สวทช. ดึงอาลีบาบา นำระบบหุ่นยนต์ขนส่งสินค้าในโกดัง ให้ความรู้ผู้ประกอบการ EEC

สวทช. ดึงอาลีบาบา นำระบบหุ่นยนต์ขนส่งสินค้าในโกดัง ให้ความรู้ผู้ประกอบการ EEC

ณ โรงแรมบางแสน เฮอริเทจ จ.ชลบุรี - สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) ร่วมกับ เครือข่ายโปรแกรม ITAP สถาบันไทย-เยอรมัน จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Alibaba Smart Logistics and Lean Management for Manufacturing” กิจกรรมภายใต้โครงการ ICT for SME เพื่อให้ความรู้และเพิ่มศักยภาพด้านระบบอัตโนมัติแก่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC กว่า 180 คน โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญผู้ผลิตหุ่นยนต์ขนส่งของอาลีบาบาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ถึงแนวโน้มเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์อัจฉริยะ พร้อมสาธิตการทำงานของหุ่นยนต์ที่ใช้ในโกดังจริง รวมถึงเตรียมพร้อมรองรับต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นและตลาดแรงงานที่ขาดแคลน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในพื้นที่นำไอทีไปใช้เพิ่มมากขึ้น เพิ่มความเข้มข้น 3 จังหวัดใน EEC ให้ยกระดับสินค้าและบริการด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม


นายสนัด วงศ์ทวีทอง รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. เปิดเผยว่า กิจกรรมสัมมนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ในการใช้ซอฟต์แวร์บริหารจัดการ สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี 2560-2564) ในด้านการพัฒนาผลิตผล ส่งเสริมให้ SME กลุ่มทั่วไป และกลุ่มอุตสาหกรรมมีศักยภาพมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้ความรู้ด้านไอซีที ดิจิทัล และการปฎิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งงานครั้งนี้มีผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 180 คนใน 3 จังหวัดของพื้นที่ EEC (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง) เข้าร่วมงาน ซึ่งการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ไอซีทีแก่ผู้ประกอบการใน EEC ให้เพิ่มมากขึ้นเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของ EECi ที่มุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ด้วยการยกระดับอุตสาหกรรมเดิมและสร้างอุตสาหกรรมใหม่ สร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรรมในพื้นที่ โดยโครงการมีกิจกรรมสู่ผู้ประกอบการไทยในหลากหลายช่องทาง ได้แก่ การอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ให้ใช้ซอฟต์แวร์และนวัตกรรมพัฒนากระบวนการผลิตและลดต้นทุน การนำเสนอโซลูชั่นของพาร์ทเนอร์แก่ผู้ประกอบการให้สามารถนำเทคโนโลยีไปปรับใช้เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการผลิต และการสร้างเครือข่ายให้ผู้ประกอบการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเกิดเป็นพันธมิตรและเครือข่ายร่วมกัน ซึ่งกลไกเหล่านี้จะช่วยให้เอกชนไทยสามารถยกระดับความสามารถการแข่งขันด้านเทคโนโลยี และพัฒนาองค์กรให้เจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน สร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป

“จากประสบการณ์ที่ สวทช. ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรม ในเขตอุตสาหกรรมสำคัญของไทย อาทิ ปราจีนบุรี อยุธยา สมุทรสาคร ระยอง และชลบุรี พบว่า แต่ละนิคมอุตสาหกรรม ยังต้องการหาแนวทางหรือโซลูชั่นที่สามารถลดต้นทุนเกี่ยวกับด้านการบริหารจัดการ ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง และต้นทุนค่าขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก ทำให้ต้องมาศึกษาและหาแนวทางเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากขึ้น จากข้อมูลฟอร์บส ไทยแลนด์ ระบุว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศใกล้เคียง ทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์อยู่ที่ 18% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์อยู่ที่ต่ำกว่า 10% ดังนั้น เพื่อให้แข่งขันได้ การส่งเสริมภาคเอกชนในเรื่องการดำเนินธุรกิจ การบริหารต้นทุนให้ถูกลง และการส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้เร็วขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญและต้องอาศัย ‘นวัตกรรม’ โดย สวทช. ได้นำนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกมาศึกษาโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ Mr. Sebastain Leung ตัวแทนจาก Quicktron บริษัทผลิตหุ่นยนต์ขนส่งของอาลีบาบา ผู้มีประสบการณ์ในการจัดการระบบขนถ่ายวัสดุ มากกว่า 20 ปี ซึ่งเขาได้ช่วยเหลือลูกค้าจำนวนมากในการให้ได้รับประโยชน์จากโซลูชั่นการจัดการ การขนถ่ายวัสดุ โดยเสนอทางออกที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าแต่ละราย และเพื่อให้เข้าใจระบบอย่างแท้จริง ได้นำหุ่นยนต์ที่ใช้ในคลังสินค้าของอาลีบาบามาจำลองการทำงานจริง พร้อมเปิดโอกาสให้วิศวกรรมซอฟต์แวร์มีส่วนร่วมในการพัฒนาโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ที่เชื่อมโยงกับ WMS, ERP, OEE และ Real time Monitoring ของแต่ละธุรกิจด้วย” นายสนัด วงศ์ทวีทอง กล่าว



