Blue Economy เศรษฐกิจสีน้ำเงินแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

Blue Economy เศรษฐกิจสีน้ำเงินแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ใน“การประชุมวิชาการเศรษฐกิจสีน้ำเงินของประเทศไทย” ครั้งที่ 1 โดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งของกลไกขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินให้เป็นรูปธรรมขึ้นในประเทศ โอกาสนี้ได้มีการเปิดตัว “หนังสือเศรษฐกิจสีน้ำเงิน คู่มือการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสีน้ำเงินของประเทศไทย”เล่มแรกของไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยที่ได้ดำเนินการภายใต้ชุดโครงการการพัฒนากรอบแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนในบริบทของประเทศไทย(Blue Economy) ปี 2559 และชุดโครงการ“ความรู้เพื่อขับเคลื่อนนโยบายทางทะเลแห่งชาติสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG14) ปี 2561 ทั้งนี้ การจัดทำหนังสือดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อแนะนำให้เข้าใจถึงพื้นฐานแนวคิดของเศรษฐกิจสีน้ำเงิน หรือ Blue Economy  ที่สำคัญคือ การนำเสนอวิธีการในการดำเนินการให้เป็น Blue Economy สำหรับประเทศไทย ที่ระบุถึงความท้าทายที่สำคัญและคำแนะนำเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการนำไปปฏิบัติ


รศ.ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ หัวหน้าสาขาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ประสานงานชุดโครงการฯ กล่าวว่า หนังสือเศรษฐกิจสีน้ำเงินถือเป็นหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐกิจสีน้ำเงินภาษาไทยเล่มแรก ปัจจุบันหลายประเทศกำลังให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก ซึ่งในประเทศไทยแม้จะมีการทำงานด้านนี้มาพอสมควรแต่ยังขาดการรวบรวมข้อมูลทั้งจากงานวิจัยและเรื่องของกระบวนการ ทาง สกว.เห็นความสำคัญเรื่องนี้จึงต้องการให้นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญนำข้อมูลมาเขียนรวบรวมขึ้นเป็นหนังสือ โดยความสำคัญของเนื้อหามีที่น่าสนใจ 3 ส่วน คือ เรื่องของกระบวนทัศน์ การให้ความสำคัญ Blue Economy  แนวทางการขับเคลื่อนของไทย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว 

ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ในประเทศไทยแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินถือเป็นความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่แนวคิดนี้กำลังเป็นสิ่งที่ประชาคมโลกให้การยอมรับและให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรฐกิจภาคทะเลของโลก เนื่องจากมีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทีวความสำคัญมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับทะเลและชายฝั่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่การแสวงหาประโยชน์ดังกล่าวกำลังเป็นตัวเร่งในการทำลายระบบสมุทรนิเวศ จึงกลายเป็นประเด็นที่พูดถึงเกี่ยวกับการเจริญเติบโตและความยั่งยืนของการพัฒนาทั้งในเวทีระดับชาติและระดับนานาชาติ และหนึ่งในนั้นคือ แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน หรือ Blue Economy ถูกหยิกยกขึ้นมาหารือเพื่อเป็นแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ซึ่งคำว่า เศรษฐกิจสีน้ำเงิน หรือ Blue Economy นั้น มีคำนิยามอย่างง่ายคือ ความพยายามในการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สุ่มเสี่ยงในการทำลายสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศในมหาสมุทร หรือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งและทะเล

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เศรษฐกิจภาคทะเลด้านต่างๆ มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด กลุ่มเศรษฐกิจภาคทะเลที่สำคัญ ได้แก่ ประมง พาณิชยนาวี ท่องเที่ยว และพลังงาน ซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจภาคทะเลโดยรวม จะมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในอนาคต แม้กิจกรรมเหล่านี้จะเป็นโอกาสและศักยภาพของประเทศด้านทะลและมหาสมุทร แต่ต้องยอมรับว่าการเติบโตดังกล่าวต้องแลกกับความเสื่อมโทรม รวมถึงการสูญเสียของทรัพยากรทางทะเลต่างๆไปอย่างมากทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาที่ขาดการให้ความสำคัญกับแนวทางที่เหมาะสมในการสร้างการเติบโตของภาคทะเล เพราะที่ผ่านมามักคำนึงถึงเฉพาะต้นทุนและผลประโยชน์ไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องมองทั้งระบบแบบองค์รวมอย่างเหมาะสม ซึ่งก็คือ “แนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน”ดังกล่าว

ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยแล้วอาจเป็นแนวทางใหม่ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่ตรงกัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจและเห็นภาพที่ตรงกัน จำเป็นอย่างที่จะต้องนำสิ่งต่างๆมาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของประเทศให้ครอบคลุมทุกด้านอย่างเหมาะสม หนังสือนี้จึงเป็นคู่มือหรอืเอกสารฉบับแรกของไทยที่ได้มีการรวบรวมและเรียบเรียงเรื่องราวที่จำเป็นและควรรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นให้กับบุคคลทั่วไปที่สนใจ ตั้งแต่การทำความเข้าใจความหมาย หลักการ ความเชื่อมโยงกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ตัวอย่างทิศทาง แนวทางการพัฒนาที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ในระดับต่างๆ สถานภาพโอกาสและความท้าทายของการพัฒนาดังกล่าวในประเทศไทย รวมถึงกลไกขับเคลื่อนระดับต่างที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินในบริบทของประเทศไทย

ด้าน รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวเสริมว่า เรื่องของแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ไม่ใช่เรื่องที่จะขับเคลื่อนโดยนักวิจัยกลุ่มเดียว แต่จะต้องเกิดจากภาคส่วนต่างๆ และภาคีเครือข่ายที่จะเข้ามามีส่วนร่วม หนังสือไม่มีความสำคัญเท่ากับการที่นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์หรือไปสร้าง Impactร่วมกัน คำว่า Over The Ocean ไม่ใช่แค่ทะเลไทยแต่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจภาคทะเลเกิดความยั่งยืนไปสู่ระบบนิเวศร่วมกันได้ โดยเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ที่จะกลายเป็นกลุ่มงานที่ใหญ่ขึ้น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงินในรูปแบบเครือข่ายที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจัดการเศรษฐกิจสีน้ำของประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสีน้ำเงินถือเป็นอีกหนึ่งผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของประเทศไทยที่จำต้องได้รับการพิทักษ์ ปกป้อง และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ที่สำคัญคือการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และมีความยั่งยืน ภายใต้วิธีคิดแบบใหม่ที่เป็นระบบ สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ต่อไปในอนาคต   

 

Comments

Share Tweet Line