วสท.เสนอแนะรัฐบาลใหม่ “ผนึกกำลังฝ่าวิกฤติฝุ่นพิษ PM 2.5 ชี้แนะอยู่กับฝุ่นอย่างไร…ให้ชีวิตรอดปลอดภัย”

วสท.เสนอแนะรัฐบาลใหม่ “ผนึกกำลังฝ่าวิกฤติฝุ่นพิษ PM 2.5 ชี้แนะอยู่กับฝุ่นอย่างไร…ให้ชีวิตรอดปลอดภัย”

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย คณะกรรมการสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จัดเวทีเสวนาระดมความคิด เรื่อง “ผนึกกำลังฝ่าวิกฤติฝุ่นพิษ PM 2.5 อยู่กับฝุ่นอย่างไร…ให้ชีวิตรอดปลอดภัย”พร้อมข้อแนะนำแก่รัฐบาลใหม่  โดยมุ่งเสนอการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนแก่รัฐบาล และประชาชนในการอยู่กับฝุ่นอย่างไรให้ชีวิตรอดปลอดภัย ทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน โดยมีผู้ร่วมเสวนา ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ศ.ดร. ธเรศ ศรีสถิตย์ สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมไทย รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ กรรมการสาขาวิศวกรรมยานยนต์ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และ วิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช  และ คุณสนธิ คชวัฒน์ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ตลอดจนหลายองค์กรจากภาครัฐ ภาคเอกชน วิศวกร นักวิจัยและประชาชน


ปัญหาและสาเหตุ ฝุ่นควันพิษในภาคเหนือมีสาเหตุที่แตกต่างไปจาก กทม. โดยมาจากการลักลอบเผา ไฟป่า การเผาตอซังเกษตรและการเผาในที่โล่ง การเผาไหม้เชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ และฝุ่นควันจากประเทศใกล้เคียง เนื่องจากในฤดูร้อนจะเกิดการทับถมของใบไม้และกิ่งไม้จำนวนมาก จึงกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีและยากต่อการควบคุม เปรียบเทียบพื้นที่ไฟป่า 9 จังหวัดภาคเหนือ ในช่วงระหว่าง 1 ต.ค. – 27 มี.ค. ในพื้นที่ภาคเหนือ ปีงบประมาณ 2562 จำนวน 49,565 ไร่ และปี 2561 จำนวน 28,118 ไร่ จนรัฐบาลมีคำสั่งคลี่คลายปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อลดฝุ่นควันและจุดความร้อน Hot Spot สถิติประเทศไทยมีการปลูกข้าวโพดกว่า 7 ล้านไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วิธีเผาเพื่อเตรียมเพาะปลูกใหม่ นอกจากสร้างมลพิษแล้วยังทำให้ดินเสียหาย ถึงเวลาที่เกษตรกรไทยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ มาใส่ใจและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น โดยใช้วิธีไถกลบเป็นปุ๋ยแทนการเผาทำลาย หรือแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ภาครัฐควรใช้กลไกที่เข้าถึงระดับรากหญ้า ถ้าไม่ให้เผาทำลาย จะทำอย่างไรที่จะไม่มีภาระค่าใช้จ่ายมากเกินไป  เช่น ควรจัดหาอุปกรณ์เครื่องจักรกลางหรือบริการเช่าไถกลบในราคาไม่แพง ส่งเสริมนำซังข้าวโพดมาผลิตเป็นถ่านอัดแท่ง นำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และนำเปลือกข้าวโพดมาหมักใช้เป็นอาหารสัตว์ เป็นต้น ในด้านการฟื้นฟูคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ควรเพิ่มพื้นที่สีเขียวในทุกจังหวัดด้วยความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน ตัวอย่างประเทศจีน เร่งโครงการปลูกป่าในระยะเวลา 5 ปีนี้ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 70,000 ตร.กม. ซึ่งมีอาณาเขตกว้างกว่าขนาดประเทศฝรั่งเศส

