“แคมป์ เคป กูดู” บนเกาะยาวน้อย จุดเริ่มต้นความฝันและสีสันแห่งแรงบันดาลใจ

“แคมป์ เคป กูดู” บนเกาะยาวน้อย จุดเริ่มต้นความฝันและสีสันแห่งแรงบันดาลใจ

“เกาะยาวน้อย”  เกาะขึ้นชื่อของจังหวัดพังงา แวดล้อมด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแมกไม้นานาพันธุ์และธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์งดงาม  ทั้งหาดทรายขาวสวย...น้ำทะเลสดใสสีเขียวครามทอดตัวอยู่แถบทะเลอันดามัน อีกทั้ง วิถีชาวเกาะที่เรียบง่ายทว่าน่าหลงใหลกับมิตรน้ำใจไมตรีและความน่ารักของขาวบ้านบนเกาะ ทำให้เกาะยาวน้อยเป็นสวรรค์แห่งการค้นหาแรงบันดาลใจที่ได้ใช้ชีวิตชิดอิงกับธรรมชาติ  ซึ่งน่าเสียดายที่หลายคนยังไม่มีโอกาสไปค้นหาด้วยตัวเอง.....


“แคมป์ เคป กูดู” (Camp Cape Kudu)  เริ่มต้นจากความหลงใหลในเสน่ห์ของเกาะยาวน้อยและวิถีการใช้ชีวิตของคนบนเกาะ  โรงแรมเคป กูดู เกาะยาวน้อย จึงจัดแคมป์สร้างสรรค์งานศิลปะ  โดยเชิญชวนเซลิบริตี้เชฟ  ดีไซเนอร์  ศิลปินชาวไทยและชาวต่างชาติสาขาต่างๆ ทั้งจากประเทศสิงคโปร์ และ ฟิลิปปินส์  มาร่วมค้นหาแรงบันดาลใจบนเกาะยาวน้อย เพื่อใช้เป็นขุมทรัพย์จุดประกายแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งมีอยู่มากมายจนยากที่จะปฏิเสธความเย้ายวนชวนค้นหาได้ อาทิ  เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ, เอ็มริสซ์  ษิตดะห์, คริส จอห์น ฟัสเนอร์, เอลิค โตบัว, อุทานพร พิธานสมบัติ, เอกบุตร อุดมผล ฯลฯ

การเดินทางไปเกาะยาวน้อยของคณะครั้งนี้  ต่างเชื้อชาติหลากหลายวัฒนธรรมแต่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน  4 วัน 3 คืน ณ โรงแรม เคป กูดู เกาะยาวน้อย  เพื่อให้ได้สัมผัสวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวาของคนบนเกาะ  ได้ใช้ชีวิตเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน  และได้ร่วมทำกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น กิจกรรมผ้ามัดย้อมบาติกร่วมกับชุมชน  เที่ยวสวนมะพร้าวลุงบ่าว แวะบ่อปลา นาโยน ที่พวกเขาได้ลงมือทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บมะพร้าวน้ำหอมและดื่มสดๆ  การทำนาโยน  การล่องเรือเที่ยวรอบเกาะชมความงดงามที่ซ่อนเร้นและน่าค้นหา และได้ลงไปดำน้ำเก็บหอย ตกปลากับชาวประมง เก็บสาหร่ายองุ่นทะเล ไปเที่ยวชมสวนทุเรียน  สวนสะตอของชาวบ้าน  อีกทั้งยังได้เดินทางไปหาบังหนีดและได้ศึกษาการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลาและกุ้งมังกร  รวมทั้งเป็นที่อภิบาลสัตว์ทะเลหายากนานาชนิดที่บังหนีดได้เคยช่วยชีวิตไว้ และยังได้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียนบนเกาะอีกด้วย  และกิจกรรมการสร้างโพรงรังเทียมให้เป็นบ้านของนกเงือกที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองร่วมกับคนในชุมชนบนเกาะยาวน้อย  เพื่อช่วยเพิ่มจำนวนประชากรนกเงือกบนเกาะซึ่งมีน้อยลงทุกที

