รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร ร่วมเสวนา "สัตว์เลี้ยงบำบัดกับสมองเสื่อม" เนื่องในวันอัลไซเมอร์โลก

รศ.นสพ.ปานเทพ  รัตนากร ร่วมเสวนา

อัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานของสมองซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ โดยจะเริ่มมีอาการให้เห็นตั้งแต่อายุ 50 - 60 ปี โรคนี้เป็นแล้วผู้ป่วยไม่สามารถรักษาให้หายได้ ทำได้เพียงประคับประคองอาการของโรคได้เท่านั้น ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ต้องการความเข้าใจและต้องได้รับการดูแลด้วยความเอาใจใส่ ซึ่งการเลี้ยงสัตว์ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยบำบัดอาการของโรคได้


เนื่องในวันอัลไซเมอร์โลกซึ่งตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปี เมื่อเร็วๆ นี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู ได้จัดงานวันอัลไซเมอร์โลก ประจำปี 2562 ขึ้น ณ ศาลาศิริราช 100 ปี โดยมีการบรรยายเพื่อให้ความรู้กับประชาชนในหัวข้อต่างๆ ซึ่งในประเด็น
สัตว์เลี้ยงบำบัดกับสมองเสื่อม ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์นายสัตวแพทย์ปานเทพ  รัตนากร ที่ปรึกษาคณะสัตวแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล มาร่วมเสวนาและตอบปัญหาจากผู้เข้าฟังในงานการใช้สัตว์เลี้ยงช่วยบำบัดโรค (Pet หรือ Animal Assist Therapy) ถูกนำมาใช้ในการช่วยรักษาแบบพยุงหรือประทังอาการของผู้ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์มานานพอควรในต่างประเทศ จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่ให้ผลดีอย่างกว้างขวาง จากรายงานพบว่า สัตว์เลี้ยงที่ถูกนำมาใช้ช่วยบำบัด เช่น สุนัข แมว นก และปลาตู้ ยังส่งผลต่อผู้ป่วยในด้านบวกเช่น ลดความก้าวร้าว กระตุ้นการมีกิจกรรมร่วมในสังคม จิตใจสงบลง มีอารมณ์ดีขึ้นหรือแม้แต่มีความเจริญอาหาร น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ฯลฯ

ปัจจุบันยังไม่มีสัตว์ชนิดใดที่นำจะมาใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ แต่อาจสามารถช่วยในการบำบัดได้ ซึ่งการเลือกสัตว์เลี้ยงควรต้องดูภูมิหลังของผู้ป่วยด้วยว่าชอบ หรือไม่ชอบสัตว์ชนิดใดมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นปมที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของผู้ป่วย อาจเกิดผลกระทบได้หากมีสิ่งนั้นมากระตุ้น
นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงอายุขัยของสัตว์ที่จะนำมาเลี้ยงด้วย เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นภาระกับผู้ดูแลในอนาคตต่อไป หากเป็นสุนัขควรเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับผู้ป่วย เช่น ขนาด และนิสัย และควรเลือกสุนัขที่ค่อนข้างมีอายุคือโตเต็มวัย เนื่องจากจะปรับตัวได้ง่าย และไม่ยุกยิก มีความสงบเสงี่ยม โดยต้องได้รับการฝึกเป็นสุนัขนิสัยดี คือมีคุณสมบัติไม่กัดคน ไม่กัดหมา พาจูงได้

รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ปานเทพ  รัตนากร กล่าวว่า เรื่องที่เรามักเป็นห่วงคือโรคที่มาจากสัตว์ เราต้องพยายามหาสัตว์ที่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคติดต่อ
โดยนำสัตว์ไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนก่อนนำมาเลี้ยง นอกจากนี้ควรมีความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจและให้คิดเสมอว่าสัตว์เป็นสิ่งที่มีชีวิตเหมือนกับเรา จำต้องได้รับการดูแลเหมือนคนเราที่ต้องการความรัก การสัมผัส และเวลาเหมือนกันไม่ได้เลี้ยงแค่ตัว แต่เลี้ยงใจด้วย ซึ่งสุนัขก็มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์ได้เหมือนคน สังเกตุได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น การขับถ่ายที่ไม่เป็นที่เป็นทาง อาจมีประสาทสัมผัสที่เสื่อมถอยลง ซึ่งต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

บ้านรักหมาศาลายา ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจใช้ในการฟื้นฟูบำบัดผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ โดยเป็นสถานที่รวบรวมสุนัขไร้บ้าน ไม่มีเจ้าของ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นำมาตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีน และทำหมันเพื่อคุมกำเนิด และเข้าโครงการฝึกสุนัขนิสัยดี โดยนักศึกษาสัตวแพทย์จะฝึกและปรับพฤติกรรมให้สามารถเชื่อฟังคำสั่ง และปรับนิสัยให้เป็นสุนัขที่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมมนุษย์ได้ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการหาบ้านใหม่ เพื่อส่งต่อให้ผู้ที่มีความประสงค์จะรับเลี้ยงต่อไป โดยผู้ป่วยสามารถมาเยี่ยมชมและพาสุนัขเดินโดยมีอาสาสมัครคอยดูแลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร กล่าวทิ้งท้าย

บ้านรักหมาศาลายา เปิดให้เข้าชมในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. และวันเสาร์-อาทิตย์เวลา 09.30 - 16.30 น. โปรดติดต่อนัดหมายล่วงหน้าที่ โทร. 0-2441-5242 ต่อ 1414 ดูรายละเอียดได้ที่ FB: บ้านรักหมาศาลายา

Comments

Share Tweet Line