บจธ. คลอด “ธนาคารที่ดิน” ดัน 4 โครงการกระจายการถือครองที่ดิน

 บจธ. คลอด “ธนาคารที่ดิน” ดัน 4 โครงการกระจายการถือครองที่ดิน

บจธ. ได้รับอนุมัติให้ต่ออายุพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์การมหาชน) เป็นเวลา  3 ปี เดินหน้าจัดตั้งธนาคารที่ดิน และผลักดันโครงการกระจายการถือครองที่ดินใน 4 รูปแบบ(โมเดล) เพื่อให้ให้แก่เกษตรกรและผู้ยากไร้ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเองได้มีที่ดินทำกินอย่างเหมาะสมและทั่วถึง


นายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน หรือ บจธ. กล่าวถึงการดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดิน และผลักดันโครงการกระจายการถือครองที่ดินที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรและผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ว่าที่ผ่านมา บจธ. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในหลากหลายรูปแบบในหลายพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยงานเร่งด่วนที่ บจธ. ต้องเร่งผลักดันภายในหนึ่งปีนับจากนี้คือ การกำหนดรูปแบบของธนาคารที่ดินที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับการหาโมเดลหรือรูปแบบการกระจายการถือครองที่ดินที่เหมาะสม เพื่อนำไปใช้กับธนาคารที่ดินต่อไป โดยขณะนี้ได้ดำเนินการทดลองโครงการกระจายถือครองที่ดินใน 4 โครงการได้แก่ 1.โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ เชียงใหม่และลำพูน 2.โครงการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร 3.โครงการแก้ปัญหาสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน และ 4.โครงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐ

“หากดูตามพระราชกฤษฎีกาฯ มุ่งหวังให้เราเป็นธนาคารที่ดิน หรือองค์กรอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทำนองเดียวกับธนาคารที่ดินก็ได้ โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติต่ออายุให้ บจธ.คราวละ 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปีจากเดิมจะหมดวาระในวันที่ 8 มิถุนายน 2562”

ปัจจุบันโครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน มีประชาชนที่ยื่น
ขอความช่วยเหลือจำนวน 499 ครัวเรือน ซึ่ง บจธ. ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 4 ชุมชน เหลือเพียง 1 ชุมชนใน อ.สันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากติดปัญหาราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น และบางส่วนเป็นที่ดินที่มีเลขโฉนดซ้ำกับกรมป่าไม้ หรือบางส่วนเป็นที่บริจาคให้แก่สถาบันศึกษา จึงทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการจัดซื้อที่ดิน

สำหรับเกษตรกรและผู้ยากจนที่ต้องการรับการช่วยเหลือเงินสินเชื่อดังกล่าว สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.labai.or.th หรือส่งอีเมลล์ที่ [email protected]หรือโทรติดต่อได้ที่ โทร 0 2278-1244, 02278-1648 ต่อ 601,602,610  มือถือ 09 2659 1689

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line