ด้าน นายอนุชิต นาคกล่อม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซ็นเซอร์นิกส์ จำกัด กล่าวในมุมของภาคเอกชนถึงการปรับตัวและเตรียมพร้อมในการรับมือกับการเกิดขึ้นของ EEC ว่า หุ่นยนต์เพื่อการผลิตและโลจิสติกส์ คือ อุตสาหกรรมอนาคตที่ EEC ให้สิทธิประโยชน์ทางการลงทุนระดับสูงเป็นพิเศษ ทำให้เกิดการลงทุนในพื้นที่นี้เป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความต้องการของโรงงานในอนาคต ซึ่งในภาพรวมการใช้งานระบบอัตโนมัติและระบบคลังสินค้าอัจฉริยะของภาคเอกชน ทั้งในส่วนผู้ประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมไทยนับว่ามีการตื่นตัวสูงมาก จากปัญหาแรงงานขาดแคลน ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น และจำเป็นต้องพัฒนาการขนส่งเพื่อการแข่งขัน การใช้งานระบบอัตโนมัติ รวมถึงระบบคลังสินค้าอัจฉริยะจึงมีความต้องการเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ เทรนด์หรือแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทสำคัญกับผู้ประกอบการโรงงานพบว่า จะใช้หุ่นยนต์แทนคน ใช้ระบบการจัดการที่เป็นซอฟแวร์ ใช้ Big Data ในการวิเคราะห์ธุรกิจ และใช้ AI ในการดำเนินงานมากขึ้น



Mr. Sebastain Leung, Project Director, MAX STORAGE ENGINEERING (HK) COMPANY กล่าวถึงการทำงานของหุ่นยนต์ในคลังสินค้าของอาลีบาบา ว่า เป็นหุ่นยนต์เพื่อใช้เคลื่อนย้ายสินค้าได้ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องใช้แรงงานคน สั่งงานจากระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) จากการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กรโดยรวม ส่งต่อไปยังระบบ WMS (warehouse management system) ผ่านระบบ WiFi ควบคุมการสั่งงานโดยอัตโนมัติ ซึ่งจุดเด่นของหุ่นยนต์ดังกล่าวอยู่ที่ ความสามารถในการยกน้ำหนักได้มากถึง 1 ตัน เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง 1.5 เมตรต่อวินาที ทำงานได้ 8 ชั่วโมง ต่อการบรรจุแบตเตอรี่ 1 ครั้ง ทำงานด้วยระบบ AI ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการคลังสินค้า ทั้งในแง่ต้นทุน ความถูกต้อง และความรวดเร็ว โดยมุมมองต่อผู้ประกอบการไทยในการปรับใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์คลังสินค้าอัจฉริยะดังกล่าว ตนเห็นว่า บริษัทที่ทำธุรกิจ e-commerce รายใหญ่ในประเทศไทยกำลังตัดสินใจใช้ระบบนี้ในการขนส่งสินค้า ขณะเดียวกันโรงงานขนาดใหญ่ในประเทศไทยกำลังตัดสินใจใช้ระบบนี้ในการขนส่งสินค้าในขบวนการผลิตเช่นกัน

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line