เสริมพลังการนำร่วม เสริมพลังความสุขร่วมในสังคม

เสริมพลังการนำร่วม เสริมพลังความสุขร่วมในสังคม

ทิศทางในการสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมสมัยใหม่ มีแนวโน้มปรับเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนด้วย “ผู้นำเดี่ยว (Heroic leadership)” สู่ “การทำงานร่วม (Collective leadership)” ซึ่งเป็นการทำงานโดยอาศัยปัญญาร่วมของกลุ่ม ทักษะ ความสามารถ ความถนัดของแต่ละบุคคล ประกอบกับ “ทักษะของการบริหารความสัมพันธ์” เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ บนฐานของความเข้าใจ ใส่ใจ และมีความสุขร่วมกัน (Collective happiness)


โครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่เชื่อมโยงการหล่อเลี้ยงพลัง และเปิดมุมมองแห่งการเรียนรู้ในด้านนี้แก่แกนนำภาคีภาคประชาสังคม (NGOs) มาตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 5 ปี และในปีนี้ได้ขยายผลไปสู่ทีมงาน เพื่อหนุนเสริมความเข้มแข็งการทำงานในด้าน “ความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งจากภายใน” โดยกิจกรรมที่พึ่งผ่านมาเป็นการจัดให้กับตัวแทนคนทำงานจากสมาคมพังงาแห่งความสุข สงขลาฟอรั่ม และภาคีจากจังหวัดสงขลา ณ โรงแรมภูงา จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 18 – 20 กุมภาพันธ์ 2562

คุณณัฐฬส วังวิญญู วิทยากรจากสถาบันสู่ขวัญแผ่นดิน ได้อธิบายถึงเป้าหมายในการจัดกระบวนการครั้งนี้ว่า “ในการจัดผลและทีมมีเป้าหมายต้องการให้คนทำงานได้ไคร่ครวญกับตัวเองว่า สภาวะภายใน ณ ปัจจุบันของตนเป็นอย่างไร และจะสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้มีความสุขและมีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง เพราะสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การทำงานร่วมที่มีความหมาย คือ การมีความสัมพันธ์ที่ดี”

กิจกรรมที่เกิดขึ้นใน 3 วัน ถูกออกแบบร้อยเรียงมาให้เกิดการทำงานกับตัวเองในด้านต่าง ๆ เริ่มด้วย “การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)” รับฟังด้วยความตั้งใจ เคารพและห้อยแขวนการตัดสิน เพื่อให้สามารถรับรู้ได้ถึงเนื้อหา ความรู้สึก และคุณค่าเบื้องลึกที่ผู้สื่อสารต้องการจะบอกเล่า “สัตว์ 4 ทิศ” เรียนรู้แรงขับเคลื่อนภายในที่ส่งผลให้แสดงออกมาเป็นพฤติกรรม เพื่อให้รู้จักและเข้าใจทั้งตนเองและผู้อื่นมากขึ้น  “ลงพื้นที่งานวัฒนธรรมนอนหาดของชาวมอแกลน ณ หาดทรายแก้ว จังหวัดภูเก็ต” การได้ลองปะทะกับสิ่งที่แตกต่าง แล้วสังเกตความรู้สึกและความคิดของตนเองที่เกิดขึ้น

เมื่อทำงานกับตนเองผ่านการรับฟังเสียงจากภายในที่แท้จริงและเรียนรู้จากความแตกต่างหลากหลายของผู้อื่นแล้ว จึงขยับมาสู่การสังเกตแรงขับเคลื่อนในการทำงานและความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ผ่านกระบวนการเรียนรู้เรื่อง “การพัฒนาตนเองแบบองค์รวม” สังเกตสภาวะ ณ ปัจจุบันขณะของตัวเอง ทั้งในด้านจิตใจ ความแข็งแรงของร่างกาย ความยืดหยุ่น และเงามืดที่เป็นแรงขับ ฯลฯ “Integral Model” ตรวจสอบแรงขับเคลื่อนในการทำงานว่ามาจากส่วนไหนมากน้อยเพียงใดระหว่าง ตนเอง วัฒนธรรม ระบบ และผลลัพธ์ “บันได 5 ขั้น สู่ความสำเร็จ” สะท้อนการทำงาน 2 แบบ คือแบบปกติ (Normal Mode) และ

แบบปกป้อง (Defensive Mode) ซึ่งในแบบปกติจะเป็นการทำงานด้วยความรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ ผูกพัน เกิดเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีความหมาย แต่ในแบบปกป้องที่ตรงกันข้ามจะเป็นการก้าวไปสู่การทำงานร่วมที่ล้มเหลว

กระบวนการเรียนรู้สุดท้ายที่เกิดขึ้น คือ “8 Acts” ทีมกระบวนกรได้แสดงละคร 8 ฉาก สะท้อนให้เห็นถึงบริบทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงานจริง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ใคร่ครวญสิ่งที่เรียนรู้ทั้งหมดจากในเวทีและประสบการณ์ตรงที่เคยเกิดขึ้น ความโดดเด่นของกระบวนการทั้งหมด คือ การที่ผู้เข้าร่วมได้ก้าวออกจากโหมดปกป้องตนเองมาสู่พื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้คนทำงานจากองค์กรเดียวกันและต่างองค์กรได้เปิดใจสะท้อนคิด (Reflection) และเรียนรู้ (Learning) ร่วมกัน

คุณไมตรี จงไกรจักร แกนนำภาคประชาสังคมสมาคมพังงาแห่งความสุข สะท้อนถึงความสำคัญของการนำร่วมว่า “พี่เชื่ออย่างสุจริตใจว่าการทำงานไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ จะต้องมีเป้าหมายร่วม มีความสัมพันธ์อันดี และทำงานเป็นทีม โดยนำต้นทุนที่มีมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด การนำร่วมเป็นการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ได้จริง เมื่อไหร่ก็ตามที่เราสร้างผู้นำเดี่ยวจะไม่มีทางไปต่อได้ ดังนั้นแล้วพี่จึงส่งคนทำงานที่อาจไม่ใช่ผู้นำแถวหน้ามาเรียนรู้ เพื่อให้พวกเขามีศักยภาพที่ทัดเทียม เพราะในระยะยาวคนกลุ่มนี้จะขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการทำงานต่อไป”

ในส่วนของผู้นำรุ่นเล็ก คุณอภิศักดิ์ ทัศนี จากสงขลาฟอรั่ม ได้สะท้อนความรู้สึกที่เกิดขึ้นในการเรียนรู้ตลอด 3 วันว่า “ประทับใจทุกกระบวนการที่เกิดขึ้นในงาน ทุกเครื่องมือเป็นการทำงานกับตัวเอง เหมือนเป็นกระจกส่องเข้าไปให้เราเห็นและเข้าใจความรู้สึกนึกคิดและการแสดงออกของตัวเอง รวมถึงได้เข้าใจผู้อื่นอย่างที่เขาเป็นจริง ๆ มากขึ้น ไม่ใช่จากสิ่งที่เราคิดว่าเขาเป็นหรือไปตัดสินเขา”

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line