ไอ จาม มีไข้ อย่าชะล่าใจ อาจมีอันตรายถึงชีวิต

ไอ จาม มีไข้ อย่าชะล่าใจ อาจมีอันตรายถึงชีวิต

บางครั้งโรคร้ายก็มาเยือนเราโดยที่ไม่ทันได้คาดคิด แม้แต่อาการป่วยเพียงเล็กน้อยอย่างไข้หวัดก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเพราะนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคที่ร้ายแรง อย่างโรค“ปอดอักเสบ” โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำถือเป็นกลุ่มเสี่ยง แพทย์ชี้ หากมีอาการเจ็บหน้าอกในขณะไอหรือหายใจ มีไข้ เหงื่อออก หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย ควรรีบไปพบแพทย์


นายแพทย์เดช จงนรังสิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้ป่วยวิกฤติ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า “โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม (Pneumonitis) เกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุ คือ เกิดจากการติดเชื้อหรือที่เรียกว่า Pneumonia ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา จนทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ ซึ่งส่งผลอันตรายอย่างมากต่อเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ หากมีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนอีกสาเหตุไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดจากสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ เช่น การหายใจเอาฝุ่น ควัน หรือสารเคมีที่ระเหยได้ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบหายใจเข้าสู่ปอด อาทิ ควันไฟ ควันรถยนต์ หรือยาฉีดพ่นแมลง จนอาจทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบหรือปอดบวมได้เช่นเดียวกัน”

โดยทั่วไปโรคปอดอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ในกรณีของปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อจะพบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบและผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้ป่วยที่กำลังรับการรักษาภายในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในแผนกผู้ป่วยหนัก (ICU) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหัวใจ รวมถึงผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ติดเชื้อHIV ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการให้เคมีบำบัด หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน ส่วนผู้ที่สูบบุหรี่ก็ถือว่ามีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน ซึ่งสาเหตุต่าง ๆ ของการติดเชื้อเกิดขึ้นได้ทั้งจากการไอ จาม หรือการหายใจรดกัน ซึ่งเป็นการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศที่เป็นละอองฝอยขนาดเล็กเข้าสู่ปอดโดยตรง ตลอดจนการสำลักเชื้อที่สะสมอยู่ตรงบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนลงสู่ปอด เช่น การสำลักน้ำลาย การสำลักอาหาร หรือการสำลักสารคัดหลั่งในทางเดินอาหาร นอกจากนี้หากผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อจากอวัยวะส่วนอื่นมาก่อนอาจเกิดภาวะการแพร่กระจายของเชื้อตามกระแสเลือดจนลุกลามไปสู่ปอดและอวัยวะข้างเคียงได้

นายแพทย์เดช กล่าวต่อไปอีกว่า โดยปกติอาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีอาการเจ็บหน้าอกขณะหายใจหรือไอ หายใจเร็ว หายใจหอบ หายใจลำบาก ไอมีเสมหะ มีไข้ เหงื่อออก หนาวสั่นคลื่นไส้ อาเจียนหรือท้องเสียอ่อนเพลีย หากเกิดกับผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ ส่วนเด็กเล็กอาจมีอาการท้องอืด อาเจียน เซื่องซึม ไม่ดูดนมหรือน้ำ ซึ่งระดับความรุนแรงของอาการอาจแตกต่างกันไปตามผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ อายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

สำหรับแนวทางในการป้องกันเพื่อให้ห่างไกลจากโรคปอดอักเสบสามารถปฏิบัติได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากการไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่จะไปทำลายกระบวนการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตามธรรมชาติของปอด ต้องดูแลสุขอนามัยส่วนตัว หมั่นล้างมืออยู่เป็นประจำ หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น ควรหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรือหากมีอากาศหนาวเย็นเมื่อเป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่อย่าปล่อยทิ้งไว้ควรรีบรักษาให้หายขาดโดยเร็ว นอกจากนี้ควรสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตามหากเกิดอาการป่วยและมีอาการตามความเสี่ยงของการเกิดโรคปอดอักเสบหรือปอดบวมควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันที เบื้องต้นแพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักประวัติและตรวจร่างกายของผู้ป่วย ฟังเสียงปอดและทำการเอกซเรย์ปอด ทั้งยังมีการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคพร้อมแยกเชื้อที่เป็นสาเหตุ โดยการตรวจนับเม็ดเลือดขาวในเลือด เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ ขั้นต่อมาคือการตรวจวัดออกซิเจนในเลือด เพื่อดูประสิทธิภาพของปอดในการลำเลียงออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดว่าลดลงหรือไม่ สุดท้ายคือการตรวจและเพาะเชื้อจากเสมหะและเลือด เพื่อหาชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคจากนั้นจึงจะรักษาการติดเชื้อร่วมกับการป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นควบคู่กันไป นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้งเด็กเล็ก ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำหรือมีโรคประจำตัวบางอย่างสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Flu vaccine) และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine) เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อ Streptococcus pneumonia หรือที่เรียกกันว่าเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อลดอัตราการเกิดโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อได้เช่นกัน นายแพทย์เดช กล่าว

ด้านนายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจนเนอราลี่ ประกันชีวิต (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ให้คำแนะนำว่า โรคปอดอักเสบหรือโรคปอดบวมจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่อาจส่งอันตรายถึงชีวิต สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบและผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป การเลือกซื้อประกันจึงควรเลือกความคุ้มครองให้ครอบคลุมแบบครบวงจรในทุกด้านที่จำเป็น อาทิ เงื่อนไขด้านอายุของผู้ที่จะทำประกัน ซึ่งแต่ละบริษัทมีเงื่อนไขความคุ้มครองต่างกัน ผู้ที่สนใจทำประกันจึงควรศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ เช่น หากต้องการซื้อประกันความคุ้มครองคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก หรือผู้สูงวัยก็ตาม ควรจะศึกษาความคุ้มครองที่ครอบคลุมถึงค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าชดเชยรายได้ รวมถึงการคุ้มครองอุบัติเหตุและโรคร้ายแรงต่างๆ เป็นต้น 

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line