อภัยภูเบศรเผยผลการรักษาผู้ป่วยด้วยกัญชา ทั้ง ลมชัก พาร์กินสัน อัลไซเมอร์

อภัยภูเบศรเผยผลการรักษาผู้ป่วยด้วยกัญชา ทั้ง ลมชัก พาร์กินสัน อัลไซเมอร์

อภัยภูเบศรเผยผลการรักษาผู้ป่วยด้วยกัญชา ทั้ง ลมชัก พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ พบส่วนใหญ่อาการดีขึ้นตามลำดับ พร้อมผลิต น้ำมันจากของกลาง สิ้นเดือน สิงหาคม กระจายให้สถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต


หลังจากที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำเนินการ คลินิกกัญชาทางการแพทย์ และเริ่มให้ยากับผู้ป่วยโรคลมชัก พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ และโรคอื่นๆ  จำนวน 12 ราย โดยเริ่มให้ยาตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2562 นั้น
ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ เภสัชกรชำนาญการ ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้รายงานผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน ถึง 15 กรกฎาคม 2562 ว่า ผู้ป่วยพาร์กินสัน 7 คน มีอาการดีขึ้น 6 ราย คงเดิม 1 ราย แพทย์วางแผนจะปรับขนาดยาในครั้งหน้า โดยเริ่มเห็นผลหลังใช้ยาตั้งแต่ 3-14 วัน ผู้ป่วยลมชัก 1 รายที่ได้รับยาไป หลังใช้ยากัญชาได้ 14 วัน ไม่มีอาการชัก ชัก เริ่มรับรู้ได้มากขึ้น ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ 1 ราย อารมณ์หงุดหงิดวุ่นวาย ลดลงอย่างชัดเจน ทั้ง 12 ราย ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง

สำหรับคลินิกกัญชาทางการแพทย์อภัยภูเบศรนั้นจัดตั้งขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยากัญชาที่ปลอดภัยในการรักษาโรคอย่างต่อเนื่องและถูกกฎหมาย ในช่องทางการรักษากรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย และเพื่อติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยของยากัญชา โดยเปิดให้บริการทุกวันจันทร์สัปดาห์ที่ 4 ของเดือน ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุข เปิดให้บริการครั้งแรกวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2562 และจะเปิดบริการครั้งที่ 2 ในวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2562 ในเบื้องต้น มียาล็อตแรกคือ 10% CBD oil ซึ่งพิจารณาสั่งจ่ายให้กับผู้ป่วย 3 กลุ่ม คือ 1. โรคและกลุ่มอาการพาร์กินสันที่ไม่ตอบสนองต่อยาแผนปัจจุบัน  2. โรคลมชักที่ดื้อต่อยาแผนปัจจุบัน 3. โรคอื่นๆที่มีหลักฐานการใช้ว่าได้ประโยชน์และอยู่ในการพิจารณาของแพทย์ผู้ทำการรักษา โดยแพทย์จะเริ่มต้นขนาดยาต่ำๆ คือครั้งละ 5 มิลลิกรัม (0.05 ซีซี เทียบเท่า 1 หยด) หรือ 10 มิลลิกรัม (0.1 ซีซี เทียบเท่า 2 หยด) วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน

ทั้งนี้การจัดเก็บยาและเบิกจ่ายเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีแนวทางการคัดกรองและการติดตามผลทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด โดยมีการเซ็นหนังสือรับทราบและยินยอมรับการรักษาด้วยกัญชา  ประเมินคุณภาพชีวิตก่อนและหลังใช้ยา ติดตามอาการโดยรวม หากเป็นพาร์กินสันจะมีแบบประเมิน UPDRS-8 โรคลมชักจะประเมินจากความถี่ในการชัก ด้านความปลอดภัยจะมีการโทรติดตามผลหลังใช้ยา 1,3,7,14,21 วัน มีการจัดทำคู่มือสำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยากัญชาทางการแพทย์ และเอกสารกำกับยา มอบให้ผู้ป่วยเมื่อจ่ายยากัญชา และนัดผู้ป่วยมาติดตามที่คลินิกทุก 1 เดือน เพื่อปรับขนาดยาตามการพิจารณาของแพทย์ นอกจากนี้ยังมีการเจาะค่าเลือดพื้นฐาน ค่าตับและค่าไต ก่อนเริ่มสั่งใช้ยา และหลังเริ่มยา 1 เดือน จากนั้นทุก 3 เดือน หรือหากเกิดความผิดปกติใดๆ อาจนัดหมายตามความเหมาะสม หากพบอาการไม่พึงประสงค์ และผลข้างเคียงจากยา เภสัชกรจะทำการรายงานเข้าไปที่ระบบออนไลน์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และบันทึกในเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์

นอกจาก CBD oil ที่แจกให้กับผู้ป่วยอยู่ในขณะนี้ ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรกำลังเร่งสกัดกัญชาของกลางที่ได้มาจากสำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จำนวน 643.9 กิโลกรัม ที่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยของยาฆ่าแมลง แต่ยังมีปริมาณแคดเมียมตกค้างเกินมาตรฐาน โดยใช้วิธี Supercritical fluid extraction และใช้ตัวทำละลายเป็นน้ำมันมะกอก ตามที่มีงานวิจัยรองรับในต่างประเทศ ประกอบกับการขออนุญาตผลิตยา จำเป็นต้องใช้สารที่มีมาตรฐานตามตำรายา เพื่อเพื่อให้ได้คุณภาพยาที่สม่ำเสมอ  จึงได้เลือกมาเป็นส่วนผสมในสูตรเฉพาะของทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยคาดว่าจะสามารถส่งยาล็อตแรกให้แก่สถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

สุดท้ายขอทำความเข้าใจกับผู้ป่วย ว่า ไม่มีการวางจำหน่ายให้กับผู้ป่วยโดยตรง ต้องมารับที่คลินิกเท่านั้น และใช้เฉพาะในกรณีที่การรักษาแผนปัจจุบันไม่ได้ผล เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่ใช้เป็นยาชนิดแรกในการรักษา ส่วนเกณฑ์การรับผู้ป่วยที่ได้ยาที่สกัดจากกัญชากลาง จะแจ้งให้ทราบภายในเดือนสิงหาคม

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line