Trail Running สิ่งที่นักวิ่งต้องรู้เมื่อจะไปวิ่งเทรล

Trail Running สิ่งที่นักวิ่งต้องรู้เมื่อจะไปวิ่งเทรล

Trail Running ความท้าทายสำหรับสายวิ่ง... การวิ่งเป็นกีฬาอย่างหนึ่งที่สร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายในทุก ๆ ส่วน ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการเอาชนะตัวเอง เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายคือเส้นชัย ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับการวิ่งมากขึ้น หลาย ๆ หน่วยงานระดมกำลังจัดงานวิ่งเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นมากมาย เพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยนักวิ่งจะเริ่มจากการวิ่งในเมือง หรือ วิ่ง Road ก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อฝึกให้ร่างกายคุ้นชินกับการวิ่ง และค่อย ๆ เพิ่มระยะทางเพื่อเป็นการเอาชนะตนเอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่นักวิ่งหลายคนจะเกิดความท้าทาย อยากพัฒนาไปสู้การวิ่งเทรลเพื่อสร้างความแปลกใหม่ในการวิ่งมากขึ้น ซึ่งการเตรียมตัวก่อนวิ่งเทรลจะแตกต่างจากการวิ่ง Road หลายอย่าง ดังนั้นนักวิ่งจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนวิ่งเทรล ทั้งในเรื่องของร่างกาย สุขภาพ และการฝึกซ้อม


ถ้าพูดถึงนักวิ่งที่มากความสามารถ คงไม่มีไม่รู้จัก โค้ชเดี่ยว - ปฏิการ เพชรศรีชา อดีตนักวิ่งวิบากทีมชาติผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศ โดยโค้ชเดี่ยวได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการวิ่งเทรล รวมถึงการเตรียมพร้อมก่อนวิ่ง และการดูแลตัวเองหลังจากการวิ่งเอาไว้ว่า “การวิ่งเทรลจะทำให้เราได้สัมผัสธรรมชาติที่ร่มรื่น ได้รับอากาศบริสุทธิ์ แต่เราจะไม่รู้ระยะทางและเส้นทางที่ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากการวิ่ง Road ที่มีเส้นทางที่แน่นอน ทำให้เราประมาณการตัวเราเองได้ในขณะวิ่ง ดังนั้นเราต้องเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งในเรื่องการฝึกซ้อมวิ่งเทรล การขึ้นเขา (uphill) และลงเขา (downhill) ซึ่งจะต้องมีมานะมากกว่าการวิ่งมาราธอนทั่วไปหลายเท่า เพราะการวิ่งเทรลเป็นการวิ่งที่ต้องใช้ทักษะในการเอาตัวรอดสูง เนื่องจากเราวิ่งในป่า เส้นทางจะไม่ราบเรียบเหมือนการวิ่งในเมืองอย่างแน่นอน ถ้าไม่ฝึกซ้อมและไม่มีทักษะในการเอาตัวรอดก็มีโอกาสบาดเจ็บสูง นอกจากนี้ก่อนที่จะถึงวันวิ่งเทรล ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ บางครั้งอาจมีการปล่อยตัววิ่งตอนกลางคืน ดังนั้นควรนอนกลางวันให้เต็มอิ่ม และควรรับประทานอาหารให้อิ่มก่อนลงวิ่ง เพื่อให้มีพลังในการวิ่งจนจบระยะทาง”

สำหรับการเตรียมพร้อมเรื่องสุขภาพก่อนวิ่งเทรล โค้ชเดี่ยวได้แนะนำไว้ว่า “คนที่มีโรคประจำตัวที่ไม่เหมาะกับการวิ่งนาน ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น ต้องศึกษาข้อมูลก่อนลงวิ่งให้ดี เพราะการวิ่งในป่าจะเคลื่อนย้ายรถพยาบาลลำบากกว่าการวิ่งในเมือง ซึ่งจะเข้าถึงตัวผู้ป่วยได้ยากและช้า นอกจากนี้ก่อนวิ่งไม่ควรรับประทานอาหารแสลง เนื่องจากจะทำให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรงหรือแพ้อาหารขณะวิ่งได้ และเมื่อวิ่งเสร็จแล้วก็ควรมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เรื่องนี้ขาดไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นการสะสมอาการบาดเจ็บ ส่งผลเสียต่อการวิ่งครั้งต่อไปในอนาคตมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังมีเคล็ดลับจากการใช้น้ำแข็งประคบ หรือแช่น้ำแข็งเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟู และช่วยบล็อกอาการบาดเจ็บ กล้ามเนื้อฉีกขาดเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมถึงเลือดคั่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นขณะวิ่ง เป็นการช่วยบรรเทาอาการบาดเจ็บได้ดีที่สุด”

ในส่วนของอุปกรณ์ที่จำเป็นขณะวิ่ง โดยปกติการวิ่งเทรลระยะยาว ๆ จะมีการกำหนดอุปกรณ์ที่ต้องมีเอาไว้ โดยอุปกรณ์หลัก ๆ ได้แก่ อุปกรณ์ปฐมพยาบาล ไฟฉาย headlamp โทรศัพท์มือถือ พาวเวอร์แบงก์ ไม้โพธิ์ รวมถึงอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีความจำเป็นต่อการวิ่งในป่า นอกจากนี้เมื่อเราวิ่งในป่าก็ควรคำนึงถึงผืนป่า โดยไม่ทิ้งขยะระหว่างทาง และไม่ใช้แก้วน้ำพลาสติก ซึ่งจะเห็นได้ว่าเริ่มมีการรณรงค์ในเรื่องสิ่งแวดล้อมในงานวิ่งต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยเฉพาะงานวิ่ง “Trail for Heroes วิ่งเทรลเพื่อผู้พิทักษ์ป่า” ภายใต้โครงการ HANDS FOR HEROES รวมมือเรา เพื่อคนเฝ้าป่า ปีที่ 2 จัดขึ้นโดยมูลนิธิเอสซีจี ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ผืนป่า ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้นักวิ่งนำกระบอกน้ำ หรือเป้น้ำมาเพื่อลดปริมาณขยะแทนการใช้แก้วที่ใช้แล้วทิ้ง อีกทั้งยังใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า ผู้ที่ช่วยดูแลผืนป่าทั่วประเทศให้ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ โดยมูลนิธิฯ จะนำรายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย ไปซื้ออุปกรณ์ลาดตระเวนให้แก่ผู้พิทักษ์ป่าทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้พิทักษ์ป่าได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ต้อง “ห่วงหน้า พะวงหลัง” ซึ่งงานวิ่ง Trail for Heroes กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2562 ณ อุทยานแห่งชาติปางสีดา จังหวัดสระแก้ว

สำหรับผู้สนใจสมัครได้ที่ https://www.runlah.com/events/tfh19 หรือ โทร. 081-818-6155, 065-992-7397 นอกจากนี้ยังสามารถสนับสนุนเสื้อโครงการ HANDS FOR HEROES หรือบริจาคเงินสมทบทุนได้ที่ บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี “แฮนดส์ ฟอร์ ฮีโร่ส์ โดยมูลนิธิเอสซีจี” เลขที่บัญชี 468-0-71691-0 และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนรายละเอียดกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการ “HANDS FOR HEROES” ผ่านทาง Facebook : handsforheroes  

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line