มทร.ล้านนาใช้นวัตกรรมยกงาน Craft รับการขยายตลาดฝ้ายทอมือ

มทร.ล้านนาใช้นวัตกรรมยกงาน Craft รับการขยายตลาดฝ้ายทอมือ

อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่เป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของไทย ผ้าฝ้ายทอมือถือเป็นสินค้าหัตถกรรมจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีขั้นตอนการผลิตโดยใช้แรงงานคนเป็นหลัก โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผ้าฝ้ายทอมือ สามารถตีตลาดสร้างรายได้ให้ชุมชนจำนวนมาก


ผศ.ดร.ชินานาฏ วิทยาประภากร อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยต้นน้ำ จากโครงการ “การยกระดับคุณภาพผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ต่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า” กล่าวถึงการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ว่า จากโจทย์สถานการณ์ของกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ผลิตภัณฑ์ผ้าและสิ่งทอพื้นถิ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติจากอำเภอฮอด เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มผู้ประกอบการในชุมชนกลับไม่สามารถผลิตได้ทันกับความต้องการของตลาด เนื่องจากจำนวนสมาชิกกลุ่มทอผ้ามีน้อย ประกอบกับมีปัญหาด้านคุณภาพสินค้า เช่น สีตก สีซีด ตลอดจนยังขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะมาช่วยพัฒนากระบวนการผลิต รวมทั้งการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ผลตอบแทนที่ได้ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนและแรงงานที่เสียไป

 “จากการพูดคุยสอบถามเชิงลึกกับทางกลุ่มต้นน้ำ พบว่ามีปัญหาเบื้องต้นหลายอย่าง เช่น การควบคุมคุณภาพด้านความสม่ำเสมอของเฉดสีธรรมชาติ การย้อมอย่างไรไม่ให้สีตกสีซีด การอบเส้นด้ายให้แห้งเพื่อป้องกันเชื้อราและกลิ่นเหม็นอับ การเพิ่มผลิตภาพและลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต  การออกแบบลายประยุกต์ การทอผ้าให้ทันกับออเดอร์ที่สั่งเข้ามา ซึ่งตอนนี้กำลังการผลิตมีน้อย แต่ออเดอร์ที่เข้ามาเยอะมาก ทางกลุ่มทอไม่ทัน จึงเป็นที่มาของการทำงานวิจัยเพื่อเข้าไปสนับสนุนกลุ่มทอผ้าฝ้ายที่ฮอด โดยเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามาร่วมในกระบวนการผลิต การลดต้นทุนพลังงาน การใช้น้ำในกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพและใช้ให้น้อยที่สุดเพื่อลดปริมาณการปล่อยน้ำทิ้งสู่ชุมชนและสิ่งแวดล้อม การเพิ่มกำลังการผลิตแต่ยังคงคุณค่าและเอกลักษณ์ของผ้าฝ้ายทอมืออำเภอฮอดเอาไว้”

สำหรับกลุ่มเป้าหมายในการวิจัยครั้งนี้มีวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วม 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มอาชีพผ้าฝ้ายอำพัน และ 2.กลุ่มอาชีพทอผ้าบ้านตาลกลาง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องการมีProductivity ในการยกระดับคุณภาพผ้าฝ้ายทอมือ จากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต  

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีงานวิจัยย่อย 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การล้างเส้นด้ายฝ้ายก่อนการย้อมสีด้วยเทคโนโลยีไมโครนาโนบับเบิ้ล (MNBs) โดยใช้เทคโนโลยีฟองอากาศขนาดเล็กทดแทนการใช้สารเคมีและความร้อนสูงในการทำความสะอาดกำจัดไขมันในเส้นด้ายฝ้าย เนื่องจากไขมันที่ขัดขวางการยึดติดของโมเลกุลสีในเส้นด้ายฝ้ายถูกกำจัดออกไป ลดปัญหาสีซีด สีจาง กระบวนการนี้ทำให้ใช้น้ำน้อยลงถึงร้อยละ 75 นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องการปรับสภาพผิวของเส้นด้ายฝ้ายให้มีความเรียบมากขึ้น เทคโนโลยี MNBs จัดเป็นเทคโนโลยีสะอาดที่ใช้ต้นทุนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2.การสกัดสีจากพืชธรรมชาติด้วยสนามไฟฟ้าพัลส์ด้วยเครื่อง Pulse electric field (PEF) จากเดิมทางกลุ่มทอผ้าใช้เวลาในการต้มแช่เปลือกไม้เพื่อสกัดสีแล้วทิ้งไว้ให้น้ำย้อมเย็นตัวลงประมาณ 24 ชั่วโมง  แต่เทคโนโลยีสนามไฟฟ้าพัลส์ใช้เวลาสกัดสีจากเปลือกไม้เพียงแค่ประมาณ 10-15 นาที ทำให้ช่วยลดทั้งเวลาและพลังงาน 3.เครื่องอบเส้นด้ายแสงอินฟาเรดร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์ เดิมทีทางกลุ่มทอผ้าใช้เครื่องอบผ้า ก่อนนำไปตากตามสภาพธรรมชาติโดยใช้เวลา 2-3 วัน หากฝนตกทำให้เส้นด้ายไม่แห้ง เหม็นอับ มีเชื้อรา จากผลงานวิจัยดังกล่าวสามารถลดเวลาการอบเหลือเพียงระดับชั่วโมงเท่านั้น ภายใต้ปริมาณเส้นด้ายและสภาวะของเครื่องที่เหมาะสม ทำให้ลดความสูญเสียที่เกิดขึ้น 4.กี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ เป็นการเพิ่มกำลังการผลิต ออกแบบและอนุรักษ์คุณค่าลวดลายดั้งเดิมจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เดิมทีชาวบ้านทอได้ 4-5 เมตร/คน/วัน ขณะที่ผ้าที่ผ่านการทอด้วยกี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัติสามารถเพิ่มกำลังการทอได้มากกว่า 10 เมตร/คน/วัน นอกจากนี้คณะวิจัยได้คำนึงถึง productivity ด้านสุขภาพ ลักษณะท่านั่ง ท่าเหยียดงอแขนและการใช้แรงงานของผู้ทอเป็นสำคัญ

