ผู้ตรวจการแผ่นดินไทยร่วมกับ 5 ประเทศอาเซียน จัดตั้ง SEAOF

ผู้ตรวจการแผ่นดินไทยร่วมกับ 5 ประเทศอาเซียน จัดตั้ง SEAOF

ผู้ตรวจการแผ่นดินไทยจับมือ 5 ประเทศอาเซียน เดินหน้าจัดตั้งเวทีผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ South East Asian Ombudsman Forum (SEAOF) อย่างเป็นทางการในกุมภาพันธ์ปีหน้า พร้อมเป็นประธานคนแรกของ SEAOF ยืนหยัดสร้างกลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนของประเทศสมาชิก ยกระดับการทำงาน ลดปัญหาความไม่เข้าใจในภาครัฐ


พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASEAN Ombudsman Dialogue เมื่อวันที่ 2 - 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในระดับพหุภาคี มุ่งดูแลสิทธิเสรีภาพและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนของแต่ละประเทศที่กระจายอาศัยอยู่ในประชาคมอาเซียน โดยมีคณะผู้แทนจาก 5 องค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (ASEAN) ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย สำนักรับเรื่องร้องเรียนภาครัฐ ประเทศมาเลเซีย ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และหน่วยงานตรวจสอบของรัฐ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งที่ประชุมมีฉันทามติดำเนินการจัดตั้งเวทีผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้ชื่อว่า “South East Asian Ombudsman Forum” (SEAOF) แทนชื่อ “ASEAN Ombudsman Forum” (AOF) ที่เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ ด้วยต้องการขยายขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุมองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินหรือองค์กรจัดการเรื่องร้องเรียนในภูมิภาคที่อาจสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกในอนาคต แต่ไม่ได้เป็นประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐติมอร์-เลสเต ทั้งนี้ ที่ประชุมยังให้เกียรติผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นประธาน SEAOF ในวาระแรกภายหลังการจัดตั้งอย่างเป็นทางการที่จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยตำแหน่งประธาน SEAOF จะมีวาระ 2 ปี หมุนเวียนกันไปตามอักษรนำชื่อประเทศ

พลเอก วิทวัส กล่าวต่อว่า การจัดตั้ง South East Asian Ombudsman Forum หรือ SEAOF นั้นเป็นการแสดงถึงจุดยืนขององค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมิได้มุ่งให้ความเป็นธรรมหรือดูแลเฉพาะประชาชนทุกคนที่พำนักในประเทศตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนของตนที่พำนักในประเทศสมาชิกอื่นด้วย เป็นการดูแลซึ่งกันและกัน โดยปัจจุบันองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้นอาจจะมีรายละเอียดอำนาจตามกฎหมายแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจตามกฎหมายของสมาชิก การจัดกิจกรรมเชิงวิชาการควบคู่กับการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจรัฐ การศึกษาเชิงระบบในประเด็นที่มีผลกระทบต่อส่วนรวมในระดับภูมิภาคแล้วนำผลการศึกษาเชิงระบบไปพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐในภาพรวม เพื่อยกระดับกระบวนการให้บริการภาครัฐของประเทศสมาชิกให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนหรือประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line