ทีดีอาร์ไอ เสนอวาระ “สังคมอายุยืน” พลิกวิกฤตสังคมสูงวัย ให้ไทยแข่งขันได้ และอยู่ดี มีสุข

ทีดีอาร์ไอ เสนอวาระ “สังคมอายุยืน” พลิกวิกฤตสังคมสูงวัย ให้ไทยแข่งขันได้ และอยู่ดี มีสุข

วานนี้(13 พ.ค.62)สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาสาธารณะ ประจำปี 2562 เรื่อง “สังคมอายุยืน: แข่งขันได้ และอยู่ดี มีสุข ได้อย่างไร?” ณ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาและให้ข้อเสนอแนะแก่ภาครัฐ ธุรกิจและประชาชน ให้สามารถเตรียมพร้อมกับการที่ไทยเป็น “สังคมอายุยืน” พร้อมกับการเป็น “สังคมสูงวัย” เพื่อให้คนไทยมีชีวิตยืนยาวที่อยู่ดีและมีสุข  สามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปรับเปลี่ยนเมืองให้ช่วยสร้างพลังแก่คนทุกวัย  มีหลักประกันสุขภาพและการเงินมั่นคงรับชีวิตยืนยาว มีทักษะเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต และทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับคนทุกวัย  


ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ เปิดประเด็นว่า ตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา คนไทยมีอายุขัยคาดการณ์ตามช่วงเวลาเพิ่มขึ้น 4.4 เดือนต่อปี ทำให้คนไทยมีอายุคาดการณ์เมื่อเกิดถึง 75.3 ปี ในปี2559  และเมื่อประมาณการอายุคนไทยตามรุ่นอายุ ซึ่งคิดผลของพัฒนาการทางเทคโนโลยีเข้ามาด้วย พบว่า มีความเป็นไปได้ที่คนไทยที่เกิดในปี 2559 จะมีอายุยืนเฉลี่ยถึง 80-98 ปี หรือเกือบ 100  ปี ซึ่งหมายความว่า ต่อไปการมีคนไทยอายุเกิน 100 ปี จะเป็นเรื่องปกติ จากล่าสุดในปี 2560 มีคนไทยที่อายุยืนกว่า 100 ปีแล้วถึง 9,041 คน

การเป็นสังคมอายุยืนนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ มากมาย ภาครัฐ ธุรกิจและประชาชนจึงควรวางแผนและเตรียมการที่ดี เพราะแม้คนไทยจะอายุยืนขึ้น แต่การที่ไทยเป็นสังคมสูงวัยด้วย ทำให้วัยแรงงานมีจำนวนลดลง มีผลิตภาพแรงงานต่ำลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น และออกจากตลาดแรงงานเร็วเกินไป  ดังนั้น เพื่อเตรียมพร้อมกับสังคมอายุยืน ไทยควรปรับนิยามผู้สูงอายุตามประเทศพัฒนาแล้วคืออายุ 65 ปี และยืดรับบำนาญ เพื่อยืดอายุการทำงาน ยืดเวลาการออม และฝึกทักษะสำหรับโลกอนาคตมากขึ้น  

ทั้งนี้ ดร. นณริฏ พิศลยบุตร  นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ได้คาดการณ์ว่า หากไม่เร่งแก้ไขปัญหา การเป็นสังคมสูงอายุจะทำให้การเติบโตทางเศษฐกิจของไทยลดลงจากแนวโน้มเดิม 0.8 % ต่อปี

เพื่อรักษาการเติบโตให้ต่อเนื่อง รัฐควรมีมาตรการลดการออกจากงานของคนอายุ 50-59 ปี และขยายอายุบำนาญ พร้อมกับดึงคนทำงาน อายุ 60 ปีขึ้นไปเข้ามาทำงาน ซึ่งจะแก้ปัญหาการเติบโตที่ลดลงได้ประมาณ 11% นอกจากนี้ หากนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาเพิ่มเติมจากปรกติอีก 1 แสนคนต่อปี จะช่วยแก้ปัญหาได้อีก 3.1% แต่ทางเลือกนี้จะสร้างปัญหาอื่น ตามมาในระยะยาว มาตรการที่เหมาะสมกว่าที่ควรพิจารณาคือการลดการเกณฑ์ทหารลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะแก้ไขปัญหาได้ 6%  แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติมากขึ้น  และเพิ่มอัตราการเติบโตผลิตภาพรวม โดยสร้างนวัตกรรมต่างๆ และสร้างธุรกิจใหม่ที่เหมาะกับสังคมอายุยืน  

