วิศวะมหิดล เปิด Innogineer Studio ศูนย์เมคเกอร์อัจฉริยะทันสมัยที่สุดในไทย

วิศวะมหิดล เปิด Innogineer Studio ศูนย์เมคเกอร์อัจฉริยะทันสมัยที่สุดในไทย

ในวาระครบรอบ 131 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล และตอบรับโลกยุคดิสรัปทีฟ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี  ดีเดย์เปิด “อินโนจีเนียร์ สตูดิโอ ( Innogineer Studio)” ศูนย์เมคเกอร์สเปซอัจฉริยะที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก ศ.คลินิค นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิด รองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยศักยภาพของเมคเกอร์และสตาร์ทอัพในการสร้างนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเปิดเวที เสวนาเรื่อง “Maker Power 2019 ... พลังไทยบนเวทีโลก” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ดร.สักกเวท ยอแสง หน.ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น สนง.ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), คุณอภิโชค ประเสริฐรุ่งเรือง สตาร์ทอัพผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Airportel จำกัด และ รศ.ดร. พลังพล คงเสรี คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล


ศ.คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร (Udom Kachintorn) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โลกวันนี้และอนาคตที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล ท่ามกลางการแข่งขันที่ร้อนแรง นวัตกรรมจึงเป็นเรื่องของทุกคน ทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษา อุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนที่ต้องผนึกกำลังสนับสนุนคิดค้นเทคโนโลยีและต่อยอดนวัตกรรม ตอบโจทย์ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิด Innogineer Studio ศูนย์เมคเกอร์สเปซอัจฉริยะทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ครั้งนี้สะท้อนถึงการปฏิรูปการศึกษาของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นรูปธรรมโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทั้งให้ความสำคัญของการส่งเสริมผลักดันเมคเกอร์และผู้ประกอบการ Startup รุ่นใหม่ให้มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นฟันเฟืองสำคัญที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้ และสามารถประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมออกมาให้ตอบโจทย์แก้ปัญหาแก่สังคมและภาคอุตสาหกรรมได้ นับเป็นศูนย์เมคเกอร์สเปซที่ครบครันด้วยเครื่องมือเทคโนโลยีพัฒนาต้นแบบประสิทธิภาพสูง โดย Eco System แห่งนี้ จะบ่มเพาะนักศึกษาและเมคเกอร์พันธุ์ใหม่ ได้มีพื้นที่ในการแสดงออก ฝึกฝนทักษะความรู้ เข้าถึงและก้าวทันเทคโนโลยี คิดค้นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์แก่สังคมและมนุษยชาติ

ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ (Jackrit Suthakorn) คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในวาระครบรอบ 131 ปี ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นสู่การเป็น “World Class University” มหาวิทยาลัยระดับโลก ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง Times Higher Education World University Ranking 2019 ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ประจำปี 2019 และอยู่ในอันดับที่ 601 - 800 จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกนั้น  ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมุ่งมั่นสู่การเป็น “World-Class Engineering”  ได้เปิดศูนย์ Innogineer Studio ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวคิดที่มุ่งหวังสร้าง “สังคมนวัตกรรมและผู้ประกอบการ” ให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม จาก SMEs สู่ Startup บ่มเพาะความรู้และปลูกฝังความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) และทักษะด้านเทคนิคชั้นสูง (Technical and Hand-on skills) ให้กับนักศึกษา เมคเกอร์ สตาร์ทอัพ วิศวกรและนักวิจัยสาขาต่าง ๆ เป็นพื้นที่อิสระทางความคิดปลดปล่อยจินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน

