลานั้นให้เกษตรกรที่ประกอบอาชีพเลี้ยงหอยนางรมและเลี้ยงปลาในกระชังให้เฝ้าระวังวิกฤติของน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้ลดความเสียหายของสัตว์เลี้ยงได้อย่างทันท่วงที

ด้านนายเหยด เหล่หมุด ตัวแทนชุมชนตำบลวังวน กล่าวว่า แม้ลุ่มน้ำปะเหลียนจะมีทรัพยากรที่หลากหลาย แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านในชุมชนไม่สามารถหาจุดเชื่อมต่อหรือมีแนวทางที่ทำให้ทรัพยากรเหล่านี้เกิดประโยชน์ได้มากนัก

“เมื่อมีงานวิจัยเชิงพัฒนาพื้นที่เข้ามา มีนักวิจัยเข้ามาทำให้ชาวบ้านมีช่องทาง มีแนวคิดในการต่อยอดโดยใช้ภูมิปัญญาเดิมเข้ามาเสริมกับองค์ความรู้ที่นักวิจัยแนะนำ ก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ในครอบครัวไม่ต้องออกไปทำงานต่างถิ่น อย่างติหมาตอนนี้มีออเดอร์สั่งซื้อจากต่างประเทศอย่างอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญและเกิดความหวงแหนต่อทรัพยากรในท้องถิ่นของตัวเอง อย่างการทำประมงชายฝั่ง การหาหอยปะที่ใช้เครื่องมือไม่ทำลายล้าง ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้นำไปสู่การสร้างภูมิปัญญาของชาวบ้านให้ดูแลรักษาแล้วยังนำไปสู่การคิดวิเคราะห์และทบทวนการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าเพื่อส่งต่อถึงลูกหลานในชุมชนด้วย”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในอดีตพื้นที่ลุ่มน้ำปะเหลียนจะมีงานวิจัยหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมากก็ตาม แต่อย่างหนึ่งที่ชาวชุมชนสะท้อนกลับมาว่า ไม่ว่านักวิจัยจะเข้ามามากมายเพียงใด หากแต่งานวิจัยไม่ได้ตอบโจทย์พื้นที่หรือใช้ปัญหาของท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง งานวิจัยชิ้นนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาชุมชนนั่นเป็นเพราะชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในออกแบบชุมชนของตัวเองนั่นเอง

Comments

Share Tweet Line