BEDO กระตุ้นพลเมืองไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เพิ่มมูลค่าทรัพยากร-ภูมิปัญญา สร้างความมั่งคั่งยั่งยืน

BEDO กระตุ้นพลเมืองไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เพิ่มมูลค่าทรัพยากร-ภูมิปัญญา สร้างความมั่งคั่งยั่งยืน

ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายสำหรับงานเผยแพร่ผลงาน สพภ. ซี่งจัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือBEDO เพื่อแสดงผลการดำเนินงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนเผยถึงทิศทางการดำเนินงานในอนาคตของ BEDO เมื่อวันที่ 22–26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ บริเวณศูนย์ส่งเสริมธุรกิจจากทรัพยากรชีวภาพ ชั้น 1 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ซึ่งงานนี้สามารถดึงดูดความสนใจผู้ร่วมงานจำนวนมาก โดยมีผู้ลงทะเบียนมากกว่า 1,500 ราย นอกจากนั้นยังมีประชาชนจากทั่วประเทศหลายพันคนเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมเติมเต็มความรู้ความเข้าใจ พร้อมเล็งเห็นอรรถประโยชน์ที่เกิดจากการประยุกต์ใช้ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิปัญญา นวัตกรรม ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ด้วยการเยี่ยมชมบูธแสดงสินค้าและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้องค์ความรู้มาสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพในระดับท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม


จุดประสงค์ของงานเผยแพร่ผลงาน สพภ. ไม่ใช่การประกาศแสดงผลการดำเนินงานและแผนงานในอนาคตของ BEDO แบบทั่วไปเท่านั้น แต่เป็นงานที่จัดแสดงกระบวนการทำงานและผลงานอันหลากหลายเพื่อมุ่งสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาของชุมชนและท้องถิ่น ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชีวภาพให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ซึ่งนางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 12 ปี สพภ.หรือBEDO มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ด้วยนโยบาย การดำเนินงานและโครงการครอบคลุมอย่างรอบด้าน ถึงแม้จะสามารถสร้างสรรค์ผลงานอันน่าภาคภูมิใจและผลสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานชีวภาพให้เกิดขึ้นจริงได้แล้ว แต่เป้าหมายของการจัดงานครั้งนี้ ยังมุ่งก่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพในระดับต่างๆ นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ที่มีความเข้มแข็ง ก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้อย่างเต็มภาคภูมิ 

และเพื่อให้เกิดความร่วมมือในทิศทางและความเข้าใจที่ตรงกัน งานเผยแพร่ผลงาน สพภ. จึงมุ่งเน้นไปที่การแสดงรูปธรรมของการดำเนินงาน สื่อสารถึงองค์ความรู้ต่างๆ วิธีการสร้างกระบวนการเรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ในชุมชนและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสมค่า คือ ทั้งเพื่อการสร้างรายได้ พร้อมไปกับที่ความหลากหลายทางชีวภาพก็ยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป โดยภายในงานประกอบด้วยการจัดแสดงในหลากหลายรูปแบบให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพที่ครอบคลุมรอบด้าน ที่ถือได้ว่า เป็น 12 กลไกขับเคลื่อนที่สร้างจุดเปลี่ยนของการพัฒนาเศรษฐกิจ เริ่มจากการสร้างความเข้าใจหลักการสำคัญของการดำเนินงานของ BEDO ที่เรียกว่า BEDO Concept 3 ประการ ได้แก่ (1) การสร้างเศรษฐกิจโดยใช้ความหลากหลายทางชีวภาพที่ตนเองเป็นเจ้าของ เป็นวัตถุดิบหลัก (2) ใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม และ (3) มีการปันรายได้ กลับมาดูแลแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นต้นทางของการใช้ประโยชน์นั้น

ดังนั้น การมีฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย จึงเป็นความสำคัญลำดับต่อมาที่ต้องได้รับการพัฒนา การจัดแสดงในงานมหกรรมได้สาธิตให้เห็นขั้นตอนของการสำรวจรวบรวมข้อมูลพันธุกรรม และระบบการจัดเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ประกอบด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ การใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากความหลากหลายทางชีวภาพและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  ทั้งนี้ หนึ่งในกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ คือธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชน (Community BioBank) ซึ่งจะเป็นทั้งแหล่งรวบรวมพันธุกรรมและแหล่งวัตถุดิบ หรือต้นทางของการสร้างเศรษฐกิจที่ชุมชนเป็นเจ้าของ

ในด้านการพัฒนาสร้างเศรษฐกิจนั้น BEDO ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน เป็นลำดับแรก โดยใช้ BEDO Concept เป็นหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ และตราสัญลักษณ์ BioEconomy Promotion Mark เป็นเครื่องหมายแสดงว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการ เป็นสินค้าคุณภาพมาตรฐานและใช้หลักการ BEDO Conceptโดยมีศูนย์ส่งเสริมธุรกิจจากทรัพยากรชีวภาพ ทำหน้าที่ให้ความรู้ด้านการตลาด นอกจากนี้ BEDO ยังเชิญชวนให้ภาคธุรกิจ นำหลักการการตอบแทนคุณระบบนิเวศตามหลักการPES ซึ่งเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้สร้างความสมดุลระหว่างผู้ดูแลรักษา อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศนั้นๆ และผู้ใช้ประโยชน์ และสำหรับเกษตรกร

ป่าครอบครัว หรือรูปธรรมของการยกป่ามาไว้ที่บ้าน สร้างป่าแบบพอดี ตามวิถีพอเพียง เพื่อการพึ่งพาอย่างยั่งยืน ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการสร้างพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ให้กับประเทศ  ซึ่งเวลานี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้ BEDO ทำหน้าที่เป็นหน่วยขยายผลโครงการขับเคลื่อนชุมชนไม้มีค่าด้วย ในการนี้  BEDO จึงได้หลักการของป่าครอบครัว เป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการชุนชนไม้มีค่าด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งผู้เข้าชมสามารถนำประโยชน์ที่ได้ไปสร้างสรรค์กระบวนการสร้างงาน สร้างรายได้ และกลายเป็นผู้ประกอบการใหม่ที่มีศักยภาพได้ในที่สุด รวมทั้ง มีการกระตุ้นให้เยาวชนมีส่วนร่วมในโครงการ BIOGANG เยาวชนรักษ์โลก ซึ่งภายในงานได้มีการประกาศรางวัลสำหรับทีมเยาวชนที่นำเสนอโครงงานอันโดดเด่นอีกด้วย

จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า งานเผยแพร่ผลงาน สพภ. สามารถส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องการประยุกต์ความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับการใช้นวัตกรรมและการอนุรักษ์นั้น ทำให้พลเมืองไทยทุกคนได้เห็นภาพชัด และตระหนักถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และพร้อมนำองค์ความรู้และผลลัพธ์ที่ได้ไปประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มั่งคั่งและยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

Comments

Share Tweet Line