ส่วนปัญหาฝุ่นพิษในกรุงเทพมหานครนั้น  ขณะที่ประเทศไทยมียอดจดทะเบียนรถยนต์สะสมประมาณ 20 ล้านคัน ในจำนวนนี้ 10.3 ล้านคัน จดทะเบียนในกรุงเทพฯ และเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซล 2.6 ล้านคัน ซึ่งใช้มาตรฐานไอสียยูโร 1,2,3,4 หากใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้นเป็นยูโร 5 ก็จะช่วยลดปริมาณฝุ่นควันจากท่อไอเสีย ทางกระทรวงอุตสาหกรรมควรเร่งรัดความร่วมมือกับ 12 ค่ายรถยนต์ให้เป็นจริงโดยเร็ว เช่น ยกระดับการผลิตรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ทุกคันภายในปี 2564 และวางแผนเตรียมยกระดับเป็นมาตรฐานยูโร 6 ภายในปี 2565 เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยสามารถลดการปล่อยฝุ่นละอองที่เป็นพิษจากรถยนต์ใหม่ลงได้ถึง 80% ทั้งนี้สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้เรียกร้องการผลิตน้ำมันระดับยูโร 5 ด้วย เพราะทั้งรถเก่าและรถที่ขายในปัจจุบันหากใช้น้ำมันระดับยูโร 5 ก็จะสามารถลดมลพิษได้ทันที รวมถึงการยกระดับใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 ในรถยนต์ดีเซล จะทำให้การจุดระเบิดของเครื่องยนต์ง่ายขึ้น การเผาไหม้ดีขึ้น เครื่องสตาร์ทติดง่าย และการหล่อลื่นที่ดีกว่า ซึ่งช่วยลดการปล่อยควันดำสาเหตุของฝุ่น PM 2.5 ทั้งนี้จะต้องมีการเตรียมความพร้อมทุกด้าน ทั้งผู้ผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และบริการน้ำมันยูโร 5 อย่างทั่วถึง และรัฐบาลต้องเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์เก่า โดยใช้มาตรการตรวจสอบการปล่อยไอเสียอย่างจริงจังและเก็บภาษีรายปีเพิ่มขึ้นเพื่อจูงใจให้ผู้ใช้รถเปลี่ยนซื้อรถคันใหม่แทนการเสียค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาที่สูงเกินไป 

ทั้งนี้ในที่ประชุมเสวนา วสท.ได้สรุปข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ต่อรัฐบาลใหม่ ดังนี้  

1.มาตรการด้านรถยนต์ ได้แก่การปรับเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันและเครื่องยนต์เป็นยูโร 5 และ 6 ภายใน 4 ปี, ผลักดันให้รถขนส่งธารณะและรถยนต์พ่วงบรรทุกขนาดใหญ่ใช้ NGVหรือเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์ยูโร 5, ในเขต กทม.เมื่อรถไฟฟ้าครบ Loop ต้องจำกัดปริมาณรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน เช่น ต้องมีที่จอดรถเท่านั้นถึงจะจดทะเบียนได้,ส่งเสริมและจูงใจการลงทุนการผลิตรถเครื่องยนต์ไฟฟ้าจากภาคเอกชน,ห้ามรถเครื่องยนต์ดีเซลอายุเกิน10ปีวิ่งในเขตกรุงเทพและปริมลฑล,กำหนดให้รถเครื่องยนต์ดีเซลติดตั้ง Diesel Particulate Filter หรือ DPF,ควบคุมการจราจรไม่ให้ใช้รถยนต์ เช่น ลดราคาค่ารถไฟฟ้าและลดโดยสาร  ห้ามจอดรถริมถนน  จำกัดที่จอดรถในเมือง  กำหนดเลนจักรยาน  จำกัดปริมาณมอเตอร์ไซด์ส่วนบุคคล  ปิดลานจอดรถตามหน่วยงานรัฐ  เข้มงวดการจอดรถยนต์ริมถนน เป็นต้น          