ด้าน ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไม่จำเป็นต้องลดลงแม้จำนวนแรงงานลดลง หากไทยเร่งนำเอาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้มากขึ้นทั้งในภาคอุตสาหกรรม เกษตรและบริการ ประกอบกับสร้างธุรกิจดาวรุ่งใหม่ๆ ที่มีอย่างน้อย 20 ธุรกิจ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ เวชศาสตร์และผลิตภัณฑ์ชะลอวัย การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) เป็นต้น เพื่อสนองความต้องการของผู้สูงอายุ และคนในช่วงวัยต่างๆ ในสังคมอายุยืนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีนและคนในประเทศเพื่อนบ้านที่จะกลายเป็นคนสูงวัยตามมา โดยหากมุ่งเป้าทำธุรกิจแค่กับคนไทย ตลาดจะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ   

ในด้านการพัฒนาเมืองสำหรับคนในสังคมอายุยืน ดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ และนางสาวณิชมน ทองพัฒน์ นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ  เสนอให้ออกแบบจัดการเมืองเอื้อต่อคนทุกวัยให้ใช้ศักยภาพได้เต็มที่ และช่วยให้ผู้สูงวัยสูงวัยอย่างมีพลัง (Active Aging) โดยจัดให้มีพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น สวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดมากพอ สามารถเดินไปได้  มีระบบขนส่งสาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตร ช่วยให้ผู้สูงอายุเดินทางไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้  ตลอดจนลดความเร็วของรถยนต์ในย่านที่มีผู้สูงวัยพักอาศัยมาก เพื่อลดอุบัติเหตุ  

ประเด็นการเตรียมพร้อมทางการเงินสำหรับการมีอายุยืนยาว  รศ.ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษานโยบายด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์ว่า คนไทยจะมีเงินบำนาญและเบี้ยยังชีพ ไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในอนาคต เพราะผู้ที่อยู่ในเขตเทศบาล ที่ต้องการใช้จ่ายประมาณเดือนละ 7 พันบาทต่อเดือน จะต้องมีเงินออมไว้ใช้ 2.85 ล้านบาท เมื่อมีอายุ 60 ปี และหากต้องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ก็ต้องเพิ่มการออมให้มากขึ้นอีก  ดังนั้นควรส่งเสริมให้มีการออมทั้งภาคบังคับและสมัครใจ โดยเฉพาะสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้เช่นเดียวกัน และขยายอายุเกษียณเพื่อเพิ่มระยะเวลาการออม

ที่สำคัญคนไทยที่อายุยืนขึ้น ควรต้องมีสุขภาพดีขึ้น เพื่อป้องกันความพิการที่ทำให้ต้องอยู่ติดบ้านหรือติดเตียง โดย ดร.วรวรรณ ประมาณการว่า ในปี 2570 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยติดเตียงมากถึง 2 แสนคน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลระยะยาวสูงถึง 1.2 แสนบาทต่อคนต่อปี และมีผู้ป่วยติดบ้านอีกกว่า 3 แสนคน ทำให้มีค่าใช้จ่าย 2.3 แสนต่อคนต่อปี ด้าน ดร.นฎา วะสี หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ร่วมกับทีดีอาร์ไอ ศึกษาระบบประกันการดูแลระยะยาว (Long-term Care Insurance) พบว่าคนไทยพร้อมจ่ายเบี้ยประกันประมาณ 500–2,000 บาท เพื่อให้ได้รับบริการผู้ดูแลผู้สูงอายุมาเยี่ยมที่บ้าน และมีวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น ทั้งนี้ การจัดบริการดังกล่าวควรร่วมกันแบ่งรับภาระโดยประชาชน รัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน เพื่อกระจายความเสี่ยง แทนที่จะให้แต่ละครอบครัวแบกรับความเสี่ยงกันเอง

ความท้าทายที่สำคัญประการสุดท้ายจากการเข้าสู่สังคมอายุยืนคือ การพัฒนาทักษะคนไทยให้สามารถรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตลอดช่วงชีวิตได้   นางสาว ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยด้านการปฏิรูปการศึกษา เสนอว่า ต้องมีการออกแบบระบบนิเวศของการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม โดยใช้ระบบ “บัญชีการเรียนรู้ส่วนบุคคล” เพื่อส่งเสริมการสร้างทักษะตามความต้องการของประชาชนแต่ละคน เหมือนตัวอย่างของสิงคโปร์และฝรั่งเศส  ร่วมกับการปรับสภาพแวดล้อมและรูปแบบการทำงานให้เป็นมิตรกับคนทุกวัย  โดยภาคเอกชนควรปรับตัวให้เหมาะสมกับตลาดแรงงานในอนาคต  ในขณะที่ภาครัฐควรปรับแรงจูงใจการจ้างงานผู้สูงอายุให้ดึงดูดใจเอกชนมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้ทุกคนสามารถทำงานเลี้ยงชีพ สร้างความหมายแก่ชีวิตตน แบ่งปันทักษะแก่ผู้อื่น และร่วมพัฒนาประเทศให้เติบโตต่อไปได้

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line