สสว. ชู 12 โมเดลธุรกิจชุมชน ตั้งเป้าพัฒนาสุดยอดนักธุรกิจชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด

สสว. ชู 12 โมเดลธุรกิจชุมชน ตั้งเป้าพัฒนาสุดยอดนักธุรกิจชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด

สสว.โชว์ผลงาน 12 โมเดลผู้นำธุรกิจชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด ที่ผ่านโครงการประชารัฐฯ เน้นโมเดลเชื่อมโยงเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับชุมชนให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการตลาด และสร้างทักษะการเรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจในยุค 4.0ตั้งเป้าพัฒนาสุดยอดนักธุรกิจชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด


นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุลผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีปิดโครงการและพร้อมมอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการประชารัฐเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและ SMEs ก้าวสู่ตลาด 4.0 (SMEs & OTOP Transformation) ปฏิบัติการพลิกธุรกิจสู่ยุค 4.0 ว่า โครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการทั่วประเทศมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – สิงหาคม  2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการตลาดได้ เป็นกลไกสำคัญในการเข้าถึงความต้องการ และการส่งต่อ แก้ปัญหาผู้ประกอบการ ทำให้มีข้อมูลองค์ความรู้ที่สร้างสรรค์ ถูกต้องชัดเจน สร้างทักษะการเรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจ ในยุคที่การตลาดเปลี่ยนไปสู่ยุค 4.0 โดยผู้ประกอบการต้องสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับนำไปสร้างเครือข่ายต้นแบบระดับจังหวัดเพื่อเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าชุมชนต่อไป

ผอ. สสว. กล่าวว่า โครงการฯนี้ มีผู้ประกอบการ OTOP SMEทั่วประเทศที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกคุณสมบัติสามารถเข้าร่วมโครงการฯจำนวน 1,344 ราย และคัดเลือกจนเหลือจำนวน 141  ราย เพื่อเข้ารับการพัฒนาโมเดลธุรกิจด้วยกิจกรรมค่ายสร้างสรรค์รวมทั้งทดสอบความสำเร็จทางการตลาดหรือ Market Test 4 จังหวัด 4 ภาคทั่วประเทศ ได้แก่ สงขลา เชียงใหม่ นครราชสีมา กรุงเทพ รวมทั้งการทดสอบตลาดออนไลน์บน Platform เทพช็อป และผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจะต้องผ่านการทดสอบขั้นสุดท้ายคือ การเข้าร่วมแคมป์เพื่อสร้างสรรค์ และนำเสนอแผนการสร้าง New Business Model ที่สามารถทำได้จริง ซึ่งเพิ่งจัดเมื่อวันที่ 7-8 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการที่เข้ารอบทั้งหมดเพียง12 ราย เพื่อคัดเลือกโมเดลธุรกิจที่ดีที่สุดเพียง 1 รายเท่านั้น โดย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โมเดล Travelers Souvenir ARโดยคุณเกศกนก  แก้วกระจ่าง จังหวัดสงขลาซึ่งเป็นโมเดลที่ได้รับรางวัลสุดยอดผู้นำธุรกิจชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด ซึ่งนอกจากจะได้รับการสานต่อเพื่อพัฒนาโมเดลเพิ่มเติมจากสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED แล้ว ยังได้รับโอกาสเข้าสู่ เทพช็อป Platform online ชื่อดังอีกด้วย

นอกจากการรับสมัครผู้ประกอบการเพื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว สสว. ยังมีการจัดประกวดการเขียนโมเดลธุรกิจสำหรับประชาชนทั่วไป นิสิต นักศึกษาที่สนใจแสดงฝีมือจากทั่วประเทศ ซึ่งถูกคัดเหลือเพียง12 รายที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในการสร้างสรรค์แผนโมเดลธุรกิจที่ดีที่สุด  โดยสสว.ต้องการ

เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถได้มีโอกาสร่วมกันพัฒนาธุรกิจชุมชนให้สามารถแข่งขันได้ด้วยองค์ความรู้และมีทิศทางที่ชัดเจน สามารถก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจในยุค 4.0 อย่างเข้มแข็ง และยั่งยืนซึ่งมีผู้รับรางวัลไอเดียธุรกิจดีเด่นของระดับนักศึกษา และประชาชนทั่วไป อีก 3 ผลงาน ได้แก่

