ตู้อบแห้งใบจากงานวิจัยหนุนเสริมการผลิต “ติหมา”

ตู้อบแห้งใบจากงานวิจัยหนุนเสริมการผลิต “ติหมา”

มทร.ศรีวิชัย ใช้งานวิจัยช่วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานก้านจากบ้านนายอดทอง ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ผลิต “ตู้อบแห้งใช้จากพลังแสงอาทิตย์” ให้คนในชุนชนใช้ผลิต “ติหมา” ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดมากถึง 2 เท่า รวมทั้งสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี


จากโจทย์ปัญหา “กำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อปริมาณออร์เดอร์ที่สั่งเข้ามา” ประกอบกับ  สภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิต ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานก้านจากบ้านนายอดทอง ประสบปัญหาในการผลิต “ติหมา”

ผศ.นพดล  โพชกำเหนิด อาจารย์ประจำภาควิชาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา  นักวิจัย “โครงการวิจัยการพัฒนาตู้อบแสงอาทิตย์สำหรับอบแห้ง ใบจากสู่ชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน” ภายใต้โครงการวิจัยการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงการทำโครงการวิจัยชุดนี้ว่า เป็นงานวิจัยที่เกิดจากปัญหาการผลิต “ติหมา”ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานก้านจากบ้านนายอดทอง ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามียอดออเดอร์การสั่ง “ติหมา” ปริมาณมากขึ้น สวนทางกับไลน์การผลิตที่ทางกลุ่มกลับผลิตได้ในปริมาณเท่าเดิม

“ติหมาเป็นภูมิปัญญาจักสานของคนในภาคใต้ ที่นำส่วนยอดของใบจากอ่อน ซึ่งเป็นส่วนเหลือทิ้งจากกระบวนการทำใบจาก โดยทำส่วนหัวมาตากแดดให้แห้งแล้วนำมาสานในรูปแบบที่สวยงามสามารถใช้แทนแก้วน้ำ กระบวยตักน้ำได้ ปัจจุบันมียอดการสั่งซื้อจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ทัน เนื่องจากใบจากที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบนั้นต้องเป็นใบจากที่แห้งแล้วเท่านั้นจึงนำมาจักสานได้ ซึ่งก่อนหน้านี้  ทางชุมชนใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมคือการตากแดด หากแดดจัดสามารถตากให้แห้งภายใน 1 วัน แต่หากแดดอ่อนหรือต้องใช้เวลาตากมากกว่านั้นจะเกิดปัญหาในเรื่องสีของใบจากที่อาจผิดเพี้ยนไป ประกอบกับภาคใต้จะมี  ฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี ทำให้ไม่สามารถผลิตได้ทัน”

ตู้อบแห้งใบจากพลังแสงอาทิตย์ มีกระบวนการทำงานโดยใช้พลังงานจากแสงแดด ใช้หลักการไหลเวียนอากาศร้อนเพื่อระบายความชื้นด้วยวิธีธรรมชาติพร้อมติดตั้งเครื่องวัดความชื้นและอุณหภูมิ สามารถกระจายความร้อนได้อย่างสม่ำเสมอ หากฝนตกสามารถเคลื่อนย้ายได้

จุดเด่นของตู้อบแห้งใบจากพลังแสงอาทิตย์ คือ สามารถอบใบจากให้แห้ง โดยใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น ผลิตใบจากแห้งได้เฉลี่ย 2,000-3,000 ใบ/รอบ สามารถนำไปผลิตเป็นติหมาได้ครั้งละ 100-200 ใบ   ซึ่งจากการเก็บข้อมูลการวิจัยในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม 2560-เมษายน 2561 ในระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา  พบว่าตู้อบแห้งใบจากพลังแสงอาทิตย์ จำนวน 2 เครื่อง สามารถผลิตติหมาได้ถึง 170,000 ใบ หรือคิดเป็นเฉลี่ยเดือนละ 20,000 ใบ ทำให้กำลังการผลิตสูงขึ้น

ด้าน นางสุจินต์ ไข่ริน  ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานก้านจากบ้านนายอดทองกล่าวว่า ตู้อบแห้งใบจากพลังแสงอาทิตย์สามารถแก้ปัญหาการผลิตได้ดีโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน สามารถเพิ่มยอดการผลิตได้ถึง 2 เท่า รวมทั้งสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

“ข้อดีของตู้นี้คือร้อนกว่าการตากแดดข้างนอก แห้งได้ทันใจ โดยเฉพาะช่วงฝนแล้งทำได้เยอะขึ้น       วันหนึ่งอบได้สองรอบ ส่วนในช่วงหน้าฝนก็สามารถผลิตติหมาได้ โดยใช้ฮีตเตอร์เพื่อเพิ่มอุณหภูมิภายในตู้อบ ทำให้สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ทางกลุ่มสามารถเพิ่มยอดผลิตเป็นเดือนละ 20,000-30,000 ใบ ซึ่งพอคนในชุมชนรู้ว่าเรามีงานให้เขาทำได้อย่างต่อเนื่องและรายดีกว่าทำโรงงาน เขาก็สนใจ และเข้ามาเรียนรู้กับเรา ทำให้จากเดิมที่กลุ่มมีสมาชิกอยู่ 40 ครัวเรือน ตอนนี้เพิ่มเป็นกว่า 100 ครัวเรือน”

ขณะที่ นางประภาพรรณ กันตังพันธุ์  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังวน กล่าวเสริมว่า นอกจากงานวิจัยชุดนี้จะช่วยทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชนทำให้แต่ละครัวเรือนมีรายได้เสริมแล้ว หากมองในมุมของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม อาชีพจักสาน โดยเฉพาะในส่วนของติหมาถือเป็นการช่วยแก้ปัญหาของเหลือทิ้งจากก้านจากที่ทำใบยาสูบได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งงานวิจัยถือเป็นการเติมเต็มหนุนเสริมกำลังการผลิตของชาวบ้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 “ก่อนหน้านี้ เรามีปัญหาเรื่องขยะจากก้านจาก ที่เหลือจากการนำก้านจากไปทำใบยาสูบส่งมาเลเซีย  ซึ่งงานวิจัยนี้ทำให้ยอดผลิตติหมามีมากขึ้น ทำให้ก้านจากที่เคยถูกทิ้งเป็นขยะ กลายเป็นของมีประโยชน์มีค่าขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และช่วยลดขยะให้กับชุมชนได้อีกด้วยค่ะ  ซึ่งทาง อบต. ขอความร่วมมือกับทาง มทร.ศรีวิชัย ผลิตเครื่องอบแห้งใบจาก ให้เราอีกอย่างน้อย 20 เครื่อง เพื่อนำไปส่งเสริมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่ต่อไป”

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ผศ.นพดล  ระบุว่า จะพัฒนาต่อยอดเครื่องอบแห้งใบจากพลังแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานมากขึ้น เช่น มีอายุ  การเก็บที่นานขึ้น รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อให้มีมาตรฐานมากขึ้นรองรับตลาดจักสานในอนาคต 

Comments

Share Tweet Line