สรพ. ร่วมกับ สวทช. มอบรางวัลนวัตกรรมดีเด่น 2P Safety Tech

สรพ. ร่วมกับ สวทช. มอบรางวัลนวัตกรรมดีเด่น 2P Safety Tech

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ร่วมกับ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. จัดเวทีพิชชิ่ง 2P Safety Tech Pitching ภายใต้งาน “วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก (The 1st World Patient Safety Day)” และ “วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย (The 3rd Thailand Patient and Personnel Safety Day)” ที่จัดโดย สรพ. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ โดยเวทีพิชชิ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมด้าน Innovation for 2P Safety ที่เปิดโอกาสให้ 12 โรงพยาบาลในโครงการ 2P Safety Tech Hospitals นำเสนอนวัตกรรม เพื่อคัดเลือกนวัตกรรมที่มีผลงานดีเด่นใน 3 ด้าน ได้แก่ Care, Change, Collaboration ผลปรากฏ รพ.หนองม่วง ลพบุรี กับผลงานรถขนส่งอาหารขับเคลื่อนไฟฟ้า คว้ารางวัลด้าน Collaboration ขณะที่ด้าน Care มี 2 แห่งคือ รพ.มหาสารคาม กับผลงาน Smart OPD และรพ.สุไหงโก-ลก กับผลงานเครื่องมือ Stop Fall ส่วนรางวัลด้าน Care คือ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์ กับผลงานระบบบริหารเวรเปล ซึ่งทุกนวัตกรรมต้นแบบที่พัฒนาจะเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทปัญหาของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลมีความปลอดภัยและสะดวกยิ่งขึ้น สนับสนุนการเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ต่อไป




พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. เปิดเผยว่า การประกวดนวัตกรรมในโครงการ 2P Safety Tech (Patient and Personal Safety Technology Awards) หรือโครงการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาล” เป็นความร่วมมือระหว่าง สรพ. และ สวทช. ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ประกอบกับความต้องการที่จะใช้นวัตกรรมเพื่อเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่ง สวทช. มีเครือข่ายนวัตกร (Innovator) ที่สามารถรับโจทย์ไปพัฒนาต่อได้ โดยโครงการ 2P Safety Tech ปี 2561 มีจำนวนโรงพยาบาลเข้าร่วมทั้งสิ้น 18 แห่ง โดยร่วมพิชชิ่ง 12 แห่งสำหรับโรงพยาบาลที่มีความก้าวหน้าในการดำเนินนวัตกรรมแล้ว ซึ่งเกณฑ์การตัดสินนวัตกรรมดีเด่นที่สำคัญคือ ผลสัมฤทธิ์ที่มีผลปฏิบัติแล้วนั่นเอง สำหรับรางวัลนวัตกรรมที่มีผลงานดีเด่นประกอบด้วยกัน 3 ด้าน คือ ด้าน Collaboration ได้แก่ โรงพยาบาลหนองม่วง จ.ลพบุรี กับผลงานรถขนส่งอาหารขับเคลื่อนไฟฟ้า 4.0 ขณะที่ด้าน Care มีด้วยกัน 2 รางวัล โดยรางวัล Care ในมุม attractive ได้แก่ โรงพยาบาลมหาสารคาม จ.มหาสารคาม กับผลงาน Smart OPD เพิ่มคุณค่า ลดระยะเวลารอคอย และรางวัล Care ในมุม expected quality ได้แก่ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กับผลงานเครื่องมือ Stop Fall และรางวัลด้าน Change ได้แก่ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ กับผลงานระบบบริหารเวรเปลเพื่อคุณภาพและความปลอดภัย


นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวเสริมว่า เป้าหมายของโครงการ 2P Safety Tech ที่ สวทช. ร่วมกับ สรพ. จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในโรงพยาบาล โดยนวัตกรรมนั้น ๆ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยและบุคลากรที่ปฏิบัติงานของในโรงพยาบาลได้ โดยมีโรงพยาบาลจำนวน 18 แห่งจากทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ซึ่งแนวทางสร้างนวัตกรรมของ 2P Safety Tech จะเน้นทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ประกอบการหรือนักพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ (Health Tech) และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต้นแบบที่เหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทปัญหาของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง เพื่อช่วยให้ระบบงานบริการในโรงพยาบาลสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้นทั้งในส่วนผู้ป่วยและบุคลากรการแพทย์ของโรงพยาบาล