1. นางสาวสาวิตรี   บำรุง  จากโมเดล juice up

2. นางสาวสุรนุช   บุญจันทร์ จากโมเดล เกษตรอินทรีย์คลองตัน  และ

3.นางสาวสายพิล   ทะวะดี จากโมเดล เกาะยอ 2 Day trip

ภายในงานยังมีการ เสวนาพิเศษหัวข้อ“การต่อยอดสุดยอดผู้ประกอบการ สู่สุดยอดชุมชนที่ยั่งยืน”เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) ที่เข้มแข็งและยั่งยืน สสว. จึงได้จัดเสวนาพิเศษหัวข้อ “การต่อยอดผู้ประกอบการ สู่สุดยอดชุมชนที่ยั่งยืน” โดยมีวิทยากรได้แก่นายอยุทธ์ เตชะสุกิจ ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มมูลค่าผลผลิตและออกแบบเผลิตภัณฑ์ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) นายพิชิต มิทราวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสรับผิดชอบสายงานการตลาดและนโยบายภาครัฐ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMED BANK) และนางสาวเมธปรียา คำนวณวุฒิ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แอลเอ็นดับเบิลยู  จำกัด หรือ เทพช้อป มาร่วมเปิดเผยที่มาของความสำเร็จจนเกิดโมเดลธุรกิจใหม่จากความร่วมมือของหลายภาคส่วนจนได้สุดยอดผู้นำธุรกิจชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการต่อยอดโมเดลธุรกิจใหม่ด้วยการเข้าถึงทั้งแหล่งเงินทุนและช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ที่พร้อมตอบสนองผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

12 โมเดลธุรกิจชุมชนต้นแบบ

1.โมเดล Travelers Souvenir AR ผลงานสินค้าที่ระลึกที่มีอัตลักษณ์พื้นถิ่นพาเที่ยวนวัตวิถี โดยใช้ระบบ AR และ Web Block เชื่อมโยงกับสินค้าของที่ระลึกชุมชน เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้านักท่องเที่ยวได้รู้จักชุมชนมากขึ้น และยังสามารถเชื่อมต่อไปยัง Google map ที่สามารถพานักท่องเที่ยวไปยังจุดท่องเที่ยวในชุมชนได้อีกด้วย จากบริษัท สเก็ตเชอร์ โบ จำกัด จ.สงขลา

2.โมเดล สินค้าปลอกหมอนทอจากไหมอีรี่ อัจฉริยะเพื่อการหลับลึก และแก้ปัญหาความเครียด ของผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ โดยการคิดค้นการใช้โปรตีนไหมเคลือบผิวปลอกหมอนและสอดไส้ด้วยปุยไหมอีรี่ที่เพิ่มความนุ่มพิเศษ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับการหลับ การกดทับระหว่างการนอน โดยจะส่งการประมวลผลผ่าน App Eri Pillow ที่สามารถใช้บลูทูธ ลิงค์กับสมาร์ทโฟน หรือ เว๊บไซด์ bondonlcha.com เจ้าของผลงานคือ ร้านคุ้มสุขโข จ.ขอนแก่น

3. โมเดล Nawati การใช้แปรรูปกล้วยน้ำว้า ผลิตภัณฑ์เด่นเฉพาะจากชุมชน เป็นกล้วยเส้นทรงเครื่อง แบรนด์ Nawati เป็นการเชื่อมโยงกับชุมชนโดยส่งเสริมการปลูกกล้วยในเชิงพาณิชย์ และสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และจัดจำหน่ายสู่ตลาด โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเชื่อมโยงโดยการบรรจุ QR code ที่บรรจุภัณฑ์เพื่อให้ผู้ซื้อ และนักท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบการแสกนเพื่อหาข้อมูล จุดเด่นในการผลิตโดยชุมชน เพื่อชุมชน หรือแม้แต่การสั่งซื้อพันธุ์กล้วยได้อีกด้วย ผลงานจาก บริษัท บ้านกล้วย (2017) จำกัด จ.ปัตตานี