เริ่มต้นวันแรกตามติดกับ เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ เชฟสาวรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งยุค เจ้าของตำแหน่ง ท็อป เชฟ ไทยแลนด์ คนแรกของประเทศไทย ที่มีฝีมือการทำอาหารแพรวพราวไปด้วยเทคนิคและความสามารถหลากหลาย  บวกกับรอยยิ้มสดใสและพลังอันเต็มเปี่ยม แถมเธอมีอายุน้อยที่สุดในแคมป์นี้  โดยโจทย์ในการทำอาหารครั้งนี้ เริ่มจากการหาวัตถุดิบและแรงบันดาลใจบนเกาะยาวน้อยเพื่อปรุงเป็นเมนูมื้อพิเศษ  ซึ่งรุ่งเช้าวันนั้นเชฟตามยังไม่รู้ว่าจะปรุงเมนูใด  ไม่มีการคิดหรือตระเตรียมล่วงหน้า เธอพร้อมเปิดรับทุกประสบการณ์ที่กำลังจะเริ่มต้น  เชฟตามได้ไปที่ท่าต้นโดซีฟู้ดร้านอาหารพื้นบ้านเลื่องชื่อ  ที่ใครแวะไปเกาะยาวน้อยต้องแวะไปชิมรสมือ “กาญจนา ไม้แก้ว” หรือที่พวกเราเรียกอย่างสนิทใจว่า “มะห์” (ภาษาอิสลามแปลว่าแม่) เจ้าของร้านที่มักจะนำวัตถุดิบสดใหม่มาปรุงอาหารจานเด็ด เด็ดขนาดที่แม้ไม่มีอยู่ในเมนูแต่มะห์ก็สามารถเนรมิตอาหารถิ่นจากครัวเรือนเป็นเมนูขึ้นโต๊ะจานอร่อยและที่สำคัญหาทานยาก  เชฟตามได้สัมผัสความน่ารักและไมตรีของมะห์  เธอเรียนรู้และช่วยมะห์ทำอาหารตลอดทั้งวัน  จากนั้น เธอเดินทางไปที่สวนสะตอ  สวนทุเรียน  ตลาดบนเกาะยาวน้อย ฯลฯ เพื่อเลือกสรรวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงอาหารด้วยตนเอง  ดินเนอร์มื้อค่ำวันถัดไปเชฟตามบรรจงรังสรรค์เมนูพิเศษสุด  โดยเริ่มจากจานแรก “สปาเก็ตตี้หอยกะพงใบเหลียง” เนื้อหอยกะพงอวบสดที่คณะจากแคมป์ช่วยกันเก็บมาจากทะเล  คลุกเคล้ากับเส้นสปาเก็ตตี้ผัดใบเหลียง  รสชาติอร่อยอย่าบอกใคร  แถมเป็นเมนูแปลกใหม่น่ารับประทาน  ต่อด้วยจานที่สอง “หอยกะพงชุบแป้งทอด” ที่เชฟตามนำเนื้อหอยกะพงชุบแป้งทอดสไตล์นักเก็ตรสเผ็ดร้อน  และ “ซอสทุเรียน” ซึ่งนำทุเรียนที่ได้มาจากสวนดัดแปลงทำเป็นซอสทานคู่ขนมปัง  ทำให้เมนูนี้มีความพิเศษและสร้างสรรค์มากเมนูหนึ่งจนคนที่ได้ชิมบอกคำเดียวว่าอร่อยและไม่มีกลิ่นฉุนของทุเรียน   ตามด้วยอีกหลายหลายเมนูรสชาติจัดจ้านสไตล์ปักษ์ใต้บ้านเรา  ทั้งเพสโต้สะตอและกุ้ง ปลาหมึกดำ ฯลฯ  นับว่าเป็นอาหารฝีมือเชฟตามที่มีสีสันและได้รับแรงบันดาลใจจากเกาะยาวน้อยอย่างแท้จริง  โดยคงซิกเนเจอร์ฝีมือดีกรีแชมป์ท็อปเชฟได้อย่างไม่มีที่ติ

ตามมาด้วยศิลปินชาวสิงคโปร์ เอ็มริสซ์  ษิตดะห์ (Mriz Sidah – Rizibe) นักออกแบบทัศนศิลป์ (Visual Artist) ซึ่งมีผลงานออกแบบลายกางเกงว่ายน้ำให้กับแบรนด์ชั้นนำ  เขามาเพื่อจุดประกายจินตนาการให้กับงานดีไซน์ของเขา  และตั้งใจที่จะออกแบบลายปริ้นท์ผ้าสวยงามให้กับกิจกรรม แคมป์ เคป กูดู เป็นพิเศษ  โดยวันแรกเขานำกลุ่มจัดเวิร์คช้อปวาดภาพบริเวณริมชายหาดหน้าโรงแรมเคป กูดู เพื่อซึมซับบรรยากาศธรรมชาติรอบตัว  จากนั้นนำเก็บก้อนหินลักษณะแปลกตารูปทรงต่างๆ และวัสดุธรรมชาติตามข้างทางเพื่อนำมาทำลายผ้ามัดย้อมที่ โดดเด่น  ซึ่งได้นำมาใช้ทำกิจกรรมมัดย้อมผ้าบาติกร่วมกับกลุ่มแม่บ้านท่าเขา ซึ่งเป็นกลุ่มโอท็อปของชุมชน ที่รวมตัวกันเปิดสอนทำผ้าบาติกและจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว  ถือเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเทคนิคงานศิลป์ร่วมกับชุมชน  โดยได้รับความสนใจจากกลุ่มแม่บ้านเป็นอย่างมาก และต่างฝ่ายต่างได้รับแรงบันดาลใจ รวมทั้งเทคนิคและไอเดียสดใหม่เพื่อนำไปต่อยอดอีกด้วย

