ม.กาฬสินธุ์  ชูผ้าทอพื้นเมืองแก้ปัญหาความยากจน  โชว์ศักยภาพจัดแสดงนิทรรศการในงานตรานกยูง

ม.กาฬสินธุ์  ชูผ้าทอพื้นเมืองแก้ปัญหาความยากจน  โชว์ศักยภาพจัดแสดงนิทรรศการในงานตรานกยูง

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นเมืองแพรวากาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์  จัดแสดงนิทรรศการผ้าทอพื้นเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ ในงาน "ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย" ครั้งที่ 14 ประจำปี 2562 ณ ฮอลล์ 6-7 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ระหว่างวันที่ 30 ก.ค. - 4 ส.ค. พ.ศ.2562


 


โดยในวันที่ 30 กรกฏาคม ที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดงานพร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการ และพระราชทานการ์ดรางวัลชนะเลิศการประกวดเส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานและผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ระดับประเทศ ประจำปี 2562 รางวัลชนะเลิศผ้าไหมอาเซียนและรางวัลชนะเลิศการประกวดเส้นไหม โดยกรมหม่อนไหม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

สำหรับศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นเมืองแพรวากาฬสินธุ์ ได้จัดแสดงนิทรรศการโดยการนำผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมือง อาทิ ผ้าไหมแพรวา ผ้าฝ้าย ผ้ามัดหมี่ และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ ที่เกิดจากการดำเนินงานตามกิจกรรมต่างๆของศูนย์ฯมาจัดแสดง 


 รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดี มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์  กล่าวว่าทางศูนย์ความเป็นเลิศฯได้ถวายรายงานการดำเนินงานด้านสิ่งทอพื้นเมืองแพรวากาฬสินธุ์ ที่ได้ดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาผ้าทอพื้นเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาลในการยกระดับอาชีพและแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดกาฬสินธุ์ 

รศ.จิระพันธ์   กล่าวต่อว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นเมืองแพรวากาฬสินธุ์  เกิดจากดำริของ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  ในการแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดกาฬสินธุ์  โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์  ซึ่งมีศักยภาพในการดำเนินงานด้านสิ่งทอพื้นเมืองในการพัฒนาเพื่อยกระดับรายได้และอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ จึงได้ตั้งโครงการศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นเมืองแพรวากาฬสินธุ์  โดยเป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2562 -  2564  และได้แต่งตั้งที่ปรึกษาและคณะทำงานจากหน่วยงานและองค์กรทั้งภายในและภายนอก เพื่อร่วมกันทำงานโดยได้เน้นการวิจัยแบบมีส่วนร่วม  การถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรม ที่ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ผ่านแผนงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply  Chain)  

“การดำเนินงานในปี 2562 ช่วงไตรมาส 1-3 ทางโครงการได้ดำเนินงานพัฒนาผ้าทอพื้นเมืองกาฬสินธุ์ตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยระยะต้นน้ำ จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตคุณภาพการเลี้ยงหนอนไหมและคุณภาพของเส้นไหม  รวมทั้งคุณภาพการฟอกย้อม ส่วนระยะกลางน้ำ เน้นรักษารูปแบบการทอผ้าแบบดั้งเดิมและการผ้าทอร่วมสมัย  ตลอดจนการแปรรูปสิ่งทอและผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหมสู่กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ขณะที่ระดับปลายน้ำ เน้นการส่งเสริมการตลาด ภาพลักษณ์ที่ดี และการสื่อสารสาธารณะในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับสิ่งทอพื้นเมือง ผ่านโครงการและกิจกรรมที่บูรณาการองค์ความรู้โดยใช้ศักยภาพและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์” รศ.จิระพันธ์กล่าว   

สำหรับผลการประกวดผ้าผู้ไทยประจำปี 2562 ซึ่งจัดประกวดใน 4ประเภท และได้เข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประกอบด้วย ประเภทผ้าซิ่นมัดหมี่ผู้ไทยโบราณ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ  นางหนูวรรณ  ทะนาจันทร์  ประเภทผ้ามัดหมี่ผู้ไท ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ นางจุฑามาส  วรสาร  ประเภทผ้าแพรวาชนิดคลุมไหล่ ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ นางสาวสุจินดา  ศรีชาติ  ประเภทผ้าแพรวาชนิผ้าผืน ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ นางสาวศุจิกา  ขวัญศิริ

Comments

Share Tweet Line