4. โมเดล ระบบจัดการซื้อขายจิ้งหรีดล่วงหน้า โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ผ่านเว็บไซด์www.จิ้งหรีดล่วงหน้า.com เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในการวางแผนการเลี้ยง ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ซื้อ และป้องกันปัญหาจิ้งหรีดล้นตลาด ผลงานจาก ฟาร์มจิ้งหรีด ออลบั๊กส์ จ.ชัยภูมิ

5. โมเดล การแปรรูปรูปจมูกข้าวสารและธัญพืชเพื่อสุขภาพ แบรนด์ GABA BITES ธัญพืชผสมกาบ้าจากจมูกข้าว สูตร Gluten Free, Organic, Low sugar เป็นการนำวัตถุดิบจากท้องถิ่น จมูกข้าวสาร จากชุมชนสาวะดี จ.ขอนแก่น ที่มีปริมาณกาบ้าสูงมาแปรรูปโดยผสมผสานธัญพืช เป็นสแน็คเพื่อสุขภาพ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ผู้บริโภคสามารถตรวจเช็คการผลิต และเรื่องราวจากท้องถิ่นผู้ผลิตผ่าน QR code ผลงานจาก หจก.ไทยรอยัล ฟู้ด จ.ขอนแก่น

6. โมเดล Bromedent การเพิ่มมูลค่าให้กับสับปะรดโดยใช้ทุกส่วน (Zero waste) ในการผลิต และเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าชุมชน โดยเพิ่มสารสกัดเอนไซม์สับปะรดจากผลที่ตกขนาด นำนวัตกรรมการสกัดเอนไซม์โปรมิเลน ช่วยย่อยสลายโปรตีน “ไบรโอฟิล์ม”ทำให้จุลินทรีย์ภายในปากอ่อนแอ และหลุดออก ช่วยลดปัญหาเหงือกอักเสบ ลดคราบพลัค และกลิ่นปาก โดยใช้ระบบ QR code เพื่อการหาข้อมูลการผลิตโดยละเอียด ผลงานจากวิสาหกิจชุมชนฟาร์ม มาร์เก็ตติ้ง ปลูกสับปะรด และแปรรูปสับปะรด จ.ราชบุรี

7. โมเดล มหัศจรรย์แห่งสมุนไพร สู่ โผงเผง Facial ครีมบำรุงผิวสกัดจากโผงเผงพืชหลักของชุมชน โดยนำสารสกัดจากโผงเผง สมุนไพรป่า ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเอ็นไซม์ และเมลานินสีผิวที่เปลี่ยนไปทำให้ผิวขาวขึ้น เป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนผู้ปลูกต้นโผงเผง ต.มะเขือแจ้ จ.ลำพูน โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวกลูกค้าในการเข้าดูศึกษาข้อมูลการผลิต ผ่าน QR code บนบรรจุภัณฑ์ ผลงานจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศึกษาพัฒนาเกษตรกรครบวงจร จ.ลำพูน

8. โมเดล ข้าวนพเก้า ข้าว 9 พลัง ผลิตจากข้าวกล้องจาก 5 สายพันธุ์ของดีชนเผ่า ได้แก่ 1.ข้าวกล้องหอมมะลิ 2.ข้าวกล้องลืมผัว- ม้ง 3.ข้าวกล้องบือบอ-ปะกากะยอ 4.ข้าวกล้องเหล้าทูหยา-ไทยใหญ่ 5.ข้าวกล้องเงาะเลอทีมู-ล้วะ โดยตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของ 4 ชาติพันธุ์แห่งภาคเหนือ และนำผลผลิตข้าวมาส่งเสริมให้เกิดคุณภาพ ผลผลิต และนำความเป็นเกษตรอินทรีย์มาสร้างมูลเพิ่มให้สินค้า และสร้างรายได้มากขึ้นให้แก่ เกษตรกรกลุ่มชาติพันธุ์ จนได้เป็นข้าวกล้อง 5 ชาติพันธุ์ ผสมกับธัญพืช 8 ชนิด สร้างจุดขายเพื่อสุขภาพ และพัฒนาสูตรสินค้าให้มีความหลากหลาย พร้อมเผยแพร่สินค้าผ่านสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์สินค้าในช่องทางออนไลน์ เว็บไซด์www.noppakaow-999.com และจัดทำ QR code ที่กล่องบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบอย่างสวยงาม ผลงาน จาก บริษัท เยี่ยมเมธากร จ.เชียงใหม่

