หมอเผย สุดอันตราย มนุษย์“กินพลาสติก” ไม่รู้ตัว ชี้ สูดดมทุกวันสะสมในร่างกาย ขับออกไม่ได้

หมอเผย สุดอันตราย มนุษย์“กินพลาสติก” ไม่รู้ตัว ชี้ สูดดมทุกวันสะสมในร่างกาย ขับออกไม่ได้

หมอเผย สุดอันตราย มนุษย์ “กินพลาสติก” ไม่รู้ตัว ชี้ ก้นบุหรี่ ใยสังเคราะห์เสื้อผ้า ยางรถยนต์ เม็ดพลาสติก แทรกในซีฟู้ด น้ำดื่ม ลอยในอากาศ สูดดมทุกวันสะสมในร่างกาย ขับออกไม่ได้ เพราะเล็กระดับนาโน 


นายแพทย์กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวถึงการลดขยะพลาสติกว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก แต่ที่มักได้ยินกันบ่อยคือพลาสติกที่ทิ้งนั้นไปตกถึงท้องสัตว์ทะเลจนทำให้มันตาย อย่างไรก็ดีสิ่งเหล่านี้อาจยังไม่กระทบกับความรู้สึกของหลายคนมากนักเพราะยังรู้สึกไกลตัว ที่จริงมันมีพลาสติกที่ใกล้ตัวกว่านั้น คือมันเข้าไปอยู่ในตัวของเราได้เลยว่างั้น สิ่งนี้มาจากขยะพลาสติกที่มนุษย์ทิ้งอีกเช่นกันแต่มันร้ายกว่าดังจะขอเรียกว่า “พลาสติกจิ๋ว (Microplastic)” หรือไมโครบีดส์เล็กๆ (Microbead) ซึ่งเจ้าอนุภาคพลาสติกจิ๋วนี้มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรแต่หลายอนุภาคก็มองไม่เห็นด้วยตาแถมยังเล็กกว่าฝุ่นละออง 2.5 ที่เป็นข่าวดังไปทั่วเสียอีก

“พลาสติกจิ๋วนี้มาได้จากหลายสิ่งในชีวิตประจำวัน อาทิก้นบุหรี่ ที่มีรายงานว่าพบมากกว่าถุงพลาสติกเสียอีก ,เส้นใยสังเคราะห์ของเสื้อผ้า,ยางรถยนต์และอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก ซึ่งสามาถเข้าสู่ร่างกายเราได้ 3 ทางคือ
อากาศ มีรายงานการตรวจพบพลาสติกจิ๋วลอยฟ่องอยู่ในอากาศที่เราสูดหายใจเข้าไป อาหาร พลาสติกจิ๋วแทรกอยู่ในซีฟู้ดและสัตว์ทะเลที่เราบริโภคเป็นจำนวนมากโดยที่มองไม่เห็น น้ำดื่ม มีการสำรวจพบน้ำเปล่าบรรจุขวดที่ดื่มพบอณูของพลาสติกจิ๋วนี้เจือปนอยู่ในปริมาณพอสมควรที่คนดื่มน้ำขวดบ่อย ๆ ที่ควรทราบ” นายแพทย์กฤษดา กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวต่อว่ามีการศึกษาในสหราชอาณาจักรพบว่าพลาสติกจิ๋วนี้มีเจือปนแทรกเป็นยาดำอยู่ในแทบทุกแห่งหนบนโลกแล้วไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำลำธาร มหาสมุทรอันไพศาลหรือขุนเขาสูงเสียดฟ้าล้วนแต่ตรวจพบว่ามี “ไมโครพลาสติก” ปนเปื้อนอยู่อย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังมีรายงานล่าสุดถึงการพบ “เชื้อแบคทีเรีย” มากกว่า 400 ชนิดที่ติดอยู่บนพลาสติกจิ๋วนี้ซึ่งสำรวจพบตามชายหาดท้องถิ่น เชื้อพวกนี้มีตั้งแต่เชื้อลำไส้อักเสบ,ติดเชื้อในกระแสเลือดไปจนถึงมีผลกับการเกิดปะการังฟอกสี จุดที่พบไมโครพลาสติกนี้มากเป็นอันดับต้นๆได้แก่แม่น้ำแยงซีและตลอดชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนของประเทศสเปน 

นายแพทย์ กล่าวว่า สำหรับของกิน-ของใช้ใกล้ตัวที่อาจมีไมโครพลาสติกจิ๋วนี้มาปะปนอยู่ได้ที่ควรต้องจับตาคือ
1) น้ำดื่ม แม้จะเป็นน้ำขวดก็ตามดังมีรายงานจากต่างประเทศว่าพบอนุภาคพลาสติกจิ๋วนี้ในขนาดที่ตาแทบมองไม่เห็นคือ 100 ไมครอนอยู่จากน้ำดื่มตัวอย่าง ด้วยอย่าลืมว่าขยะพลาสติกจิ๋วจากน้ำมือมนุษย์เหล่านี้แทรกซึมอยู่ตามแหล่งน้ำทั่วโลกทั้งน้ำจืดและน้ำทะเล
2) เกลือปรุงอาหาร เกลือสมุทรที่มาจากน้ำทะเลนั้นมีพลาสติกจิ๋วปะปนอยู่ได้
3) ซีฟู้ด อาหารทะเลสัตว์เปลือกแข็ง กุ้ง,หอย,ปูปลา
4) กะปิ เพราะตัวเคยนั้นอาจกินพลาสติกพีวีซีเข้าไปสะสมในตัว
5) ผงกลิตเตอร์วิบวับ ที่ใช้แต่งหน้าหรือทำการฝีมือ
6) ก้นบุหรี่ ทำจากเซลลูโลสอะซีเตทที่เป็นสารชนิดเดียวกับที่ใช้ทำแว่นกันแดด
7) หอยแมลงภู่ มีการเก็บตัวอย่างหอยแมลงภู่ในอังกฤษและตามชายหาดท้องถิ่น 8 แห่งโดยมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งสหราชอาณาจักรพบว่ามีพลาสติกจิ๋วนี้ติดมากับตัวหอยเป็นจำนวนน่าตกใจโดยเฉลี่ยถึง 70 ชิ้นในทุกๆ 100 กรัมของหอยซึ่งเรามองไม่เห็น

“ที่มีการอ้างว่าพลาสติกจิ๋วที่คนเรากินเข้าไปนี้น่าจะขับถ่ายออกมาได้ แต่อย่าลืมว่าของพวกนี้คือสิ่งแปลกปลอมและไมโครพลาสติกหลายชนิดเล็กระดับ “นาโนพลาสติก” ซึ่งแปลว่ามันอาจแทรกซึมเข้าในร่างกายเราถึงในระดับเซลล์ได้ และถ้าในพลาสติกจิ๋วบางชนิดอาจดูดซับเคมีพิษติดตัวมันมาด้วย จะเห็นว่าถึงแม้จะยังไม่เห็นผลเสียชัดเจนในตอนนี้แต่ก็ไม่ควรประมาทกับเรื่องสุขภาพเพราะมันก็คือสิ่งแปลกปลอมที่อาจกลับมาทำร้ายคนได้” นายแพทย์กฤษดา กล่าวทิ้งท้าย

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line