เครื่องแขวนฟางข้าว มทร.ธัญบุรี ศิลปะประดิษฐ์สู่นวัตกรรมชุมชน

เครื่องแขวนฟางข้าว มทร.ธัญบุรี ศิลปะประดิษฐ์สู่นวัตกรรมชุมชน

อีกหนึ่งงานผลงาน ศิลปะประดิษฐ์ “เครื่องแขวนไทยจากฟางข้าว” ผลงานจากนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี การสร้างสรรค์ศิลปะประดิษฐ์ สู่นวัตกรรมชุมชน


อาจารย์วิจิตร สนหอม อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปะประดิษฐ์ในงานคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เล่าว่า เครื่องแขวนไทยเป็นศิลปะเชิงช่างดอกไม้ของคนไทยมาช้านาน มีการนำดอกไม้ของไทยที่มีกลิ่นหอมประดิษฐ์เป็นรูปแบบตามประเภทของเครื่องแขวนเช่น วิมาน ระย้า โคม เพื่อใช้ประดับตกแต่งช่องประตูหน้าต่าง อาคาร บ้านเรือน เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินเมื่อได้มองเห็น และได้รับกลิ่นหอมจากดอกไม้เป็นการบำบัดให้รู้สึกผ่อนคลาย  จากการเรียนการสอนในรายวิชาเครื่องแขวนไทย ของหลักสูตรศิลปะประดิษฐ์ในงานคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ได้นำเอาผลงาน กระดาษฟางข้าว ของกลุ่มผู้สูงอายุบ้านกระแชง  อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี จากการบริการวิชาการของคณะให้กับชุมชน มาบูรณาการเข้ากับรายวิชาเครื่องแขวนไทย  เป็นการนำนวัตกรรมทางความคิดในการผสมผสานงานวัสดุงานประดิษฐ์ที่มีกระดาษฟางข้าวเป็นวัสดุหลัก

นางสาว กุลชญา เขมสุมสำราญ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เล่าว่า  ในการออกเครื่องแขวนได้นำบุษราคม มาเป็นแนวคิดในการออกแบบเครื่องแขวน ด้วยสีเหลืองที่สดใส เข้ากับกระดาษฟางข้าว ส่วนประกอบเครื่องแขวนประกอบด้วย ตาข่าย คือ ตาข่ายดอกไม้ ร้อยตาข่าย ลาย 4 ก้าน 4 ดอก แบบกระหนก นำกลีบจากกระดาษฟางข้าวมาเรียงกลีบ อุบะทรงเครื่อง ห้อยที่ชายแกว่งไกวให้รู้สึกสบาย นุ่มนวล อุบะประกอบ นำรูปทรงของพลอยที่ได้รับการเจียระไนมาผสมกับอุบะทรงเครื่องเล็ก และกระเช้าสีดา โครงสร้างเป็นรูปดาว 6แฉก ส่วนบนร้อยดอกเป็นสาย ผูกรวบตรงกลางห้อยอุบะแขก ตัวกระเช้าร้อยดอกรักเป็นสายผูกรวบที่ชายห้อยอุบะพู่ ตามมุมประดับเฟื่องแบบกนก ติดอุบะประดิษฐ์ที่กนก ผูกอุบะแบบประดิษฐ์ที่มุมและติดทัดหูรูปดาว “กระดาษฟางข้าวสามารถใช้แทนกลีบดอกไม้ได้เป็นอย่างดีเพราะกระดาษมีความบาง เบา เหมือนกับกลีบดอกไม้ ทำให้ชิ้นงานมีความอ่อนช้อย สวยงาม เหมือนกับการทำจากดอกไม้สด”

ทางด้าน นางสาววาสีนี เกตุไทย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เล่าว่า เครื่องแขวนชื่อ“รงค์สุวรรณ” นำรูปทรงของถ้วยเบญจรงค์มาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานที่มีลวดลายเป็นสีทอง เพราะถ้วยเบญจรงค์นั้นเป็นศิลปะล้ำค่าของไทยที่สืบเนื่องกันมายาวนาน และมีรูปทรงที่สวยงาม มีความประณีตที่ละเอียดอ่อนพร้อมทั้งมีลวดลายที่หลากหลาย ส่วนที่ใช้สีทอง เพราะ สีทองหมายถึง ความมั่งคั่ง มั่งมี อบอุ่น ส่วนประกอบเครื่องแขวนต่างๆ เป็นการใช้รูปทรงของประจำยามซึ่งเป็นทรงวงกลมเหมือนดอกบานชื่น เรียงแบบด้วยกลีบตอกจากกระดาษฟางข้าว เฟื่อง ใช้รูปทรงของปีกกาหรือวงเล็บปีกกามาประยุกต์ให้มีความอ่อนช้อย ส่วนประกอบอื่นเป็นการใช้เทคนิคแบบผสมผสาน โดยดอกจำปี ใช้กลีบตอกเป็นกลีบจำปี สลับสับหว่างในแต่ละชั้นให้มีความคล้ายดอกปีจริงมากที่สุด เป็นการนำทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์โดยต่อยอดกระดาษฟางข้าวให้มาสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ได้มากขึ้น

โดย อาจารย์วิจิตร เพิ่มเติมอีกว่า นักศึกษานำแนวความคิดจากสิ่งที่เห็นในธรรมชาติ สถานที่ต่างๆ ลวดลาย ศิลปะและวัฒนธรรม ผ่านการเรียน การสอนในวิชาเครื่องแขวนไทย ได้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปกับสื่อดิจิตอลและเทคโนโลยี ผสมผสานกับเอกลักษณ์ทางด้านศิลปะประดิษฐ์ภูมิปัญญาของไทยผนวกกับแนวคิดสมัยใหม่ที่สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ในรูปแบบร่วมสมัย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล thailand 4.0 บูรณาการการเรียนการสอนร่วมกับงานด้านศิลปวัฒนธรรมโดยมีการนำหลายๆวิชาความรู้ผสมผสานเป็นองค์ความรู้ด้านวิชาชีพคหกรรมศาสตร์ ศิลปะประดิษฐ์แสดงเป็นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้เกิดองค์ความรู้เผยแพร่ให้กับนักศึกษา ศิษย์เก่า และบุคคลทั่วไปได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อไป

งานเครื่องแขวนไทยเป็นงานประดิษฐ์ที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในการประดับตกแต่งอาคาร สถานที่ มีรูปร่างเป็นช่อเป็นพวงที่สร้างสรรค์ขึ้นจากการนำดอกไม้เล็กๆ มาประดับตกแต่งมาเรียงร้อยรวมกันด้วยเส้นด้าย ประดิษฐ์เป็นเส้น ลาย เป็นตาข่ายรูปต่างๆ การนำเอานวัตกรรมชุมชนมาสร้างสรรค์ เป็นการสร้างมูลค่าให้กับกระดาษฟางข้าว นำความรู้ไปต่อยอดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line