20 ปี สภาวิศวกร เดินหน้าพร้อมปฏิรูปสู่โลกยุคดิสรัปชั่น เน้นรับผิดชอบต่อประเทศชาติและสังคม

20 ปี สภาวิศวกร เดินหน้าพร้อมปฏิรูปสู่โลกยุคดิสรัปชั่น เน้นรับผิดชอบต่อประเทศชาติและสังคม

ในวาระครบรอบ 20 ปี สภาวิศวกรจัดเสวนาแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็น มุ่งสร้างแนวทางปฏิรูปการดำเนินงานของสภาวิศวกร และกำหนดทิศทางการบริหารงาน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกยุคปัจจุบัน พร้อมผลักดันให้สภาวิศวกรเข้าไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อประเทศชาติและสังคม ในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรม และประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตที่เก่งทั้งวิชาการและมีความเป็นมืออาชีพ


ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวในการเปิดเสวนาเรื่อง “20 ปี สภาวิศวกรไทยในยุคดิสรัปชั่น” ซึ่งจัดโดยสภาวิศวกร เมื่อวันที่ 13พฤษภาคม 2562 ณ โรงแรมเอสซีปาร์ค กรุงเทพมหานคร ว่า ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก หากวิศวกรไทยไม่ปรับตัวจะแข่งขันได้ยาก โดยกล่าวถึงวิกฤตการศึกษาไทย และวิกฤตวิศวกรไทยที่ในอดีตเคยขาดแคลน แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีเปิดการเรียนการสอนสาขาวิศวกรรมศาสตร์มากกว่า 70 แห่ง แต่กลับมีจำนวนผู้เรียนน้อยลงเพียงประมาณ3 แสนคน ซึ่งวิกฤตการศึกษานี้ประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่สถาบันการศึกษาหลายแห่งได้ปิดตัวลง กระแสคนรุ่นใหม่ไม่สนใจปริญญามีมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าไม่ตอบโจทย์ชีวิต ทำให้คนที่เรียนจบวิศวกรรมหันไปประกอบอาชีพอื่นๆ เมื่อเรียนจบ

จากข้อมูลจำนวนบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์กับการขอใบอนุญาตระดับภาคีวิศวกร พบว่าในแต่ละปีมีผู้เรียนจบสาขาวิศวกรรมจำนวนมาก แต่กลับมีจำนวนบัณฑิตที่มาขอใบอนุญาตน้อยลงทุกปี สถานศึกษาที่เป็นแหล่งผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์หลักๆ อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีบัณฑิตวิศวะมาขอใบอนุญาตน้อยลงทุกปีเช่นกัน นับเป็นวิกฤตด้านวิศวกรไทยที่คนรุ่นใหม่กำลังไม่สนใจประกอบอาชีพวิศวกร ในขณะที่วิศวกรรุ่นเก่าก็ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของโลกปัจจุบัน ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ทำให้วิชาชีพวิศวกรกำลังเข้าสู่วิกฤตคือ โครงสร้างบทเรียนที่มีการแบ่งย่อยเป็นสาขา หรือเป็นภาควิชา การเน้นการเรียนการสอนในห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ การเป็นวิชาชีพแยกตัวที่ไม่มีการเรียนรู้ในสาขาวิชาชีพอื่น และทักษะด้านวิศวกรยังเน้นเพียง hard skill ซึ่งในอนาคตการเรียนวิศวกรรมศาสตร์จะต้องเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ คือมีทั้ง hard skill และ soft skill เพื่อให้สามารถประสานงานได้กับทุกฝ่ายและทำงานได้จริง

“เราตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับโลกยุคดิสรัปชั่น เพื่อปฏิรูปวิชาชีพวิศวกรรมและอื่นๆ ซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ และเพื่อตอบโจทย์สถานศึกษา สถานประกอบการ ที่ความต้องการจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ถือเป็นการเปลี่ยนมุมมองใหม่ บทบาทใหม่ของสภาวิศวกรจากผู้ควบคุมมาเป็นผู้ดูแลและสนับสนุนทางด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี” นายกสภาวิศวกรกล่าว

การเสวนาครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาเรื่อง“การเรียนรู้ในโลกยุคดิสรัปชั่น” โดยนายแพทย์อุดมกล่าวว่าอาชีพวิศวกรนั้นถือเป็นอาชีพพื้นฐานหลักในการผลักดันประเทศ แต่ปัจจุบันคนที่เรียนจบวิศวกรกลับไปประกอบอาชีพอื่นและประสบความสำเร็จมากมาย แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิสรัปชั่น ซึ่งผู้ที่จะอยู่รอดได้คือคนหรือองค์กรที่ปรับตัวได้เท่านั้น ทั้งนี้ Business disruption นั้นมีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดตั้งแต่ปี 2000 โดยยกตัวอย่างเรื่องการศึกษาในต่างประเทศที่มีการปรับตัวมากมาย อาทิ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ที่ปัจจุบันมีการลดสาขาวิชาเรียนลงเหลือเพียง 5 คณะเท่านั้น

