สร้างรายได้อย่างมั่นคง ทุเรียนคุณภาพ

สร้างรายได้อย่างมั่นคง ทุเรียนคุณภาพ

ชมรมสื่อบ้านนอก มูลนิธิปิดทองหลังพระ นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.ปัตตานี เพื่อติดตามความคืบหน้า โครงการทุเรียนคุณภาพ ซึ่งมูลนิธิปิดทองหลังพระฯได้นำศาสตร์พระราชามาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนและการไม่มีงานทำ ทั้งนี้มุ่งให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถพึ่งพาตนเองได้


นายกรัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

 

นายกรัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการปลูกทุเรียนคุณภาพเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 โดยคัดเลือกให้พื้นที่ ต.ตาเนาะปูเต๊ะอ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นพื้นที่ต้นแบบตามยุทธศาสตร์ “ทุเรียนซิตี้” โดยส่งเสริมความรู้การดูแลบำรุงรักษาและเชื่อมโยงตลาดให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน 18 รายๆละประมาณ 20 ต้นผลจากการดำเนินงานโครงการฯทำให้มีรายได้เฉลี่ยรายละ 129,856 บาท ซึ่งเมื่อเทียบรายได้เฉลี่ยต่อต้นของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้ต่อต้น 8,578 บาท ซึ่งแบบเดิมมีรายได้แค่ 2,252 บาทต่อต้น สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.8 เท่าต่อต้น จากความร่วมมือกันอย่างเป็นเอกภาพของประชาชนภาครัฐและเอกชน

 

การดำเนินงานโครงการฯในปี 2561 ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในปี 2562 ปิดทองหลังพระฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ขยายผลวิธีการดำเนินงานครอบคลุม 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส) ใน 13 อำเภอ 37 ตำบล มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 664 รายจำนวน 22,508 ต้น มุ่งแก้ปัญหาให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในเรื่องการตัดทุเรียนอ่อนการถูกกดราคาการขายแบบเหมาสวนการดูแลแบบรอฟ้ารอฝนและส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนอยู่เดิมพัฒนาการปลูกทุเรียนให้มีคุณภาพตามปริมาณตามความต้องการของตลาด

ทั้งนี้โครงการได้คัดเลือกอาสาทุเรียนคุณภาพ และส่งไปฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการณศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียง ต.วังหว้า อ.แกลง จ.ระยองตั้งแต่การดูแลถึงการเก็บเกี่ยวจำนวน 91 คน ระหว่างเดือนธันวาคม 2561 – พฤษภาคม 2562

นายกรัณย์ ยังกล่าวว่า พื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เป็นหนึ่งในพื้นที่เข้าร่วมโครงการทุเรียนคุณภาพ กับ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งได้ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และ ผู้ว่าราชการ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อจะทำให้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพที่ดี และมีการดูแลอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ ทั้งเรื่องการจัดระบบน้ำ และตัดแต่งดอก และ กิ่งทุเรียน  ปุ๋ย การแก้ปัญหาหนอนเจาะเมล็ดซึ่งถือว่าเป็นปัญหาหลัก สำหรับในพื้นที่ อ.รือเสาะ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 43 คน จำนวน 3,100  ต้น

“ถ้าเราทำของดี เราจะไม่ต้องขายเหมาสวน 40 บาทต่อกิโลกรัม เราอาจจะขายได้ถึง 70-80 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรแบบประณีตตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ ซึงน้ำก็เป็นปัจจัยสำคัญ สำหรับทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่นี่จะมีความแตกต่างจากพื้นที่อื่น มีรสชาติหอมหวาน เส้นใยน้อย และเปลือกบาง”

 

นายศรัณย์ สุขประวิทย์ หัวหน้างานโครงการทุเรียนคุณภาพ หัวหน้าโครงการทุเรียน สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลัง พระสืบสานแนวพระราชดำริ

นายศรัณย์ สุขประวิทย์ หัวหน้างานโครงการทุเรียนคุณภาพ หัวหน้าโครงการทุเรียน สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลัง พระสืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า ทางโครงการได้คัดเลือกอาสาทุเรียนคุณภาพ ใน อ.รือเสาะ จำนวน 11 คน ส่งไปฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการณศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียง ต.วังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง ถึงขั้นตอนต่างๆ การบำรุงต้น บำรุงใบ การผสมดอก การให้ปุ๋ย ให้ยา การป้องการหนอนเจาะเมล็ด จนถึงขั้นตอนการเก็บ ก่อนที่อาสาจะกลับมาคอยเป็นพี่เลี้ยงให้แนะนำแก่เกษตรกร

สำหรับราคาของทุเรียนนั้นขึ้นอยู่กับกลไกของตลาด แต่เปลี่ยนวิธีการรับซื้อจากเดิมที่ขายแบบเหมาสวน ซึ่งได้ราคาต่ำ การจัดการสวนที่ดีขึ้นจะมีการเชื่อมกับราคาตลาดในการคัดเกรด  A B C และ ตกไซต์

 

โดยราคาคัดเกรดทางโครงการจะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด โดยราคาในปีที่แล้ว ทุเรียน เกรด A , B จะอยู่ที่ 65 บาท แต่ทางโครงการรับซื้อในราคา 80 บาท เนื่องจากไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางทำให้ราคารับซื้อสูงกว่าท้องตลาดทั่วไป สำหรับต้นทุนการผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 15-16บาท / 1 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับการดูแล โดยตั้งเป้าไว้ในปี 2562 นี้ ทุเรียน เกรด A , B ต้องอยู่ที่ 60% และทุเรียนหนอนต้องไม่เกิน 15%

“อาสาฯ1 คน จะรับผิดชอบส่งเสริมติดตามทุเรียนประมาณ 300 ต้น อาสาฯจะลงพื้นที่ทุกวัน ติดตามผล รายงานผลลงสมุดบันทึก ก่อนจะรายงานไปยังอำเภอ เพื่อเป็นตัวเชื่อมความรู้ นำปัญหาสู่การแก้ไข สำหรับอาสาฯที่จะได้รับการคัดเลือก จะเป็นลูกหลานของเกษตรกร การพัฒนาอาสาก็เสมือนพัฒนาคนในพื้นที่เมื่อโครงการสิ้นสุดอาสาเหล่านี้จะได้ดูแลพื้นที่ต่อไป”

ขณะที่ 1 ใน 11 อาสาฯและหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า จากเดิมเกษตรกรปลูกทุเรียนตามธรรมชาติ ปล่อยตามมีตามเกิด ขาดการบำรุงรักษา ถึงเวลาออกลูกออกผลก็ขายกันแบบเหมาสวน ทำให้ได้ราคาไม่ดี หลังจากเข้าร่วมโครงการและไปอบรมที่ จ.ระยอง ได้นำความรู้มาถอดบทเรียนและประยุกต์ใช้ในพื้นที่เนื่องจากภาคตะวันออกฤดูกาลจะแตกต่างไปจากภาคใต้ โดยได้นำความรู้มาแนะนำให้กับเกษตรกร และได้รับความมือจากเกษตรกรเป็นอย่างดีปัญหาหนอนเจาะเมล็ด เป็นปัญหาสำคัญที่ทำทุเรียนตกเกรดไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

“ขอบคุณมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ที่นำโครงการดีๆมาให้กับชาวบ้าน เมื่อก่อน ทุเรียน 79 ต้น เมื่อขายผลผลิต ได้ 1 แสนกว่าบาท เมื่อโครงการนี้เข้ามา ทำให้ขายผลผลิตได้เงินถึง 4 แสนบาท”

Comments

Share Tweet Line