2. มาตรการด้านโรงงานอุตสาหกรรมและกิจกรรมใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิง ได้แก่ การกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยฝุ่นที่ปลายปล่องใหม่โดยกำหนดเป็นค่าLoading (ความเข้มข้น*อัตราการปล่อย)คือในช่วงปกติและช่วงฤดูหนาว( พฤศจิกายน-มีนาคม),เพิ่มประเภทโรงงานเพื่อให้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติที่ปลายปล่อง ,เก็บภาษีการปล่อยมลพิษทางอากาศ

3. มาตการลดการเผาในที่โล่ง ได้แก่ กำหนดช่วงเวลาห้ามเผาขยะ ชีวมวล วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้ชัดเจน และกำหนดมาตรการจูงใจเพิ่มเติม, รัฐสร้างเตาเผาที่มีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่เพื่อประชาชนใช้ร่วมกันโดยมีหน่วยราชการดูแลอย่างใกล้ชิด, ภาครัฐส่งเสริมวิธีการที่เป็นมิตรกับ สวล. เช่น การไถกลบวัสดุทางการเกษตร การทำปุ๋ยหมัก การทำก๊าซชีวมวล เป็นต้น ประเทศไทยต้องอาศัยกลไกในฐานะการเป็นประธานอาเซียนนำเรื่องการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนเป็นวาระสำคัญในการพิจารณาของอาเซียนตลอดจนรัฐบาลไทยต้องจัดให้การแก้ไขปัญหาหมอกควันเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดการปัญหานี้ให้ได้, ต้องทำความเข้าใจและเข้าถึงประชา ชนรากหญ้าที่ทำการเผาทุกพื้นที่โดยต้องทราบถึงปัญหาของเขาอย่างแท้จริงและถ้าไม่เผาจะร่วมมือกับรัฐอย่างไร รัฐจะช่วยเหลืออะไร ซึ่งต้องอาศัยกลไกของอำเภอ ตำบลและหมู่บ้านในระดับกำนัลและผู้ใหญ่บ้านต้องขับเคลื่อนดูแลพื้นที่ตนเองรวมทั้งใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดด้วยโดยมีตัวชี้วัดคือจำนวน Hotspot ต้องลดลง, ต้องหารือและจัดการกับทุนใหญ่ไม่ให้รับซื้อข้าวโพดและพืชไร่ที่มาจากพื้นที่ที่ทำการเผาทั้งในและนอกประเทศรวมทั้งตรวจสอบหากพบว่าผู้ประกอบการรายใดสนับสนุนและอยู่เบื้องหลังการเผาต้องแอนตี้สินค้าและดำเนินคดี       

    

4. ผังเมืองและพื้นที่สีเขียว ได้แก่ การควบคุมการขยายตัวของอาคารสูงตามแนวรถไฟฟ้าและถนนที่ตัดขึ้นใหม่ให้มีระยะห่างช่องทางของลมพัดผ่าน, การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพิ่มต้นไม้ในเมือง (City Garden) ทั้งแนวเส้นทางจราจรและสวนสาธารณะให้ได้อย่างน้อย 9.0 ตร.ม./คน เป้าหมายคือ 15 ตร.ม./คน, ริมเส้นทางจราจรที่เปิดใหม่ให้นำสายไฟและสายอื่นๆ ลงใต้ดินและปลูกต้นไม้แทน

5. การบริหารจัดการ จัดทำ Action plans ให้มีรูปแบบของการจัดการภัยพิบัติ เพื่อตอบโต้กรณีฉุกเฉินทางมลพิษทางอากาศในช่วง Winter smog ให้ชัดเจน, มีศูนย์บัญชาการตอบโต้โดยให้ผู้ว่าการจังหวัดเป็น Commander และหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุน, ให้ภาคประชาชน ชุมชนและนักวิชาการเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินการทั้งทางตรงและทางอ้อม, สร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชน ทำงานอย่างโปร่งใส ใส่ใจต่อสุขภาพของประชาชนเป็นหลักและต้องบอกความจริงเป็นระยะ, เป้าหมายทุกมาตรการนำไปสู่การลดค่ามาตรฐานฝุ่น 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่กำหนดไว้ 50 มค.ก./ลบ.ม. ให้เป็น 35 มค.ก./ลบ.ม. ภายในระยะเวลา 3 ปี

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line