“อภัยภูเบศร” ต้นแบบโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ใช้เกษตรอินทรีย์ ซื้อตรงเกษตรกรร้อยเปอร์เซ็นต์

“อภัยภูเบศร” ต้นแบบโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ใช้เกษตรอินทรีย์ ซื้อตรงเกษตรกรร้อยเปอร์เซ็นต์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดปราจีนบุรี เป็นเจ้าภาพในพิธีลงนามความร่วมมือ 29 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนโครงการเกษตรอินทรีย์และโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย โดยตั้งเป้าหมายขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ไว้ 15,000 ไร่ ภายในปี 2564 เพื่อรองรับการขยายตัวทางความต้องการของตลาด และเพื่อเป็นต้นแบบจังหวัดสุขภาพดีของประเทศไทย


โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร คือหนึ่งในภาคีเครือข่ายสำคัญ ที่มีจุดแข็งทางด้าน การผลิตสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง ที่กำลังได้รับความนิยมในท้องตลาด โดยวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต รับซื้อจากเกษตรกรผู้ผลิตพืขสมุนไพรด้วยเกษตรอินทรีย์ จากจุดแข็งดังกล่าว ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงเป็นต้นแบบโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ที่ใช้วัตถุดิบจากพืชเกษตรอินทรีย์ โดยได้รับซื้อจากเกษตรกรร้อยเปอร์เซ็นต์

นายแพทย์นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า อภัยภูเบศร ได้เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตที่พึ่งพาการใช้สารเคมี มาเป็นการทำเกษตรอินทรีย์ และสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้ บริโภคอาหารที่สะอาดปลอดภัย ไม่มีสารเคมีอันตรายตกค้าง ลดอัตราการเจ็บป่วยจากการบริโภคอาหารที่ไม่สะอาด ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค “ระบบเกษตรอินทรีย์ ประกันความปลอดภัยให้กับผลผลิต เริ่มตั้งแต่ เมล็ดพันธุ์ การดูแลผืนดิน การตรวจสอบการปนเปื้อนของดิน น้ำ ควบคุมการผลิต ตั้งแต่ปลูก การเก็บเกี่ยว กระบวนการดูแลหลังเก็บเกี่ยว จากวัตถุดิบอาหารที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ นำมาตรวจสอบ คัดแยกทำความสะอาดจัดเก็บรวบรวมไว้ด้วยกันที่ศูนย์รวบรวมผลผลิตอินทรีย์ จากนั้นนำส่งฝ่ายโภชนาการโรงพยาบาลทุกเช้า ซึ่งจะนำพืชผักผลไม้อินทรีย์เหล่านี้ มาปรุงอาหารตามเมนูที่ผ่านการคิดคำนวณและสร้างสรรค์ ส่งต่ออาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย ถึงมือผู้ป่วย และติดตามประเมินผล ปรับให้เหมาะสมมากขึ้น” ผอ.โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ระบุ


 
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ประสบความสำเร็จจากการทำโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย นายแพทย์นำพล บอกว่า มีอยู่กัน  3 ประการคือ 1. มีเกษตรกรที่เข้มแข็งรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ 2. มีการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายโภชนาการและเกษตรกร ตรวจสอบ ควบคุณคุณภาพ  แก้ไขปัญหา ปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้สอดคล้องกับวัตถุดิบตามฤดูกาลหาได้ในท้องถิ่น และ 3. มีระเบียบของกรมบัญชีกลางที่เอื้อต่อการดำเนินงาน โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ซื้อขายกับเกษตรกร 100 % และไม่เพียงแต่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเท่านั้นที่ทำได้ โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน และเราก็พร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษา เพื่อขยายผลไปทั่วประเทศ โดยใช้ 3 ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้เชื่อว่า พลังที่หลอมรวมกัน นำไปสู่เกษตรรายย่อยมีตลาดที่แน่นอน ธรรมชาติยั่งยืน

นางระตะนะ ศรีวรกุล ประธานสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี จำกัดกล่าวว่า การทำเกษตรอินทรีย์ ของปราจีนบุรีมีข้อดีคือ มีตลาดที่แน่นอน คือโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด โดยเราจะคัดผลผลิตเกรดเอ ส่งเข้าโรงครัว ของโรงพยาบาลฯ แล้วตลาดที่พอใช้ได้คือเราแพคไปขายเอง ขายที่ตลาดสีเขียว สามตลาดนี้สามารถรองรับผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่เราปลูกได้
 
“เกษตรอินทรีย์ทำให้สุขภาพดีแล้วก็ทำให้ราคาผลผลิตเราสูงกว่าท้องตลาด ประมาณสิบถึงสิบห้าเปอร์เซ็นต์นะครับ เราไม่ต้องเก็บตังค์ที่ว่าที่ได้จากการทำมากๆ เพื่อมารักษาสุขภาพ อันนี้เราดูแลสุขภาพของเราในตัวกำไรที่ดีที่สุดคือสุขภาพ ถ้าทุกวันนี้ไม่ได้กินพืชที่เป็นอินทรีย์ก็จะไม่อายุยืนแบบนี้ ตอนนี้เราพยายามให้รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรคิดเมนูผักพื้นบ้านซึ่งเป็นจุดแข็งของเรา เป็นสมุนไพร เป็นผักและเป็นยาด้วย กล่าวได้ว่า คนปลูกสุขใจ คนกินปลอดภัย”

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line