ศิลปินคนต่อไป เป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Tropical Futures Institute จากประเทศฟิลิปปินส์ คริส จอห์น ฟัสเนอร์ (Chris John Fussner) ซึ่งเขาจะนำประสบการณ์และแรงบันดาลใจที่ได้จากการร่วมทริป คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านและธรรมชาติอันสวยงามมาออกแบบคอลเลคชั่นใหม่  โดยเฉพาะการออกแบบเสื้อลายกราฟิกสำหรับ แคมป์ เคป กูดู  ในขณะที่ เอกบุตร อุดมผล นักดีไซน์เนอร์ไทยรุ่นใหม่ไฟแรงและผู้ก่อตั้ง SON Studio ก็จะนำความประทับใจจากการร่วมกิจกรรม กลับไปออกแบบ Capsule Collection เพื่องานนี้โดยเฉพาะเช่นกัน

นอกจากนี้ เอลิค โตบัว (Eric ToBua) แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวไทยผู้โดดเด่นด้านการออกแบบเครื่องประดับ สวมหัวและหน้ากาก  รวมทั้ง อุทานพร พิธานสมบัติ ศิลปิน นักออกแบบ ผู้เชี่ยวชาญการทำงานศิลปะด้วยมือ และนักพัฒนาผลิตภัณฑ์  ทั้งสองคนได้มีโอกาสไปสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ นักเรียนโรงเรียนเกาะยาววิทยา โดยจัดเวิร์คช้อปแนะการนำขยะรีไซเคิลมาใช้สร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะที่น่าตื่นตาตื่นใจได้ด้วยตนเอง  เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้น้องๆ และเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนบนเกาะยาวน้อยส่งผลงานศิลปะจากขยะรีไซเคิลเข้าประกวดในงานKudu Goes Green by Cape Kudu Hotel ตอนปลายปีเพื่อชิงทุนการศึกษาอีกด้วย 

ศิลปินทุกคนที่ร่วมแคมป์ได้มีโอกาสช่วยกันสร้างโพรงรังเทียมเพื่อเป็นบ้านให้นกเงือก ทดแทนโพรงไม้ขนาดใหญ่ตามธรรมชาติที่นกเงือกใช้เป็นรังสืบพันธุ์ซึ่งมีจำนวนลดน้อยลงทุกที  โดยกิจกรรมในครั้งนี้ โรงแรม เคป กูดู ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญการสร้างโพรงรังเทียมบนเกาะยาวน้อยมาเป็นวิทยากรและแนะนำการสร้างบ้าน พร้อมติดตั้งบริเวณป่าและต้นไม้รอบโรงแรมฯ 

วันสุดท้ายทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่อยากกลับ!  พวกเขารู้สึกประทับใจวิถีชีวิต ความน่ารัก และเป็นกันเองของชาวบ้านที่หยิบยื่นไมตรีให้เสมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน  ทั้งหมดนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่หาจากที่ไหนไม่ได้ และพวกเขาจะกลับมาที่เกาะยาวน้อยอีกครั้งอย่างแน่นอน  ซึ่งโรงแรมเคป กูดู หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ออกแบบการเดินทางให้กับผู้ที่แสวงหาประสบการณ์และแรงบันดาลใจพร้อมไปกับการพักผ่อนท่องเที่ยวในโรงแรมหรูระดับห้าดาว (Small Luxury Hotels of the World) ที่พรั่งพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน  ซึ่งทุกกิจกรรมใน แคมป์ เคป กูดู พร้อมให้บริการแก่ทุกท่าน  อีกทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมและตอบแทนชุมชนบนเกาะให้มีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย  

โรงแรมเคป กูดู ได้หล่อหลอมความมีเสน่ห์ของธรรมชาติบนเกาะยาวน้อยรวมเข้ากับวิถีชีวิตชาวเกาะ  โดยใส่ใจในรายละเอียดตั้งแต่การออกแบบโรงแรมฯ ที่เน้นความสวยงามกลมกลืนกับธรรมชาติ  โดดเด่นด้วยการใช้โทนสีเทอร์ควอยซ์สร้างความสดใสและในขณะเดียวกันให้ความรู้สึกถึงกลิ่นอายของท้องทะเลที่ทอดตัวอยู่เบื้องหน้า  เป็นเสมือนผลงานศิลปะชิ้นเอกท่ามกลางธรรมชาติอันบริสุทธิ์และเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ  เพื่อรอต้อนรับแขกผู้มาเยือนให้ได้สัมผัสประสบการณ์อันอิ่มเอมใจและพกความสุขกลับบ้านไปเติมต่อฝัน

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line