สวทช. ตั้ง ‘โรงงานผลิตพืช’ เพื่อขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย

สวทช. ตั้ง ‘โรงงานผลิตพืช’ เพื่อขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. ตอบโจทย์โครงการ ‘BIG ROCK’ (บิ๊กร็อก) ตั้งโรงงานผลิตพืช หรือ Plant Factory (แพลนต์แฟคตอรี) ที่อุทยานวิทย์ฯ ปทุมธานี โดยใช้เทคโนโลยีสุดล้ำจากญี่ปุ่น ผลิตพืชในระบบปิด สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมที่พืชใช้เจริญเติบโตตามต้องการ มีระบบกรองอากาศ ปราศจากเชื้อโรค ตั้งเป้าผลิตพืชสมุนไพรไร้สารตกค้าง เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับสกัด “สารสำคัญมูลค่าสูง” ป้อนตลาดยา-อาหารเสริม-เวชสำอาง เสริมจุดแข็งทรัพยากร มุ่งสู่เศรษฐกิจชีวภาพ 
 
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี: กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัว ‘โรงงานผลิตพืช’ หรือ ‘Plant factory’ ภายใต้โครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่ หรือ BIG ROCK ในงานประชุมวิชาการสวทช. ประจำปี 2562 (NAC2019) (สวทช. จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 มีนาคมนี้) พร้อมเดินหน้าวิจัยและผลิตพืชมูลค่าสูง โดยเฉพาะกลุ่มพืชสมุนไพรไทยที่มีสารออกฤทธิ์สำคัญต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยาจากกระบวนการชีวภาพ เวชสำอาง และสารเสริมสุขภาพที่ปลอดภัย นับเป็นการเพิ่มมูลค่าความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย ตอบโจทย์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) 
 
ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ดำเนินโครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่ หรือ BIG ROCK และให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ไบโอเทค สวทช. ในการดำเนินโครงการโรงงานผลิตพืช ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งไบโอเทคได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชด้วยแสงไฟเทียม หรือ Plant Factories with Artificial Lighting (PFALs) จากมหาวิทยาลัยชิบะ ประเทศญี่ปุ่น และได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์โทโยกิ โคไซ (Prof. Toyoki Kozai) บิดา Plant Factory ของโลกมาเป็นที่ปรึกษาในโครงการ
 
“โรงงานผลิตพืช เป็นเทคโนโลยีการปลูกพืชในระบบปิดหรือกึ่งปิด ที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆ ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชได้อย่างสมบูรณ์ เช่น ช่วงคลื่นแสง ความเข้มแสง อุณหภูมิ ความชื้น แร่ธาตุต่างๆ รวมถึงปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยแหล่งกำเนิดแสงที่นำมาใช้แทนแสงอาทิตย์จากธรรมชาติ คือแสงจากหลอดไฟ LED ซึ่งให้ความร้อนน้อยกว่าและประหยัดไฟมากกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์ ที่สำคัญคือเลือกสี ความยาวคลื่นแสง ตามความเหมาะสมของชนิดพืชและระยะการเจริญเติบโตได้  ซึ่งจะช่วยให้พืชที่ปลูกให้ผลผลิตสูงและผลิตสารสำคัญ ตามต้องการ
ปัจจุบันนี้โรงงานผลิตพืชสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะได้เริ่มทดลองปลูกพืชสมุนไพร เช่น ใบบัวบก ฟ้าทะลายโจร รวมถึงพืชมูลค่าสูงชนิดอื่นๆ ไบโอเทคจะดำเนินงานวิจัยเพื่อศึกษาปัจจัยการเพาะปลูกที่ทำให้พืชสมุนไพรสร้างสารออกฤทธิ์สำคัญต่างๆ ได้ปริมาณสูง
 