“พลวัตโลกในศตวรรษที่ 21 จะเปลี่ยนเร็วมาก ตลาดแรงงานจะมีความต้องการเปลี่ยนไป ในฐานะสถาบันการศึกษา หรือองค์กรวิชาชีพ สิ่งสำคัญคือ ต้องปรับตัว หากไม่ปรับตัวจะอยู่ไม่ได้ โรงงานในปัจจุบันนี้ใช้เครื่องจักร และ AI เข้ามาช่วยในการทำงาน ปัญหาที่พบของไทยตอนนี้คือ คนรุ่นใหม่ที่จบวิศวะ หรืออาชีวะ ไม่สามารถออกมาทำงานจริงๆ ได้ ไม่ตอบโจทย์การทำงาน ไม่ตอบโจทย์การแข่งขันของประเทศ แนวโน้มของโลกในศตวรรษที่ 21 คือ มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ตอนนี้ประเทศไทยมีความเสี่ยงของแรงงานที่จะถูก automation และ AI แทนที่ในปี 2030 ประมาณ 72%”

นายแพทย์อุดมให้มุมมองเพิ่มเติมว่า เป้าหมายของการเรียนรู้หรือการศึกษาในโลกยุคดิสรัปชั่นของไทยจะต้องเปลี่ยนไป คือ มุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนในวัยทำงาน ซึ่งมีจำนวน 35-40 ล้านคน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งไม่มีวุฒิปริญญา แต่เป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ ควรจะนำมา re-skill หรือ up skill เพื่ออัพเดทความรู้ใหม่ เทคโนโลยีใหม่ เป็นการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ที่ไม่มีดีกรี แต่มีคุณภาพ โดยนำคนที่มีประสบการณ์เข้ามาเรียนรู้ใหม่ นอกจากนี้แนวโน้มการศึกษาในยุค 4.0 จะเป็นไปในลักษณะของการเชื่อมโยงระหว่าง Social Science และ  Natural Science ที่ต้องไปด้วยกัน จะไม่มีวิชาชีพที่โตด้วยศาสตร์เดียวอีกต่อไป โลกยุคใหม่จะเป็นการเรียนรู้จากการทำงาน การเรียนการสอนจะไม่เป็นทางการอีกต่อไป การเรียนในระบบเดิมจะหมดความสำคัญในไม่ช้า คนรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้จากกูเกิ้ล ครูจะทำหน้าที่เพียง coaching คอยเติมเต็มในสิ่งที่ผู้เรียนขาด คือความรู้และทักษะที่จำเป็น การเรียนและการทำงานจะกลายเป็นสิ่งเดียวกัน โดยการเรียนจะเน้นเรื่องสมรรถนะและทักษะมากกว่าความรู้ โดยใช้สื่อการเรียนรู้แบบใหม่ (ออนไลน์ โซเชียลต่างๆ) เป็นแพลตฟอร์มสำคัญเพื่อการเรียนรู้และการทำงาน และการเรียนคือความท้าทายตลอดชีวิต ทั้งนี้ การอุดมศึกษาไทยจึงต้องปรับเปลี่ยน และเน้นการเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย เน้นการใช้ความรู้สร้างนวัตกรรม โดยเป้าหมายสุดท้ายจะกลายเป็นการจัดการศึกษาเพื่อให้คนมีอาชีพ มีรายได้ ซึ่งอาวุธที่จะใช้แข่งขันได้คือ คุณภาพ องค์กรหรือบุคลากรจึงต้องมีคุณภาพ ซึ่งคุณภาพจะประกอบด้วย 3 มิติ คือ ความรู้ ทักษะ และสมรรถนะ ซึ่งการศึกษาจะเป็นเครื่องมือเดียวที่สร้างให้คนมีคุณภาพ แต่การศึกษาก็จะต้องมีคุณภาพด้วย

ในส่วนของการเสวนาเรื่อง “20 ปี สภาวิศวกรไทยในยุคดิสรัปชั่น” ที่มีผู่วมเสวนาคือ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ธเนศ วีระศิริ กรรมการสภาวิศวกร และนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ดร.สุทธิพงษ์ สุวรรณสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมี ศาตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร เป็นผู้ดำเนินรายการ ก็มีเนื้อหาที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

