“การประกวดจิตรกรรมยูโอบี ครั้งที่ 10” โอกาสไร้กรอบ สู่การโกอินเตอร์

“การประกวดจิตรกรรมยูโอบี ครั้งที่ 10”  โอกาสไร้กรอบ สู่การโกอินเตอร์

โอกาสไร้กรอบ สู่การโกอินเตอร์ 


“ทำอย่างไรจะไม่เจอภาวะไส้แห้ง?” คำถามโลกแตกของคนที่ฝันจะเป็นศิลปิน

“ทำงานให้ประสบความสำเร็จ” คำตอบโลกแตกยิ่งกว่าคำถามเสียอีก

ศิลปินที่ประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จัก ขายผลงานได้ เคยแสดงผลงานศิลปะในนิทรรศการระดับนานาชาติ หรือที่เราเรียกกันว่า “โกอินเตอร์”  พวกเขาต้องแปลกหลุดโลกหรือแค่โชคดี?  

มีโอกาสที่ดีได้เจอกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่เคยโชว์ผลงานศิลปะในต่างประเทศผ่านเส้นทางการชนะเลิศการประกวดจิตรกรรมยูโอบี อุ้ม ปานพรรณ ยอดมณี ศิลปินชนะเลิศฯ ปีที่ 1 ผู้มีฝันที่จะชนะเลิศงานประกวดศิลปะระดับเอเชีย Singapore Biennale ตามฝันจนได้ไปงาน Lyon Biennale ที่ประเทศฝรั่งเศสสำเร็จก่อนอายุ 30 ปี  มาเรียม ธิดารัตน์ จันทเชื้อ ผู้ชนะเลิศฯ ปีที่ 6 และได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการศิลปินในพำนัก (artist in residence) กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น (Fukuoka Asian Art Museum) ในปี 2558 และรัก อภิวัฒน์ บรรลือ ผู้ชนะเลิศฯ และได้แสดงผลงานที่ประเทศสิงคโปร์ในปีที่ผ่านมา  พร้อมด้วยศิลปินและอาจารย์สอนศิลปะที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ อาจารย์ตั้ม เกรียงไกร กงกะนันท์ และอาจารย์ตอง นพปฎล เทือกสุบรรณ อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และค้นหาตัวตน ในงานเปิดตัว “การประกวดจิตรกรรมยูโอบี ครั้งที่ 10” เลยขอจับเข่าเจาะคำตอบโลกแตก มาให้น้องๆ หรือศิลปินที่สนใจสามารถตามรอยกันได้ 

ทำไมศิลปินต้อง “โกอินเตอร์”

อาจารย์ตั้ม เกรียงไกร กงกะนันท์ ให้ไอเดียไว้ว่า “ศิลปินอาชีพยุคนี้ไม่ลำบากมากแบบเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้คนอายุ 30 ต้นๆ ก็เริ่มสนใจเก็บสะสมงานศิลปะ ไม่เหมือนยุคก่อนที่กลุ่มคนสะสมจะเป็นผู้สูงวัยที่มีกำลังซื้อ  แถมมีความเป็นไปได้ที่ศิลปินจะประสบความสำเร็จและได้ ‘โกอินเตอร์’ ได้ไวขึ้น มีเวทีการประกวดที่เปิดโอกาสให้ศิลปินได้แสดงตัวตน ให้เป็นที่รู้จักในวงที่กว้างขึ้น ซึ่งการโกอินเตอร์จะนำมาซึ่งโอกาสอันท่วมท้น ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้ตัวศิลปิน สร้างโอกาสในการพัฒนา การทำงานรูปแบบใหม่ๆ กับมิวเซียม งานนิทรรศการชั้นนำ อันจะนำไปสู่ชื่อเสียงและเม็ดเงินก้อนโต”

3 เคล็ดลับสู่การนำผลงานศิลปะโกอินเตอร์ ที่ถอดโค้ดประสบการณ์จริงของศิลปินและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะตัวจริงเกี่ยวกับสิ่งที่ทำจริงๆ จนมีวันแห่งความสำเร็จที่แท้จริง

Must Have: พื้นฐานสำคัญของศิลปิน คือ ต้องมีใจรักและรู้จักตัวเอง เริ่มจากสิ่งที่ชอบแล้วเราจะทำงานออกมาได้ดี จะมีพลังที่จะทำไปเรื่อยๆ อันนี้หมายรวมถึงคนที่ทำงานศิลปะเป็นงานอดิเรกด้วย การสร้างผลงานจะมีโอกาสเป็นไปได้ที่งานของเราอาจจะไปคล้ายกับงานของคนอื่น แต่จะมีองค์ประกอบที่ช่วยสร้างความแตกต่างสร้างตัวตน หรือ ‘อัตลักษณ์’ ในงานของเราได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นทักษะ แนวความคิด และเทคนิค สิ่งเหล่านี้จะติดตัว ทำให้ผลงานของเรามีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร

