สวทช. นำนวัตกรรมเพื่อการเกษตร จุดประกายน้อง ม.ต้น เรียนรู้การยกระดับเกษตรกรไทย

สวทช. นำนวัตกรรมเพื่อการเกษตร จุดประกายน้อง ม.ต้น เรียนรู้การยกระดับเกษตรกรไทย

ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ จัดกิจกรรม “มหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ตอน นวัตกรรมเพื่อการเกษตร” แก่นักเรียนชั้น ม.ต้น กว่า 100 คนในย่านจังหวัดปทุมธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนการจัดกิจกรรมโดยโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เพื่อจุดประกายความรู้นวัตกรรมที่เกี่ยวกับการเกษตรซึ่งส่งผลกับการเจริญเติบโตของพืชที่ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผ่านเทคโนโลยีและความรู้ของนักวิจัย สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ตั้งแต่ทำความรู้จักกับโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) อิทธิพลของแสง เช่น แสงเทียมกับการเจริญเติบโตของพืช พร้อมร่วมทดลองทำกิจกรรมปลูกผักต้นอ่อนหรือไมโครกรีนซึ่งสามารถปลูกกินเองได้ง่ายๆ ทุกวัน และการต่อวงจรโมดูล LED และประกอบกล่องปลูก เพื่อให้ทราบถึงชนิดของแสงสีและความเข้มแสงที่ต่างกันจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชที่ต่างกันไปด้วย 


นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ สวทช. กล่าวว่า  ประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเกษตร มีประชากรจำนวนมากที่ประกอบอาชีพเกษตรกร รวมถึงยังนำการเกษตรไปใช้ประโยชน์ในเรื่องของอาหาร ยา สังคม และเศรษฐกิจ จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ตอน นวัตกรรมเพื่อการเกษตร สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งมีน้อง ๆ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ชั้น ม.2 กว่า 100 คน จาก 3 โรงเรียนในย่านจังหวัดปทุมธานีเข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวงวิทยาคม และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี เพื่อเรียนรู้ถึงความสำคัญของการเกษตรที่เป็นเสาหลักของประเทศ พร้อมเรียนรู้ถึงนวัตกรรมการเกษตรที่จะมาช่วยยกระดับให้เป็นการเกษตรเพื่ออนาคตได้

กิจกรรมมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ตอนนวัตกรรมเพื่อการเกษตร เป็นกิจกรรมที่ช่วยจุดประกายความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการเกษตร ที่ส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตของพืชได้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่การทำความรู้จักกับโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตพืชในระบบปิดหรือกึ่งปิดที่ควบคุมสภาพแวดล้อมภายในให้เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืช ต่อด้วยการเรียนรู้ถึงเรื่องอิทธิพลของแสง ที่มีผลต่อกับการเจริญเติบโตของพืช อย่างแสงแดดตามธรรมชาติจากดวงอาทิตย์ จะประกอบด้วยแสงสีที่ความยาวช่วงคลื่นต่าง ๆ ซึ่งพืชแต่ละชนิดจะมีการตอบสนองต่อแสงสีแตกต่างกันไป ทั้งนี้แสงสีแดงและแสงสีน้ำเงินเป็นแสงสีที่สีพืชสามารถนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้ดี อย่างไรก็ตาม ในด้านการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์การปลูกพืชและผักด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เราสามารถผลิตแสงเทียมเพื่อมาช่วยในเรื่องของการเจริญเติบโตของพืชเองได้ ซึ่งทั้งสองหัวข้อได้รับเกียรติจาก ดร.เกรียงไกร โมสาลียานนท์ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. มาให้ความรู้แก่น้องๆ ซึ่งการบรรยายนี้น้องๆ ได้นำความรู้ไปต่อยอดกับการทดลองวิทยาศาสตร์ในกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องอิทธิพลของแสง เพื่อเรียนรู้ถึงแสงสีต่าง ๆ กับการเจริญเติบโตของพืชที่มีผลแตกต่างกัน

จากนั้น เป็นการบรรยายโดย ผศ.ดร.ณัฐชัย พงษ์ประเสริฐ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับการปลูกไมโครกรีน ผักจิ๋วมหัศจรรย์ ซึ่งน้อง ๆ นอกจากจะได้รับทราบถึงที่มาที่ไปของพืชไมโครกรีนหรือผักต้นอ่อนแล้ว ยังได้ร่วมทดลองกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการปลูกผักต้นอ่อนหรือไมโครกรีน พร้อมคำแนะนำวิธีจดบันทึกผล และเทคนิคตรวจสอบผลการปลูกที่ดีควรเป็นเช่นไร เพราะถ้าน้อง ๆ ปลูกเองได้ดี ก็จะมีผักต้นอ่อนขนาดจิ๋วที่สามารถปลูกกินเองได้ง่าย ๆ เลยทุกวัน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทดลองทางวิทยาศาสตร์ การต่อวงจรโมดูล LED และประกอบกล่องปลูก โดยพี่วรพล เกิดเจริญ และพี่ชุมพล กลิ่นสุคนธ์ ที่ให้น้อง ๆ ได้ทดลองประกอบกล่องปลูก โดยให้ต่อวงจรไฟฟ้าด้วยตนเองเพื่อกำหนดแสงสีต่าง ๆ ซึ่งแสงแต่ละชนิดจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกแตกต่างกันไป

ด.ช.กวิน ว่องไววุฒิ นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนโยธินบูรณะ เล่าว่า “กิจกรรมครั้งนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ถึงประเภทของพืชที่มีอย่างหลากหลาย ทั้งพืชที่ปลูกโดยทั่วไป พืชที่ใช้ในอุตสาหกรรม รวมถึงได้ทดลองทำสิ่งประดิษฐ์ เกิดการวางแผนกับสมาชิกในกลุ่ม เพื่อให้งานประสบความสำเร็จตามที่วางแผนไว้ตามเวลาที่กำหนด ถือว่าเป็นประสบการณ์นอกห้องเรียนที่คุ้มค่ามาก ๆ” ขณะที่ ด.ญ.ปรินทร แสนโภชน์ นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวงวิทยาคม เล่าว่า “ดีใจที่ได้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เพราะได้เรียนรู้เรื่องพืชต้นอ่อนหรือไมโครกรีน ว่าแตกต่างกับพืชต้นอ่อนอื่น ๆ อย่างไร รวมถึงการต่อวงจรไฟฟ้าเพื่อกำหนดแสงซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูก ความรู้ที่ได้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำโครงงานเรื่องการปรับแสงที่แตกต่างกันเพื่อให้พืชชนิดต่าง ๆ เจริญเติบโต” และท้ายสุดกับ ด.ช.ณัฐภัทร ตั้งศักดิ์ชัยสกุล นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี เล่าว่า “ได้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืช เทคโนโลยีการเกษตร ที่สามารถนำไปต่อยอดเพื่อทำโครงงานประดิษฐ์ และโครงงานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งตนกำลังศึกษาเรื่องแสงที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ได้รับความรู้พร้อมความสนุกสนาน เกิดการเรียนรู้ความสามัคคีภายในกลุ่ม และยังได้รู้จักเพื่อนใหม่ต่างโรงเรียนอีกด้วย”

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line