ดร.สุทธิพงษ์ สุวรรณสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในมุมมองผู้ประกอบการว่า สิ่งที่น่ากังวลที่สุดในยุคปัจจุบันที่เป็นดิจิทัลดิสรัปชั่นคือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งภาคการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ต้องปรับเปลี่ยน โดยต้องมองไปล่วงหน้า 3-10 ปี แล้วปรับหลักสูตรมหาวิทยาลัยให้สามารถผลิตวิศวกรที่สามารถตอบโจทย์ในอีก 3-10 ปีข้างหน้าได้ ทั้งนี้ พบว่าปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์งานได้ คือ ลักษณะของคนรุ่นใหม่เองที่มีความอดทนในการทำงาน น้อย ซึ่งเป็นเรื่องของทักษะด้าน soft skill โดยการปรับเปลี่ยนนั้นหลักสูตรที่เป็น specific engineering ยังจำเป็น แต่ควรต้องเพิ่มเรื่อง multi-skill หรือ soft skill ให้กับวิศวกรรุ่นใหม่ด้วย ซึ่งจะมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ จะต้องสร้างหรือพัฒนาวิศวกรเพื่อให้ตอบโจทย์สถานประกอบการใน 3กลุ่มหลักคือ กลุ่มต่างชาติ กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และกลุ่มธุรกิจ SME ให้ได้

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถผลิตคนที่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมหรือองค์กร โดยปรับตัวเป็น learning platform ทุกอย่างคือการศึกษา มหาวิทยาลัยต้องปรับเปลี่ยนโดยอาจารย์ยังมีหน้าที่สอนด้านพื้นฐาน เป็น advisor ในขณะที่มหาวิทยาลัยก็ต้องพร้อมให้บริการความรู้ต่างๆ บนแพลตฟอร์ม ทั้งนี้ มองว่าในอนาคต High skillจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งทักษะทางวิชาการยังมีความจำเป็น และการเรียนรู้ในอนาคตจะต้องเป็น life long lerning

ในขณะที่ ดร.ธเนศ วีระศิริ กรรมการสภาวิศวกร และนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กล่าวถึงการเรียนรู้ในปัจจุบันว่า นักศึกษาสามารถเรียนรู้บทเรียนที่อาจารย์สอนจากกูเกิ้ลหรือการเรียนออนไลน์ได้ ทำให้การเรียนการสอนในอนาคตต้องปรับเปลี่ยน โดยมองว่าสภาวิศวกรควรเข้ามาสนับสนุนในลักษณะที่เป็น outcome base และคาดหวังความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการให้ความรู้ว่าวิศวกรที่ดีควรเป็นผู้ที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

ปิดท้ายด้วย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่กล่าวถึงกระทรวงอุดมศึกษาฯ ว่า เป็นกระทรวงที่จะเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกมหาวิทยาลัยได้ทำตาม mission ที่ตั้งไว้ต่างๆ กัน แต่ต้องตอบโจทย์ประเทศ และตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย ซึ่งประเทศไทยต้องการยกสมรรถนะในการแข่งขัน เปลี่ยนเศรษฐกิจประเทศ สถาบันอุดมศึกษาจึงต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อลดการนำเข้า และพึ่งพาตนเองให้ได้ โดยจะเน้นเรื่องการสร้างนวัตกรรม มีการตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในด้านการพัฒนาและวิจัยนวัตกรรม และเน้นย้ำว่าทุกวิชาชีพต้องมีมาตรฐานวิชาชีพ เพราะจะเป็นเครื่องการันตีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยของทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิสรัปชั่น ซึ่งอนาคตอาจจะแตกย่อยออกเป็นมาตรฐานวิชาชีพในแต่ละสมรรถนะ หรือแต่ละกลุ่มทักษะ  และในส่วนของสภาวิศวกร นายแพทย์อุดมแนะนำว่าจะต้องมีการเปลี่ยน mindset ต้องคิดให้ใหญ่ เอาประเทศเป็นหลัก การทำงานต้องตอบโจทย์ประเทศให้ได้ สิ่งใดที่ควรต้องเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนเพื่อประเทศ และต้องตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของอนาคตข้างหน้าได้ โดย mindset ที่อยากให้มีคือ ทุกองค์กรต้องทำงานด้วยกันได้ บูรณาการร่วมกัน หวังผลสัมฤทธิ์เพื่อส่วนรวม นอกจากนี้ต้องมีแพลตฟอร์มในการทำงานและการเรียนรู้ โดยเอาเป้าหมายให้ผู้เรียนหรือบัณฑิตจบใหม่เป็นหลัก ต้องทำแพลตฟอร์มที่สามารถส่งเสริมให้บัณฑิตจบมาตรงกับความต้องการ และเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ สร้างให้บัณฑิตมีสมรรถนะที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงและความต้องการของโลกได้

Comments

Share Tweet Line