Must Do: อย่าหยุดอยู่กับที่และถอดใจ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินมืออาชีพหรือมือสมัครเล่นอยากให้วางความฝันไว้เป็นขั้นบันได ฝันที่ยิ่งใหญ่สำเร็จได้ด้วยการไล่ตามฝันไปทีละขั้น พอสำเร็จขั้นหนึ่งแล้วค่อยก้าวไปสู่อีกขั้นที่สูงขึ้น ไม่หยุดอยู่กับที่ ในขณะเดียวกันก็ให้เปิดรับความคิดเห็นคำติชมจากคนอื่น แม้ว่าเคยได้

รางวัลและผ่านการแสดงผลงานในต่างประเทศมาแล้ว ศิลปินกลุ่มนี้ก็ยังรับฟังการวิเคราะห์และวิจารณ์จากอาจารย์หรือศิลปินท่านอื่นๆ เพื่อพัฒนาข้อด้อยอยู่เสมอ ศิลปินไทยมีฝีมือ แต่บางครั้งมีจุดด้อยในเรื่องภาษา อยากให้นักศึกษาศิลปะเสริมเรื่องภาษา อาจจะหาเวลาว่างเพื่อเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสื่อสารกับชาวต่างชาติ ไม่กลัวที่จะออกไปโกอินเตอร์ ศิลปินบางคนที่เขาไม่ประสบความสำเร็จ อาจเพราะเดินมาเจอทางแยกของชีวิต หรือบางคนที่เดินมาพร้อมๆ กัน แต่ได้ถอดใจไปเสียก่อน

Must Try: หัวใจของความสำเร็จอยู่ที่ เห็นคุณค่าของผลงานและสร้างโอกาสให้ตัวเอง ศิลปินต้องมั่นใจและเชื่อว่างานของเราดี ให้หาพื้นที่แสดงผลงานของตัวเอง ในยุคสมัยนี้การใช้สื่อออนไลน์มีบทบาทมาก เราสามารถใช้พื้นที่ตรงนี้สร้างโอกาสในการโชว์ผลงานของเราได้ ขอให้พยายามโพสต์ผลงานออกไป  สร้างตัวตนเราอย่างชัดเจนให้เป็นที่รู้จัก และต้องเชื่อว่าเราจะประสบความสำเร็จ อยากให้ขยันส่งผลงานเข้าร่วมประกวดบ่อยๆ ไม่ต้องรอให้งานสมบูรณ์แบบ หน้าที่ของเราคือทำผลงานให้ดีที่สุด ไม่ต้องคิดว่าจะชนะหรือไม่ชนะ ปล่อยให้การตัดสินเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ การที่ผลงานเราได้ผ่านตาของศิลปินอาชีพที่เป็นผู้ตัดสิน ก็เป็นอีกรูปแบบของการสร้างโอกาสที่ทำให้คนอื่นจำผลงานเราได้  โอกาสแบบนี้มีแต่ได้กับได้ ทำไมจะไม่ลองล่ะ   

การเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จมีรายได้ที่ดี ไม่ได้มาจากความติสท์สติหลุดหรือแต้มบุญ แต่เป็นเรื่องของความมานะพากเพียร ใช้เวลา เพื่อความละเอียดของงาน การสร้างตัวตนในแบบที่เราชอบ และไม่เหมือนใคร ที่สำคัญต้องกล้าที่จะสร้างและคว้าโอกาสอย่างไม่ลังเล 

โอกาสโกอินเตอร์กำลังเปิดกว้างสำหรับศิลปินทุกคน ไม่ว่าจะกำลังศึกษาด้านศิลปะ กำลังเริ่มต้นก้าวสู่การเป็นศิลปินอาชีพ หรือผู้สนใจที่มีใจรักในการวาดภาพ โดยไม่จำกัดหัวข้อ ไม่จำกัดเทคนิคการสร้างสรรค์งานจิตรกรรม รวมถึงอายุ เพศ การศึกษา และไม่ว่าจะอยู่มุมใดของประเทศไทย ทุกคนสามารถคว้าโอกาสชนะเลิศบนเวทีการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ครั้งที่ 10 ซึ่งเป็นเวทีเดียวในประเทศไทยที่เป็นบันไดไปสู่การประกวดบนเวทีนานาชาติ ณ ประเทศสิงคโปร์ เปิดโอกาสไปสู่รางวัล ชื่อเสียง และการแสดงผลงานออกสู่สายตาชาวโลก รวมถึงโอกาสที่ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินในพำนักของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น สำหรับผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.uobpoy.com

“คุณอาจเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จและได้โกอินเตอร์คนต่อไป”

 

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line