ด้านโรงพยาบาลที่ได้รางวัลนวัตกรรมดีเด่นด้าน Care กับผลงานเครื่องมือ Stop Fall แพทย์หญิงจันทรา นราตรีคูณ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาระบบบริหารสุขภาพ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นจากปัญหาที่มีเด็กเล็ก ตั้งแต่อายุ 6 เดือนถึง 4 ปี ตกเตียงบ่อย ๆ ทุกปี ซึ่งได้ทำการแก้ไขปัญหาหลายทางแล้ว เช่น ทำริชแบนด์ หรือป้ายเตือนต่าง ๆ ซึ่งได้ผลไม่ดีนัก จึงเกิดเป็นความคิดในการที่จะหาตัวช่วย ตอนแรกคิดถึงเหมือน airbag (ถุงลมนิรภัย) ของตัวรถ ถ้ารถชนจะมี airbag เด้งออกมา แต่พอมาคุยกับผู้พัฒนานวัตกรรมแล้วบอกว่าไอเดียนี้ทำยาก จึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นแนวคิดป้องกันไว้ก่อนดีกว่า ด้วยการทำเซ็นเซอร์ยกเตียงขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้น เกิดเป็นโครงการพัฒนาระบบป้องกันการตกเตียงในเด็ก (stop fall in childhood) เพราะเด็กจะมีพฤติกรรมตามแม่ ถ้าแม่มาชงนมเด็กจะคลานตามลงมาเลย นวัตกรรม stop fall เมื่อแม่ลงจากเตียงแล้วไม่ได้ยกไม้กั้นเตียงขึ้นภายใน 10 วินาที ระบบตรวจจับการยกไม้กั้นเตียง และระบบเตือนเมื่อไม่ยกไม้กั้นเตียงจะทำงานทันที ด้วยแสงไฟและเสียงที่จะส่งสัญญาณเตือนติ๊ด ๆ ซึ่งเป็นฮาร์ดแวร์ที่เตือนโดยอัตโนมัติ สามารถส่งแจ้งเตือนไปที่โทรศัพท์มือถือของพยาบาล และที่ Nurse Station ด้วย ซึ่งตอนนี้มีเตียงต้นแบบ stop fall ที่ทดลองใช้จริงแล้วจำนวน 4 เตียง ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมถึงผู้ดูได้เกิดความตระหนักในการเฝ้าระวังมากขึ้น และสามารถป้องกันการตกเตียงในเด็กได้


และโรงพยาบาลที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นด้าน Collaboration กับผลงานรถขนส่งอาหารขับเคลื่อนไฟฟ้า 4.0 นางสุภาพร ไชยตะมาตย์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลหนองม่วง จ.ลพบุรี กล่าวว่า “จากปัญหารถขนส่งอาหารที่โรงพยาบาลจอดอยู่ มีน้ำหนักมากและไม่ได้ใช้ และต้องขนส่งบนทางที่ลาดชัน เสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงานบาดเจ็บ จึงเกิดแนวความคิดในการพัฒนาเป็นรถเข็นอาหารที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งในการออกแบบรถต้นแบบ ได้ประสานกับทางวิทยาลัยลพบุรี มาช่วยแนะนำวิธีสร้างรถและออกแบบเส้นทาง พร้อมไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลพระพุทธบาท จนสามารถพัฒนาสร้างรถต้นแบบได้ ทำให้บุคลากรที่ใช้รถปฏิบัติงานสะดวก ลดอาการบาดเจ็บจากการปฏิบัติงาน ส่วนผู้ป่วยได้รับอาหารที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อนระหว่างขนส่ง และโรงพยาบาลเองได้ประหยัดต้นทุนด้วยอีกทางหนึ่ง”

ทั้งนี้ ภายในกิจกรรม 2P Safety Tech Pitching ที่ สวทช. ร่วมกับ สรพ. ดำเนินงานในส่วน Innovation for 2P Safety ยังมีการมอบรางวัลเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาลที่มีนวัตกรรมโดดเด่นและน่าสนใจ ประกอบด้วย รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ โรงพยาบาลสัตหีบ กม.10 จ.ชลบุรี กับผลงาน Automatic ISBAR และโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี กับผลงาน Administration Yommarat-Nurse Advance ขณะที่รางวัลพิเศษ ได้แก่ โรงพยาบาลระยอง จ.ระยอง กับผลงาน Smart wristband for patient identification พร้อมโอกาสนี้ยังได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง “Open Innovation รวมพลังงานสร้างนวัตกรรม ทำได้จริง : แลกเปลี่ยนเรียนรู้ การคิด ทำ ใช้ นวัตกรรม” โดยผู้แทนจากทีมนวัตกรรมโรงพยาบาล 2P Safety Tech และทีมสตาร์ทอัพในเครือข่าย สวทช. เพื่อเสริมความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับโรงพยาบาลแต่ละแห่งในการนำนวัตกรรมไปปรับใช้ในโรงพยาบาล  

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line