สวทช. ร่วมกับ สนพ. จัดสัมมนาเสนอผลงานวิจัยด้านระบบกักเก็บพลังงาน

สวทช. ร่วมกับ สนพ. จัดสัมมนาเสนอผลงานวิจัยด้านระบบกักเก็บพลังงาน

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่บริหารจัดการทุนวิจัยใน “โครงการสนับสนุนการศึกษา วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ปีงบประมาณ 2559 (Energy Storage)” มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (13 ก.ย. 59 - 12 ก.ย. 62) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานในด้านต่าง ๆ เช่น ความมั่นคงและภัยพิบัติ พลังงานทดแทน และยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ตลอดการดำเนินงานมีโครงการวิจัยภายใต้โครงการฯ จำนวน 27 โครงการ จาก 12 หน่วยงาน  เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความก้าวหน้างานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานของประเทศ และเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิจัย จึงจัดสัมมนาเพื่อนำเสนอผลงานขึ้น เพื่อสร้างฐานองค์ความรู้ในการต่อยอดพัฒนานวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานสู่การใช้ประโยชน์ตามนโยบายพลังงาน 4.0 ต่อไป 




ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เล็งเห็นความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage ที่มีประสิทธิภาพสำหรับประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าและพลังงานจากแหล่งพลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มเสถียรภาพการผลิตและใช้พลังงานของประเทศ จึงมีมติเห็นชอบให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน แผนพลังงานทดแทน กลุ่มงานค้นคว้าวิจัย ศึกษาเพื่อการพัฒนาและส่งเสริม “โครงการสนับสนุนการศึกษา วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ปีงบประมาณ 2559” ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวในเรื่องเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน โดยทำหน้าที่บริหารจัดการทุนวิจัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่า พร้อมสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานในด้านต่าง ๆ นำร่องใช้ในงานด้านความมั่นคงและภัยพิบัติ ด้านอุตสาหกรรม และยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างฐานพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานให้เข้มแข็งและแข่งขันได้ในระยะยาว มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2559 - 12 กันยายน 2562 โดยคณะทำงานกำกับงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน อนุมัติการสนับสนุนโครงการและมีโครงการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ณ ปัจจุบัน จำนวน 27 โครงการ จาก 12 หน่วยงาน สวทช. จึงจัดงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความก้าวหน้างานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานของประเทศ เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้เทคโนโลยีร่วมกันระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องในเชิงนโยบาย และสร้างโอกาสการต่อยอดนวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานสู่การใช้ประโยชน์ตามนโยบาย Energy 4.0 


“เนื่องจากระบบกักเก็บพลังงานเป็นส่วนประกอบหลักที่จะทำให้เกิดการเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ให้ใช้ได้นาน ทำให้เกิดเสถียรภาพในระบบผลิตไฟฟ้าและพลังงานจากแหล่งพลังงานทดแทน ยานพาหนะไฟฟ้าใช้งานได้นานขึ้น รวมถึงบุคลากรที่มีความรู้เรื่องนี้ยังมีน้อย ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องสร้างขีดความสามารถด้านนี้ด้วยการพัฒนาขึ้นมาเอง พร้อมศึกษาจากต่างประเทศ แล้วพัฒนาต่อยอดในอนาคต ซึ่งโครงการฯ มีกรอบงานวิจัย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานของประเทศไทย ระยะ 20 ปี กลุ่มที่ 2 การสนับสนุนงานวิจัยเชิงประยุกต์ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานเพื่อใช้งานด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย 3 กรอบวิจัย ได้แก่ กรอบการพัฒนาเพื่อใช้งานด้านความมั่นคงและภัยพิบัติ กรอบการพัฒนาเพื่อใช้งานกับนิคมอุตสาหกรรม พลังงานทดแทน และพื้นที่ห่างไกล และกรอบการพัฒนาเพื่อใช้งานในยานยนต์ ขณะที่ กลุ่มที่ 3 การสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า ประกอบด้วย 2 กรอบวิจัย ได้แก่ กรอบงานด้านวัสดุ ระบบการกักเก็บและการศึกษาการใช้เซลล์เชื้อเพลิงสำหรับการใช้งานเป็นระบบกักเก็บพลังงาน และกรอบงานด้านการควบคุมการทำงาน การนำระบบกักเก็บพลังงานไปใช้งานร่วมกับระบบการใช้และผลิตพลังงานอื่น ๆ” ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าว



ทั้งนี้ ภายในงานสัมมนา พบกับการบรรยายเรื่อง “Disruption Economy and Energy Storage” โดย คุณสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และการนำเสนอผลงานวิจัย (Flash presentation) ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ ของนักวิจัยทั้ง 27 โครงการ รวมถึงการแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยภายใต้โครงการฯ ทั้งสิ้น 27 โครงการด้วย

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line