คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล ริเริ่มจัดตั้ง Platform งานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์ครบวงจร

คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล ริเริ่มจัดตั้ง Platform งานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์ครบวงจร

รัฐบาลในหลายยุคหลายสมัยมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการที่จะพัฒนาไปสู่การเป็น Medical Hub ของระดับภูมิภาค แต่พบว่าประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในการขาดดุลทางการค้า จากการที่ต้องนำเข้าสินค้าทางด้านการแพทย์และสุขภาพจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด โดยคิดเป็นมูลค่าที่เป็นเงินปีละนับแสนล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งของมูลค่าทั้งหมดนั้น เครื่องมือแพทย์และชุดตรวจชนิดที่ใช้วินิจฉัยภายนอกร่างกาย (in vitro diagnostics) ซึ่งใช้ในห้องปฏิบัติการต่างๆ พบว่าประเทศไทยต้องนำเข้าเป็นหลักหมื่นล้านบาททุกปี


ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการควบคุมเครื่องมือแพทย์ ฉบับปี 2531 ปี 2551 จนกระทั่งมาปี 2562 ซึ่งเป็นฉบับแก้ไขในปัจจุบัน โดยทั้ง 3 ฉบับ เดิมให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยของคนไข้ ผู้บริโภค และผู้ใช้งาน จึงมุ่งเน้นที่การควบคุม กำกับ ดูแล และอนุญาตมาโดยตลอด แต่ไม่มีส่วนไหนที่พูดถึงเรื่องของการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์รองรับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ในบ้านเราขึ้นมาเลย”

จากการที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ ปี 2562 ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้มีโอกาสร่วมกับกรรมาธิการท่านอื่นๆ เสนอแนะจนกระทั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านพรบ. ที่มีการเติมความไปว่า “กระบวนการพิจารณาอนุญาตเครื่องมือแพทย์ ต้องให้ความสำคัญด้านการส่งเสริมการผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศด้วย” ควบคู่กับการจัดตั้ง Medical Products Consortium of Thailand (MPCT) โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ 26 องค์กรหลักของประเทศ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากที่ทำให้เกิดมาตรการในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เพื่อลดการขาดดุลทางการค้า จากที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศในจำนวนเม็ดเงินที่มหาศาล

“ในอดีตมักพบว่านักวิจัยส่วนใหญ่ทำงานวิจัยจากโจทย์วิจัยที่ตัวเองสนใจ โดยผลการวิจัยจะหยุดอยู่แค่เรื่องของการได้รับการตีพิมพ์ แต่เราทำอย่างนั้นไม่ได้ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจำเป็นต้องพัฒนางานวิจัยโดยพิจารณาถึงความต้องการของลูกค้าและตลาดด้วย โดยการผลักดันสู่กระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ริเริ่มจัดตั้ง Platform งานวิจัยสู่นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง คือการใช้โจทย์ความต้องการของประเทศในการวางแผนร่วมกับนักวิจัยในการวิจัยและพัฒนา กลางทาง คือ การต่อยอดองค์ความรู้สู่กระบวนการผลิตชิ้นงานผ่านโครงการจัดตั้งโรงงานต้นแบบเพื่อการพัฒนาชุดทดสอบน้ำยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สำหรับคณาจารย์และนักวิจัยภายในคณะฯ หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจร่วมมือ และปลายทาง คือ การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ผ่านบริษัท เอ็มที อินโนเทร็กซ์ จำกัด (ถือหุ้น 100% โดยคณะฯ) โดยมีช่องทางการให้คำปรึกษาด้านการผลิต การตลาด ตลอดจนช่องทางติดต่อกับภาคอุตสาหกรรมและจับคู่ทางธุรกิจที่เหมาะสมก่อนนำออกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นตัวกลางในการรักษา และดูแลผลประโยชน์ทางการตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์ หรืองานบริการที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาให้สามารถแข่งขันในตลาดได้จริง” ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.กุลชาติ จังภัทรพงศา รองคณบดีฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า “จริงๆ งานวิจัยของคณะฯ มีค่อนข้างหลากหลาย แต่ในเฟสแรก เราพยายามผลักดัน 3 ผลิตภัณฑ์หลักให้ออกวางตลาด โดยผลิตภัณฑ์แรก คือ ชุดทดสอบการติดเชื้อฉี่หนูชนิดรวดเร็ว (Lep M-Plus และ Lep G-Plus) ซึ่งมีการใช้ที่ง่ายและทราบผลเร็วคล้ายชุดตรวจการตั้งครรภ์ โดยจะมีความร่วมมือกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้มีการขยายผลสู่การใช้ตรวจโรคฉี่หนูในระดับประเทศต่อไป ผลิตภัณฑ์ชิ้นที่ 2 คือ ชุดทดสอบการปนเปื้อนของโปรตีนในพื้นผิวต่างๆ (Y-Blue Kit) ซึ่งจะเป็นทางเลือกสำหรับการใช้ทดสอบประสิทธิภาพการชำระล้างพื้นผิวในภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ จากเดิมที่ต้องนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกาในราคาที่ค่อนข้างแพง และผลิตภัณฑ์ชิ้นที่ 3 คือ ชุดทดสอบสารตกค้างยาฆ่าแมลงในผักผลไม้ ซึ่งจะจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นอุตสาหกรรมอาหาร ผู้ประกอบการ และกลุ่มผู้บริโภคโดยทั่วไปที่รัก และใส่ใจในสุขภาพ โดยปัจจุบันได้มีการพูดคุยกับภาคเอกชนเพื่อผลักดันสู่ตลาดต่อไป”

นอกจากนี้ยังมีผลงานการประดิษฐ์ โดย นายนภัสวิภู จีนะสุทธิ์ มหาบัณฑิตของคณะฯ ซึ่งจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อฝึกการเจาะเลือดสำหรับนักศึกษาแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ ให้ผิวสัมผัสที่ค่อนข้างเหมือนผิวหนังจริง มีราคาเพียงหลักร้อย และสามารถเจาะซ้ำโดยไม่ทิ้งร่องรอยเหมือนผิวหนังเทียมแบบเดิมที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาหลักพัน แต่เมื่อใช้ซ้ำแล้วบอบช้ำง่าย เกิดร่องรอยทำให้คนที่มาเจาะต่อเห็นชัด ซึ่งไม่ส่งเสริมการฝึกปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่กำลังได้รับความสนใจเช่นเดียวกัน

ผู้สนใจเยี่ยมชมหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โทร. 0-2441-4371-5 ต่อ 2801 ในวันและเวลาราชการ

Comments

Share Tweet Line