สวทช. จับมือ ทีเซลส์ คิกออฟ “โครงการวิจัยอาหารฟังก์ชั่นในมนุษย์”

สวทช. จับมือ ทีเซลส์ คิกออฟ “โครงการวิจัยอาหารฟังก์ชั่นในมนุษย์”

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับ TCELS หรือศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) จัดสัมมนาเรื่อง “Food, Gene and Health: Opportunities and Challenge” และเปิดตัวโครงการ “การวิจัย พัฒนา และทดสอบทางคลินิก สำหรับอาหารฟังก์ชั่น” เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชั่น หรืออาหารมีวัตถุประสงค์พิเศษ สำหรับสังคมผู้สูงอายุ และการวิจัยทางคลินิกในอาหารฟังก์ชั่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ได้จริง มุ่งรองรับความต้องกลุ่มผู้บริโภคผู้สูงอายุได้แท้จริง พร้อมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน
 
นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โปรแกรม ITAP สวทช. มีภารกิจหลักในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยในอุตสาหกรรมอาหาร ITAP ให้ความช่วยเหลือตั้งแต่การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ ทำให้มีความหลากหลายหรือสร้างนวัตกรรมด้วยการปรับวิธีการผลิต หรือรูปแบบการบริโภค พัฒนาให้อาหารมีอายุเก็บรักษาที่นานขึ้น โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นอาจารย์ที่จบด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร หรือนักพัฒนาผลิตภัณฑ์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในปี 2559 ถึงปัจจุบัน ITAP ได้ดำเนินโครงการ “การพัฒนาอาหารสุขภาพเพื่อสังคมผู้สูงอายุ” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และช่วยพัฒนาผู้ประกอบการในการปรับทิศทางการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภคที่มีจำนวนมากในสังคมผู้สูงอายุ จากการดำเนินโครงการ 3 ปี ได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารที่พร้อมจำหน่าย เช่น เยลลี่สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาการกลืน ซุปข้นสำหรับรับประทานระหว่างมื้อ เครื่องดื่มมันเทศผสมธัญพืชที่มีค่า GI ปานกลาง และไข่ขาวผงพร้อมชง สำหรับผู้ที่ต้องการโปรตีนสูง เป็นต้น




“การที่ ITAP สวทช. ผนึกกำลังกับหน่วยงานที่พร้อมสนับสนุนการวิจัยเฉพาะด้านในเชิงลึก เพื่อสร้างขีดความสามารถของประเทศไทย อย่าง TCELS จึงเกิดโครงการ “การวิจัย พัฒนา และทดสอบทางคลินิกสำหรับอาหารฟังก์ชั่น” ซึ่งจะเป็นกลไกช่วยสนับสนุนและพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทย ที่มีศักยภาพด้านการผลิตอยู่แล้ว ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ในกลุ่มอาหารฟังก์ชั่น และการวิจัยทางคลินิก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภค และเป็นข้อมูลที่สามารถพิสูจน์ได้ ในการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยโครงการฯ จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มผู้ผลิตส่วนผสมอาหาร (Food Ingredients) และกลุ่มผู้ผลิตอาหาร (Food Industries) โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา โดยเฉพาะอาจารย์แพทย์ นักกำหนดอาหาร นักโภชนาการ นักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงนักการตลาด และปรึกษา อย. อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยบ่มเพาะและสร้างแนวคิดผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชั่นร่วมกับผู้ประกอบการ และผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การทำ Nutrition Workshop เพื่อรู้และเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการให้มากขึ้น และใช้ความรู้ด้านโภชนาการ มาออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ การศึกษาดูงานอาหารฟังก์ชั่น ณ ต่างประเทศ รวมถึงการเข้าใจและวิธีการทำตลาดให้โดนใจผู้สูงอายุ เป็นต้น เพื่อเป้าหมายปลายทางที่ต้องการให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาอาหารฟังก์ชั่นที่ผลิตโดยคนไทย และมีผลการวิจัยในมนุษย์ ซึ่งโครงการนี้นับเป็นก้าวสำคัญ และจะมีก้าวต่อๆ ไป สู่การวิจัยพัฒนาอาหารเฉพาะบุคคล อาหารตามยีน หรือ Nutrigenomics ให้สังคมผู้สูงอายุ มีสุขภาพดี มีอาหารอร่อย และปลอดภัย และลดความเสี่ยงของการเกิดโรค NCDs” ผู้อำนวยการโปรแกรม ITAP สวทช. กล่าว



ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและนวัตกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELSกล่าวว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ฯ มีบทบาทในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสุขภาพ ให้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเน้นให้การสนับสนุนการวิจัยและการเข้าถึงการบริการของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพและการแพทย์ เช่น การทดสอบวิจัยในเซลล์ ในสัตว์ทดลอง และในมนุษย์ เพื่อยื่นประกอบการพิจารณาอนุญาตฉลากอาหารและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น



เป็นที่ทราบกันดีว่า ผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพหรืออาหารฟังก์ชั่นมีการเติบโตขึ้นทุกปี เนื่องจากมีผู้ป่วยด้วยโรค Chronic Diseases (คือ โรคเรื้อรัง) และโรค NCDs (คือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากไลฟ์สไตล์วิธีการใช้ชีวิต) มากขึ้น จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกเพิ่มขึ้น สุขภาพจึงเป็นปัญหาสำคัญของผู้สูงอายุ ด้วยการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เป็นไปตามวัย เกิดโรคได้ง่าย เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคเบาหวาน ข้อเสื่อม รับประทานอาหารได้น้อยลง รวมถึงการเคี้ยวและการกลืน แนวคิดการป้องกันก่อนเกิดโรค หรือการบำบัดด้วยโภชนศาสตร์ มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วตามความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การศึกษาวิจัยความเชื่อมโยงระหว่างอาหารที่บริโภคกับการแสดงออกของยีน (Nutrigenomics) การพัฒนาอาหารเฉพาะบุคคล (Personalized Foods) เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค ดังนั้น หากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทย ปรับกลยุทธ์การผลิต จากที่ผลิตอาหารทั่วไป เป็นผลิตอาหารฟังก์ชั่น หรืออาหารมีวัตถุประสงค์พิเศษ สำหรับสังคมผู้สูงอายุ และรองรับความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้อย่างแท้จริง ย่อมสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมได้อย่างแน่นอน

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line