เนื่องจากประเทศไทยมีการใช้และส่งออกสมุนไพรและผลิตภัณฑ์แปรรูปมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดโลกมีมูลค่าสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่ประเทศไทยยังไม่สามารถขยายตลาดการส่งออกได้ เพราะการปลูกสมุนไพรในระบบเดิมยังมีปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และความไม่คงที่สม่ำเสมอของปริมาณสารสำคัญต่างๆ ดังนั้นโรงงานผลิตพืชจะช่วยการควบคุมปัจจัยที่จะทำให้สมุนไพรเจริญเติบโต และให้ผลผลิตสารออกฤทธิ์สำคัญได้ในปริมาณสูงและสม่ำเสมอ สำหรับนำไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น ยา เวชสำอาง และอาหารเสริมสุขภาพ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และจะช่วยสร้างจุดแข็งให้กับประเทศในการยกระดับเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย และขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพได้สำเร็จ”
ด้าน ดร.เฉลิมพล เกิดมณี หัวหน้าทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า โรงงานผลิตพืชของ ไบโอเทค สวทช. มีการบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งด้าน พันธุ์พืช สรีรวิทยาพืช การผลิต และวิศวกรรม รวมถึงการจัดการเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อให้การผลิตพืชมีผลิตภาพและคุณภาพสูงตามศักยภาพของพันธุ์พืชที่ใช้ในการผลิต 
โรงงานผลิตพืชของไบโอเทค สวทช.มีพื้นที่ปลูกพืช 1,200 ตารางเมตร แบ่งเป็นโซนวิจัยและโซนการทดลองระดับ production scale โดยการทดลองปลูกพืชในโซนวิจัยจะมีการประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากการวิจัยของไบโอเทค สวทช. เกี่ยวกับการจัดการสารอาหารพืช โดยเพิ่มเติมอาหารเสริมและวิตามินบางชนิดเข้าไปในระบบสารอาหารหลัก อาหารรอง ร่วมกับการปรับค่า pH ตามความต้องการ ซึ่งทำให้สามารถออกแบบสูตรสารอาหารที่เหมาะสมตามการเจริญเติบโตของพืช 
 
ดร.เฉลิมพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จุดเด่นของโรงงานผลิตพืชคือสามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ขึ้นกับฤดูกาล การปลูกพืชในชั้นปลูกซึ่งสามารถปลูกซ้อนกันได้สูงสุดถึง 10 ชั้น ทำให้เพิ่มผลผลิตได้มากถึง 10 เท่า ที่สำคัญการปลูกพืชในระบบปิดและมีระบบกรองอากาศทำให้ปราศจากเชื้อโรคและแมลง ไม่ต้องใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช ได้ผลผลิตที่ได้สะอาด ปลอดภัย ไม่มีสารตกค้าง  ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดีและมีราคาสูงกว่าตลาดทั่วไปประมาณ 1.3 เท่า โรงงานผลิตพืชหรือ Plant Factory ของสวทช.นับเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีการผลิตพืชที่จะยกระดับการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรแบบแม่นยำ (precision farming) 
ทั้งนี้ข้อมูลและองค์ความรู้ที่ได้จากการทดลองปลูกพืชในโรงงานผลิตพืชจะถ่ายทอดไปยังภาคเกษตร ชุมชน และอุตสาหกรรม โดยในขณะนี้มีบริษัทที่แสดงความสนใจอยู่จำนวนหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ไบโอเทคยังมี Plant Factory ต้นแบบระดับชุมชนอยู่ที่ ต.นาราชควาย จ.นครพนม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาระบบการผลิตสมุนไพรของจังหวัดนครพนม ให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพสำหรับผลิตยาให้แก่โรงพยาบาลเรณูนคร  เพื่อใช้ในโรงพยาบาลและกระจายในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลของ จ.นครพนม และยังมีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในชุมชนนาราชควาย ของกลุ่มผู้สูงอายุ จากโรงเรียนผู้สูงอายุ ตำบลนาราชควาย เพื่อเป็นการส่งเสริมสังคมสุขภาพและเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ที่สอดคล้องกับบริบทและชุมชนในพื้นที่บนฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ


REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line