แพทย์ศิริราช แจงวัณโรคหลังโพรงจมูก สาเหตุเสียชีวิตของน้ำตาล เดอะสตาร์ บอกพบได้เพียงร้อยละ 1

แพทย์ศิริราช แจงวัณโรคหลังโพรงจมูก สาเหตุเสียชีวิตของน้ำตาล เดอะสตาร์ บอกพบได้เพียงร้อยละ 1

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วย รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ แพทย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจ และทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ แพทย์เจ้าของไข้ ของ น.ส.บุตรศรัณย์ ทองชิว หรือ น้ำตาล เดอะสตาร์ 5 ร่วมกันรายงานผลการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อหลังโพรงจมูกของน้ำตาล ว่า หลังจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ขออนุญาตส่องกล้องเข้าไปดูบริเวณหลังโพรงจมูก และพบบริเวณเยื่อบุหลังโพรงจมูกมีสีผิดปกติไป จากปกติขนาดประมาณ 0.5 - 1 ซม. จึงตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อนำมาตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาหาสาเหตุการเสียชีวิต


โดยระหว่างตัดชิ้นเนื้อพบมีเลือดไหลออกมาจำนวนมาก จึงคาดว่าเป็นบริเวณที่เลือดไหล หลังจากย้อมชิ้นเนื้อ พบว่าเข้าได้กับวัณโรคแต่ไม่พบเชื้อ คณะฯ จึงได้ทำการตรวจอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่า PCR (Polymerase Chain Reaction) คือการตรวจหา DNA ของเชื้อวัณโรคได้ผลเป็นบวก (positive) ผลการตรวจ PCR ดังกล่าว และผลการตรวจชิ้นเนื้อจึงบ่งชี้ว่า มีเชื้อวัณโรคหลังโพรงจมูก  ซึ่งในกรณีนี้มีโอกาสติดต่อกันได้น้อย ซึ่งจากสถิติของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2560 พบคนไทยเป็นวัณโรคประมาณ 80,000 คนจากประชากร 69 ล้านคน โดยร้อยละ 83 จะตรวจพบที่ปอดร้อยละ 17 ตรวจพบนอกปอด

“สำหรับวัณโรคหลังโพรงจมูกพบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของวัณโรคที่พบนอกปอด เป็นกรณีที่ไม่ปกติจริง ๆ เจอน้อยมาก อีกทั้งวัณโรคสามารถเป็นได้ตามอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย สำหรับวัณโรคหลังโพรงจมูกรายงานทางการแพทย์ทั่วโลกพบว่าผู้ป่วย 1 ใน 3 อาจไม่มีอาการใด ๆ และประมาณร้อยละ 70 มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตหรือมีก้อนบริเวณหลังโพรงจมูก การวินิจฉัยวัณโรคหลังโพรงจมูกจึงมักได้จากการตรวจชิ้นเนื้อที่ก้อนหรือต่อมน้ำเหลือง ในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบัน ป่วยเป็นวัณโรคที่โพรงจมูก ทั้งหมด 39 ราย พบที่ จ.กาญจนบุรี 1 ราย , จ.ขอนแก่น 23 ราย , รพ.ศิริราช 15 รายและ กทม. 1 ราย โดยรักษาหายทั้งหมด เนื่องจากสามาถตรวจพบก่อน  แต่กรณีของ น.ส.บุตรศรัณย์ ไม่มีแสดงอาการใดใด นอกจากนี้ยังมีเลือดออกมากกว่าผู้ป่วยทั่วไป และจากการรายงานทั่วโลกยังไม่พบอาการเช่นนี้มาก่อน จึงเป็นกรณีที่ถือว่าหายากมาก“

สำหรับการวิธีการรักษานั้น รักษาเหมือนกับวัณโรคทั่วไป ซึ่งในระยะเวลาในการรักษาใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ขึ้นอยู่กับอาการ วัณโรคจะไม่มีการแสดงออกการออกอย่างชัดเจน จึงไม่สามารถตอบได้ว่าระยะเวลาที่ น.ส.บุตรศรัณย์ เป็นได้ โดยหลังจากที่ผลการวินิจฉัยออกมา ก็ได้แจ้งให้กับทางครอบครัวน.ส.บุตรศรัณย์ทราบและให้ไปตรวจร่างกายแล้ว

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ข้อแนะนำสำหรับประชาชนจากกรณีของ น.ส.บุตรศรัณย์  คือ 1. อุบัติการณ์ของวัณโรคในประเทศไทยยังไม่ลดลงสามารถเกิดได้กับทุกคนทุกเพศทุกวัยและสามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายอวัยวะ 2. ควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี หากพบสิ่งผิดปกติใด ๆ จำต้องสืบค้นจนพบสาเหตุของความผิดปกตินั้น โดยการตรวจร่างกายประจำปีนั้น สามารถครอบคลุมได้ ร้อยละ 80 ของวัณโรคทั้งหมด  3. แม้การตรวจร่างกายจะปกติแต่หากมีอาการผิดปกติระยะเวลาหนึ่งเช่นน้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุเบื่ออาหารมีไข้ต่ำ ๆ คลำได้ก้อนผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

รศ.นพ.ปรัญญา กล่าวว่า ทางคณะแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช ขอขอบคุณครอบครัวของ น.ส.บุตรศรัณย์ เป็นอย่างมาก ที่อนุญาตให้แพทย์ได้มีการนำชิ้นเนื้อไปวินิจฉัย ซึ่งหากเราไม่ได้วินิจฉัย เราจะไม่มีทางทราบเลยว่าสาเหตุการเสียชีวิตคืออะไร และถือว่าเป็นกรณีศึกษาให้กับทางคณะแพทย์และประชาชนให้มีการระมัดระวังมากยิ่งขึ้นด้วย

 

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line