9. โมเดล นวดตัวเองด้วยน้ำหนักตัวเอง สินค้าเครื่องนอนยางพารา ที่มีการผสานภูมิปัญญาสร้างสรรค์กับนวัตกรรมโครงสร้างยางพาราแบบแยกชิ้น หลักการเดียวกับเตียงตะปูโยคี คือ การกระจายน้ำหนักลดการกดทับได้จริง มีสันนูนเปรียบเสมือนปุ่มนวดที่สะท้อนกลับเหมือนนวดตัวเองด้วยน้ำหนักตัวเอง และใช้เทคโนโลยี “โยคีดิจิทัล”คือ Healthy Community ที่ช่วยปรับสรีระของผู้ใช้ให้ห่างไกลจากโรค Office syndrome และเป็นการผลิตภายในชุมชนจังหวัดกำแพงเพชรเพื่อลดอัตราการไปทำงานต่างถิ่น ผลงานจากวิสาหกิจชุมชนเย็บผ้าเครื่องนอนยางพาราเขาคีริส จ.กำแพงเพชร

10. โมเดล Linkshipper เป็น Platform Community Auto Dropship สำหรับสินค้า Halal โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิตสินค้าฮาลาลและคนในชุมชนที่ต้องการเปิดร้านค้าออนไลน์แบบ Automatic เพียงแคสมัครก็จะมีเว็บไซด์พร้อมสินค้าให้ขายแบบฟรี โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการแต่งภาพ หรือ การทำเว็บไซด์เลย โดยจะเป็นสื่อกลางในการประสานชุมชนมุสลิม 200 ชุมชน ๆ ละ 50 ร้านค้าทั่วกรุงเทพ ตั้งเป้าร้านค้าฮาลาลในระบบ 10,000 ร้านค้า โดยสินค้าจะถูกคัดกรองโดยระบบอัลกอรริทึ่มของ Linkshipper เพื่อนำสินค้าขายดีจากรายการทั้งหมด ไปขึ้นในระบบของแต่ละร้านค้า เป็นการเพิ่มโอกาสในการขายให้มากขึ้น คาดว่า ร้านค้าที่ Active จะมีรายได้ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน ถ้า 500 ร้านค้า คิดเป็นยอดขายรวมไม่ต่ำกว่า 5,000,000 บาท ต่อเดือน ผลงานจากบจก.วันบีลิฟ กรุงเทพฯ

11.โมเดล No Locking No Lost เป็นการนำหัตถกรรมกระจูด ที่มีคุณสมบัติทอจากเส้นใยกระจูดที่มีความเหนียวแตกต่างจากพืชจักสานชนิดอื่น ทนต่อการขีดข่วน สามารถใช้งานหนักได้ ผสานเทคโนโลยี GPS Tracking เพื่อติดตามค้นหาจากตำแหน่งที่ระบุได้ และจะมีสัญญาณเตือนหากระเป๋าอยู่ห่างจากตัวเกิน 10 เมตร เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า และไม่จำเป็นต้องผลิตเป็นจำนวนมาก ก็สามารถทำให้ราคาต้นทุนลดลงได้ ผลงานจาก วนิดากระจูด จ.สงขลา

12. โมเดล เห็ดโคนน้อย คอยใหญ่ การนำเห็ดโคนน้อยที่มีสรรพคุณทางการรักษาดียิ่งกว่า เห็ดหลินจือ หรือ เห็ดถั่งเช่า เพราะเห็ดโคนน้อยมีสารโพลีซัคคาไลน์สูง ผสมกับเบต้ากลูติน และสารอิลิยาดีนิน ช่วยละลายไขมันในเลือด เห็ดชนิดนี้ปลูกกันมากที่จ.อุตรดิตถ์ โดยเฉพาะในเขตร้อนชิ้น จึงมีการนำ Know How ในการเพาะเห็ดชนิดนี้ ด้วยมาตรฐาน GMP และสัญลักษณ์คุณภาพ Q รับรองโดยกรมวิชาการเกษตร โดยการจำหน่ายผ่านช่องทางโซเชี่ยลมีเดีย และเว็บไซด์ที่ให้ความรู้ในการเพาะเห็ดเกือบทุกชนิด ผลงานของ หจก.บ้านเห็ดอุตรดิตถ์ไบโอเทค

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line