เวิร์กชอป คนรักษ์แฝก สร้างรายได้ พัฒนาผลิตภัณฑ์ "หญ้าแฝก"...สู่สากล

เวิร์กชอป คนรักษ์แฝก สร้างรายได้ พัฒนาผลิตภัณฑ์

เพราะ ‘คุณค่า’ ของ หญ้าแฝก เป็นพืชที่นำมาใช้ปลูกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ขยายพันธุ์ได้ตลอดปี มีใบยาว ตัดและแตกใหม่ง่าย แข็งแรง ทนต่อการย่อยสลาย ช่วยอุ้มน้ำ บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์ ปรับตัวกับสภาพต่าง ๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป คุณสมบัติดีเด่นมากมาย ผู้ที่เล็งเห็นคุณค่าอย่าง ปตท. จึงได้ร่วมมือกับ มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานกปร.และกรมพัฒนาที่ดิน และบริษัท พิมพ์พา ปารีส จำกัด จัดงาน เวิร์กชอป คนรักษ์แฝก โครงงานส่วนหนึ่งของการพัฒนาฝีมือแรงงานเครือข่ายคนรักษ์แฝก ด้านผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก จัดขึ้นที่ โรงแรมอลิซาเบธ กรุงเทพมหานคร ไปเมื่อวันก่อน ท่ามกลางคนรักษ์แฝก และผู้เชี่ยวชาญที่เต็มไปด้วยความรู้ ความสามารถที่พร้อมจะพัฒนามากมาย


เวิร์กชอป คนรักษ์แฝก ต่อยอดมาจากแผนปฎิบัติการดำเนินโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งโครงงานดังกล่าวประกอบไปด้วย โครงการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, โครงการผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก, โครงการเครือข่ายคนรักษ์แฝก และโครงการประยุกต์หญ้าแฝก เพื่อสนองงานตามแนวพระราชดำริและขยายผลการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกไปสู่ภาคประชาชน ไปสู่แนวทางการดำรงชีวิตบนพื้นฐานของการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน  สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการมีส่วนร่วมขององค์กร (Inclusiveness) และพันธกิจที่มีต่อสังคม ในการเป็นองค์กรที่ดีของสังคม ปกป้องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้มาตรฐานสากล และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีต่อสังคมชุมชน นอกจากนี้ยังไปสู่การพัฒนาฝีมือแรงงานผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก ให้เครือข่ายคนรักษ์แฝกได้มีทักษะและองค์ความรู้ด้านการออกแบบ

ดร.สมพรสิริ เสริมรัมย์ ผู้จัดการสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. กล่าวว่า “เวิร์กชอปคนรักษ์แฝก ที่เราร่วมกันจัดขึ้นมากับมูลนิธิชัยพัฒนานั้น เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้าใจในการพัฒนาความสามารถการออกแบบของผู้ผลิต ซึ่งผลิตภัณฑ์ชุมชนนั้นเราให้มีการออกแบบและพัฒนาตามทิศทางแนวโน้มการออกแบบที่เป็นสากล เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แก่กลุ่มเครือข่ายคนรักษ์แฝก  ขณะเดียวกันก็เพื่อให้ทิศทางการออกแบบของผลิตภัณฑ์หญ้าแฝก มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะการออกแบบผลิตภัณฑ์และการเลือกสรรวัสดุธรรมชาติเป็นกลยุทธ์”  

ส่วนทางด้าน พิมพ์พา คำพับ ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นชั้นสูง ที่มาให้ความรู้ในการเวิร์กชอปครั้งนี้ ได้กล่าวถึงเทรนด์แฟชั่น เพื่อเป็นแนวทางและไอเดียในการออกแบบ พร้อมแนะนำ เพื่อต่อยอดสำหรับการลงพื้นที่ของกลุ่มเครือข่าย คนรักษ์แฝก โดยเริ่มลงพื้นที่แล้ว 5 จังหวัด คือ พะเยาว์ สุรินทร์  โคราช ฉะเชิงเทรา นราธิวาส ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่อง ความสำคัญในเรื่องออกแบบ ให้คำนึงถึงเรื่อง รูปทรง ลวดลาย การเลือกใช้สี สิ่งแวดล้อม ฤดูกาล เป็นตัวกำหนด กิจกรรมต่าง ๆ ของคนในเอเชียและยุโรปซึ่งมีความแตกต่างกัน ด้านเทคนิควิธีการทำผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ เช่น การย้อมสี การเลือกวัสดุ  การทำให้เกิดความคงทน  และด้านการทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Model) ให้ได้มาตรฐานสากล และสามารถสร้างรายได้ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยใช้หญ้าแฝก

“การเวิร์กชอปครั้งนี้ มีผลงานการออกแบบ หญ้าแฝกผสมไหม เป็นผลงานชิ้นใหม่  คืองานผ้าไหมที่โดดเด่นและมีฝีมือทอของคนไทยกับแฝกมารวมกัน พัฒนาออกไปสู่ตลาด เป็นชิ้นงานแห่งความภูมิใจ ชมได้จากนางแบบที่เดินโชว์ในงานนี้ เป็นผลงานเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่มีคุณค่าอย่าง หญ้าแฝกและไหมไทย ออกมาเป็นงานต่อยอดที่เชื่อมั่นว่า น่าจะได้รับความสนใจ จากเทรนด์โลก โดยได้นำเสนอไปแล้วเรียบร้อย หลังจากที่เห็นงานและฝีมือคนไทยในพื้นที่ต่างๆ เชื่อว่า เป็นงานที่กลุ่มคนรักษ์แฝกต้องภูมิใจ  ตอนนี้สำเร็จทุกขั้นตอนการผลิตแล้ว ใช้เวลาเริ่มทดลองประมาณ 3 เดือนพัฒนาสินค้าให้พร้อมสู่ตลาด เหลือเพียงแค่การทำการตลาด ซึ่งถ้าสำเร็จก็จะพัฒนาผลงานให้ออกสู่สายตาชาวโลกอย่างต่อเนื่อง”

หญ้าแฝก พืชจากธรรมชาติอันยั่งยืน กลยุทธ์และจุดเด่น นำมาซึ่งการประยุกต์ให้เป็นผลิตภัณฑ์  ผลงานที่คนไทยภูมิใจ เมื่อได้ส่งเสริมและพัฒนาไปสู่สากล

Comments

Share Tweet Line