ศูนย์ Innogineer Studio มีพื้นที่รวมกว่า 800 ตารางเมตร ก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยีระดับโลกประกอบด้วย 1.Mechanical Studio ครบครันด้วย Milling Machine , CNC Machine 2. Electric Studio ก้าวหน้าด้วยอุปกรณ์ เช่น Electronic Supplier , Microcontroller , Oscilloscope , Power Supply , Function Generator 3. Assembly Studio อุปกรณ์สุดล้ำ เช่น 3D Scanner ความละเอียดสูงแบบหัวเข็มพร้อมเลเซอร์สแกนเนอร์ (3D Laser Scanning Arm CMM System) 4. Prototyping Studio เช่น 3D Printer , อุปกรณ์ขึ้นรูปพลาสติกแบบ 3D 5. Machine Studio ประกอบไปด้วย เครื่องตัดโลหะ เครื่องกลึง 6.Gallery Room พื้นที่แสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม 7.Co-Working Space พื้นที่แหล่งเรียนรู้และสร้างนวัตกรรม รองรับคนได้ 30-40 คน 8. Meeting Room พื้นที่ห้องประชุมพร้อมอุปกรณ์รองรับได้ 20-30 คน รวมถึง Innogineer Studio Shop จัดแสดงโชว์เคสผลงานนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ได้ยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งสามารถใช้งานได้จริง

ศูนย์ Innogineer Studio จะเชื่อมต่อกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและระบบสนับสนุนของมหาวิทยาลัยมหิดล (Entrepreneurial Ecosystem) หลายส่วน เช่น หน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ที่สนับสนุนการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์สำหรับนักศึกษาที่มีแนวคิดในการทำธุรกิจอีกด้วย คาดว่าจะดึงดูด Maker และ Startup เข้ามาใช้บริการ ปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย และจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจและต่อยอดนวัตกรรมออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งยกระดับความร่วมมือระหว่างธุรกิจอุตสาหกรรมกับเมคเกอร์คนรุ่นใหม่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสู่ตลาดในวงกว้างต่อไป

ด้านแผนงานในอนาคต ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์  เผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็น Innovation Hub ทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพ ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุด เราได้ร่วมมือกับ การรถไฟแห่งประเทศไทยในการพัฒนาระบบรางและผังเมืองน่าอยู่ เนื่องจากพื้นที่ศาลายาจะมีระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงศิริราช - ตลิ่งชัน ระยะทาง 5.7 กม. และช่วง ตลิ่งชัน - ศาลายา ระยะทาง 14.8 ก.ม. กำหนดแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2565  ประกอบด้วย สถานีบ้านฉิมพลี , สถานีกาญจนาภิเษก , สถานีศาลาธรรมสพณ์ เป็นสถานีระดับดินและสถานีศาลายา เป็นสถานียกระดับรองรับรถไฟทางไกล เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและก้าวหน้า รองรับการเจริญเติบโตของเมือง ในด้านศูนย์ศึกษาวิจัยและนวัตกรรมครบวงจร ประกอบด้วย 1. ห้องปฏิบัติการและศูนย์วิจัยที่ชำนาญด้านต่าง ๆ ภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหิดล 2. Innogineer Studio เปรียบเสมือนเวิร์คช็อป ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามาทำโปรเจคต่าง ๆ สร้างชิ้นงานและต้นแบบจากความคิดสร้างสรรค์ 3. Innogineer BAY ศูนย์ฝึกหัดด้านหุ่นยนต์และระบบ AI ที่ทันสมัยระดับโลก  4. Innogineer BI (Business and Industry) เป็นศูนย์บริการและนวัตกรรมให้คำปรึกษาแก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม กำหนดเปิดในเดือน เมษายน 2562 และ 5.ศูนย์หุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูง มูลค่าลงทุนรวม 1,200 ล้านบาท กำหนดเปิดเฟสแรกในปี 2563 และเฟสสองในปี 2564 

นอกจากนี้ ในปี 2564 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพในนามประเทศไทยจัดงานแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก RoboCup Bangkok 2021 ครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งจะสร้างชื่อเสียงของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยให้เป็นที่รู้จักบนเวทีโลก เป็นพลังกระตุ้นความก้าวหน้าและการเติบโตในงานวิจัย ออกแบบและผลิตหุ่นยนต์ และระบบออโตเมชั่น รวมทั้งการศึกษาของเยาวชนและความร่วมมือทางเทคโนโลยีกับนานาประเทศ

 

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line