 “กระบวนการตั้งแต่เตรียมเส้นด้ายไปจนถึงการย้อมสีธรรมชาติใช้เวลา 2-3 วัน แต่ถ้าลดกระบวนการต่างๆ ตงนั้นได้ด้วยการนำเทคโนโลยีในงานวิจัยเข้ามาและชาวบ้านสามารถใช้ได้ง่ายขึ้น ตรงนี้จะตอบโจทย์ของกลุ่มทอผ้าฝ้ายที่นี่ได้ตรงจุด อย่างขั้นตอนการล้างเมื่อก่อนล้างด้วยสบู่เหลว บางครั้งล้างน้ำออก พอเขาไปย้อม ไขมันออกไม่หมด ก็ไปขัดขว้างการยึดติดของเม็ดสีกับเส้นใย ลดขั้นตอนการล้างโดยใช้น้ำสิ้นเปลืองลง ขณะเดียวกันในเรี่องของการออกแบบกี่ทอผ้ากึ่งอัตโนมัตินอกจากมีกำลังการผลิตที่มากขึ้น นักวิจัยก็คำนึงถึงการดูแลเรื่องสุขภาพเข้ามาด้วยอย่างการใช้งานที่ง่ายขึ้นและลักษณะที่นั่งไม่แข็งจนเกินไป ตรงนี้นักวิจัยก็ไปลงรายละเอียดมากขึ้นปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน”

ด้านนางอำพัน ทิพราชา ประธานกลุ่มอาชีพผ้าฝ้ายอำพัน กล่าวว่า ผ้าฝ้ายที่ทอเป็นซิ่นของกลุ่มจะใช้การเย็บมือซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของผ้าฝ้ายที่นี่นั่นคือ“มีเล็บเย็บมือ” ที่มีความปราณีตบรรจงซึ่งต้องใช้เวลานาน ขณะเดียวกันงานวิจัยของมทร.ล้านนาที่เข้ามาทำให้ลดขั้นตอนหรือกระบวนการไปได้พอสมควร

“เอกลักษณ์ของผ้าฝ้ายทุกผืนที่ทอมือจากกลุ่มเราจะมีเล็บซิ่นที่ปลายผ้า ตอนนี้มีการนำมาแปรรูปเป็นเสื้อหรือกางเกงเพื่อสามารถเป็นทางเลือกแก่กลุ่มลูกค้า ซึ่งการเย็บขึ้นรูปโดยกลุ่มชาวบ้านจะใช้จักรเย็บส่วนงานวิจัยที่ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับมทร.ล้านนานั้นทำให้ทางกลุ่มได้ความรู้ใหม่ๆ ในการพัฒนาขั้นตอนการทำงานเกี่ยวกับผ้าฝ้าย ทั้งเรื่องการย้อมสี การอบ การปรับเปลี่ยนลายใหม่ประยุกต์กับลวดลายเดิมทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆที่ผสมผสานไปด้วยกัน ทำให้ทางกลุ่มมีแนวคิดและเกิดความหลากหลายในการผลิตชิ้นงานมากขึ้น” 

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ชินานาฏ กล่าวทิ้งท้ายว่า งานวิจัยดังกล่าวยังคงต้องศึกษาต่อเพื่อปรับกระบวนการทำงานของเทคโนโลยีให้สามารถใช้งานได้อย่างลงตัวที่สุด และแม้จะมีการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการทอผ้าฝ้าย แต่โดยพื้นฐานของการทำงานทางทีมวิจัยยังคงคุณค่าความเป็นผ้าฝ้ายทอมือของฮอด ที่แสดงถึงภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สินค้าหัตกรรมที่ออกมายังมีความโดดเด่น และมีคุณภาพที่ดีขึ้น รองรับการขยายตลาดในอนาคตอันใกล้นี้.

Comments

Share Tweet Line