ผอ.สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล แนะพัฒนาศักยภาพสมองด้วย Brain-based Learning

ผอ.สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล แนะพัฒนาศักยภาพสมองด้วย Brain-based Learning

กระบวนการเรียนรู้ เกิดจากการที่สมองรับรู้สิ่งเร้า หรือ ตัวกระตุ้น ผ่านระบบประสาทรับความรู้สึก (Sensory Perception) หรือ 5 อายตนะ อันได้แก่ ตาดู หูฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นรับรส และกายสัมผัส ซึ่งเมื่อประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ จะทำให้เกิดความรู้ ความจำ ความรู้สึกและอารมณ์ จนเกิดปัญญาและจิตตปัญญา สามารถนำไปประยุกต์ในชีวิตประจำวัน และทำงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้


รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “นวัตกรรมการเรียนรู้” หมายถึง การพัฒนาตัวกระตุ้น หรือสื่อการเรียนรู้ หรือวิธีการเรียนรู้ ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ผ่านระบบประสาทและสมอง บทบาทที่สำคัญของ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล คือ การผลิตบัณฑิต งานวิจัย และการให้บริการด้านวิชาการและความรู้สู่สังคม สร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้ ตลอดจนพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดปัญญา ภายใต้แนวคิด “รู้จริง รู้นาน รู้สร้างสรรค์ สื่อสารได้” ซึ่งศาสตร์หนึ่งที่สถาบันฯ ได้นำมาใช้ในการบริการวิชาการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้พัฒนาศักยภาพตนเอง คือ Brain-Based Learning (BBL) หรือ "การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน"

“สมองซีกซ้ายเป็นสมองแห่งเหตุผล ในขณะที่สมองซีกขวาจะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับจิตใจและความรู้สึกของมนุษย์ BBL มีรากฐานมาจาก Cognitive Neuroscience หรือ ประสาทวิทยาศาสตร์การรู้จำ ซึ่งประกอบด้วยศาสตร์ทางสรีรวิทยาระบบประสาท (Neurophysiology) จิตวิทยาการเรียนรู้ (Psychology of Learning) และประสาทพฤติกรรมศาสตร์ (Neurobehavioral Science) มาผนวกกัน เราใช้วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์และระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยมีครูอาจารย์จากทั่วประเทศเป็นต้นแบบ ถ้าครูของเรารู้ศาสตร์การสอนโดยอาศัยระบบประสาทเป็นฐานในการสอน เราก็จะสามารถทำให้เด็กมีพัฒนาการเรียนรู้ที่เขาถนัดในด้านหนึ่ง และให้เขาพัฒนาอีกด้านหนึ่งให้เก่งขึ้นได้ด้วย ซึ่งจะทำให้เขามีความรอบรู้ (well-rounded) ไม่ใช่ว่าเป็นพวกถนัดสมองซีกซ้าย แต่ใช้ทักษะแบบพวกถนัดสมองซีกขวาไม่เป็น หรือเป็นพวกถนัดสมองซีกขวา แต่ใช้ทักษะ แบบพวกถนัดสมองซีกซ้ายไม่ได้ แต่เราจะทำให้คนที่ไม่รู้มิติสัมพันธ์ ได้ฝึกการใช้มิติสัมพันธ์ให้ดีขึ้น ในขณะที่เราจะทำให้คนที่เห็นภาพใหญ่อาศัยความรู้สึก เก่งภาษาและใช้เหตุผลได้ในเวลาเดียวกัน”

“ในการทำเวิร์คชอป BBL จะมีการประเมินลักษณะของผู้เรียนว่าเป็นอย่างไร และจะมีการฝึกเตรียมสมอง ฝึกการประสานของสมองสองซีก เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีที่จะไปนำไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันโดยมีการใช้ VARK Model ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่ม V = Visual รูปแบบการเรียนรู้ที่สื่อด้วยภาพและสัญลักษณ์ กลุ่ม A = Aural / Auditory รูปแบบการเรียนรู้ที่สื่อด้วยเสียง กลุ่ม R = Read / Write รูปแบบการเรียนรู้ที่สื่อด้วยอักษรและข้อความ และกลุ่ม K = Kinesthetic รูปแบบการเรียนรู้ที่สื่อด้วยสัมผัสและการลงมือปฏิบัติ”

“อาหารบำรุงสมองก็เป็นเรื่องสำคัญ หากเราได้รับวิตามินบี-1 บี-6 และ บี-12 วันละ 1-2 เม็ด จะช่วยเร่งการสื่อนำกระแสประสาทได้ดี และควรได้รับวิตามินซีวันละ 100 - 500 มิลลิกรัม เพื่อช่วยในการสร้างคอลลาเจนและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ นอกจากนี้ การฟังดนตรี ยังเป็นอาหารสมองชั้นเลิศอีกด้วย และควรเล่นกีฬา หรือออกกำลังกายเพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งควรฝึกใช้สมองคิดแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นประจำฝึกคิดเลขในใจ ตลอดจนฝึกจิตโดยใช้หลักอานาปานสติตามลมหายใจเข้า-ออก โดยหายใจเข้า 3 วินาที หายใจออก 4 วินาที เพื่อให้สมองได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง และเมื่อจิตสงบนิ่งก็จะเกิดสมาธิ จิตที่ขุ่นข้องหมองใจซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ก็จะหายไป พอใจสงบแล้ว สมองก็จะพร้อมเปิดกว้างรับสิ่งใหม่ๆ ทำให้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น” รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย กล่าวแนะนำทิ้งท้าย

ศึกษารายละเอียดของ Brain-Based Learning (BBL) เพิ่มเติม และบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับนวัตกรรมการเรียนรู้ได้จากเว็บไซต์ของ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล www.il.mahidol.ac.th ในหัวข้อ"I-Learning Clinic" หรือ FB : @InnovativeLearning.MU

Comments

Share Tweet Line