CAT สร้างเสาโทรคมฯ ต้นไม้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

CAT สร้างเสาโทรคมฯ ต้นไม้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

CAT เพิ่มศักยภาพการสื่อสารในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยสร้างเสาสัญญาณโทรคมนาคมในรูปแบบเสาต้นไม้เน้นกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม พร้อมเปิดให้โอเปอเรเตอร์ทุกค่ายติดตั้งอุปกรณ์ให้บริการลูกค้าบนเสาเดียวกัน  ชูจุดเด่นเสาต้นไม้แข็งแรงทนทานรับน้ำหนักอุปกรณ์เชื่อมต่อสื่อสารได้ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G, 4G, 5G อินเทอร์เน็ต และ  LoRaWAN เพื่อการใช้งานกับ IoT  โดยจะติดตั้งครบ 100 เสาภายในปี 2562 ก่อนขยายเพิ่มจำนวนเสาใน 154 อุทยานฯทั่วประเทศ   




พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า  CAT หน่วยงานโทรคมนาคมของรัฐได้รับอนุญาตให้สร้างเสาโทรคมนาคมในรูปแบบเสาต้นไม้ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ  โดย CAT มีความพร้อมที่จะเป็นองค์กรกลางในการดำเนินการสร้างเสาดังกล่าวสำหรับกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้งานร่วมกัน เพื่อลดจำนวนเสาที่มากเกินความจำเป็น ทั้งนี้ได้เริ่มดำเนินการติดตั้งเสาต้นไม้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2561 ขณะนี้ติดตั้งแล้วเสร็จพร้อมใช้งาน 25 ต้น และตั้งเป้าหมายขยายให้ได้ถึง 100 ต้นในปี 2562   จากจำนวนอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ 154 แห่ง โดยการติดตั้งเสาต้นไม้ในอุทยานฯ แต่ละแห่งจะอยู่ในพื้นที่ที่รองรับความต้องการร่วมกันของโอเปอเรเตอร์และมีปริมาณการใช้งานของประชาชนจำนวนมาก  และล่าสุดเสาต้นไม้เปิดใช้งานแล้วที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย จ.สระบุรี



“เสาที่ติดตั้งแล้วทั้ง 25 ต้นได้เปิดให้โอเปอเรเตอร์ทุกรายติดตั้งอุปกรณ์ให้บริการสัญญาณเครือข่ายของตนอย่างเท่าเทียมกันและถูกต้องตามกฎระเบียบกรมอุทยานฯทดแทนการใช้เสาสัญญาณเดิมในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาตซึ่งต่อไปจะต้องรื้อถอนออกโดยขณะนี้ทรูและดีแทคได้เริ่มติดตั้งอุปกรณ์บนเสาต้นไม้ดังกล่าวบ้างแล้ว  ”

สำหรับการออกแบบเสาโทรคมนาคมต้นไม้ให้กลมกลืนกับทัศนียภาพแหล่งท่องเที่ยวจะตกแต่งตามสภาพป่าธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติโดยมี 3 รูปแบบคือ ต้นยางนา ต้นสนและต้นปาล์ม  โดยเสามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตร  ความสูง 32 และ 45 เมตร ตัวเสาเป็นโครงสร้างเหล็กหุ้มเปลือกลำต้นด้วยไฟเบอร์มีความแข็งแกร่งทนต่อสภาพอากาศ  ด้านระบบสื่อสัญญาณของเสาต้นไม้ CAT ได้ติดตั้งทั้งระบบไฟเบอร์ออปติกและระบบไมโครเวฟ พร้อมใช้ระบบพลังงานไฮบริดทั้งเครื่องปั่นไฟฟ้าและโซลาร์เซลล์ 


“เสาต้นไม้หนึ่งต้นจะสามารถติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อสื่อสารได้ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G, 4G, 5G อินเทอร์เน็ต,  ระบบวิทยุสื่อสาร Trunked รวมไปถึงระบบ
LoRaWAN เพื่อการเชื่อมต่อ IoT  ทั้งหมดนี้ทำให้อุทยานฯ จะได้ใช้ประโยชน์ไม่เพียงแต่เครือข่ายมือถือแต่รวมถึงเครือข่ายสื่อสารอื่นๆอย่างมีประสิทธิภาพ
อาทิ  สามารถต่อยอดใช้ IoT ในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวด้วยริสต์แบนด์และระบบแทร็กกิ้งผ่านโครงข่าย LoRaWAN ในการค้นหาตำแหน่งนักท่องเที่ยว  หรือสามารถใช้งานเครือข่ายวิทยุสื่อสาร Trunked เพื่อติดต่อสื่อสารการเดินเรือได้ในส่วนของอุทยานแห่งชาติในภาคใต้ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะ  ซึ่งในอนาคต CAT ยังมีแผนจะติดตั้งเสาต้นไม้ขนาดเล็กเพื่อเสริมในพื้นที่อับสัญญาณให้ครอบคลุมมากขึ้นอีกด้วย”  



ทั้งนี้  เสาโทรคมนาคมต้นไม้ที่ CAT ดำเนินการติดตั้งในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ถือเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่จำเป็นตามแนวทางที่กสทช.กำหนด  เพื่อปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการโทรคมนาคมรองรับความต้องการในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติให้นักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่อุทยานฯ และชุมชนในพื้นที่สามารถติดต่อสื่อสารได้สะดวกยิ่งขึ้นด้วยสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมอย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันมากขึ้น

“ปัจจุบันมีเสาสัญญาณทั้งหมดในประเทศรวมเกือบ 50,000 ต้น ซึ่งต่างคนต่างใช้งานเฉพาะตัวเองทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงทั้งค่าเช่าที่และค่าดูแลเสา  การใช้เสากลางร่วมกันจึงช่วยลดต้นทุนของผู้ให้บริการในส่วนนี้ รวมทั้งจะส่งผลดีต่อประชาชนผู้ใช้บริการ  ซึ่งในความเป็นจริงเสาโทรคมนาคม 30,000 ต้นก็เพียงพอสำหรับประเทศไทยที่จะใช้ในการให้บริการได้อย่างครอบคลุม”  พันเอก สรรพชัย กล่าวในที่สุด 

 

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line