สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล เปิดหลักสูตรเพื่อการเข้าใจมนุษย์ผ่านมุมมองวัฒนธรรม

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล เปิดหลักสูตรเพื่อการเข้าใจมนุษย์ผ่านมุมมองวัฒนธรรม

จุดเริ่มต้นของ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เกิดขึ้นจากการที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล็งเห็นความจำเป็นของการผลิตนักวิชาการที่มีความรู้และความเข้าใจด้านภาษา และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ  จนถึงปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่างๆ ที่ทำให้วัฒนธรรมมีลักษณะเป็นพลวัต และมีความหลากหลาย ส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับปัจเจกไปจนถึงระดับสังคมใหญ่ หลักสูตรวัฒนธรรมศึกษามีความสำคัญในอันที่จะช่วยสร้างความรู้ และมีวิธีวิทยาในการศึกษาวิจัย ที่สามารถนำไปสู่การส่งเสริมความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ศาสตร์วัฒนธรรมศึกษาด้วยสหวิทยาการวิจัย ไปใช้ในสร้างงานวิชาการ งานวิจัย และวิชาชีพ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาสถาบันฯ ที่ว่า "ภาษาและวัฒนธรรมเป็นหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน"


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรณู เหมือนจันทร์เชย ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล บอกเล่าถึงคำกล่าวของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุล ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการท่านแรกของสถาบันฯ ว่า “ถ้าเราไม่มีวัฒนธรรม เราจะไม่รู้ภาษา และถ้าเราไม่รู้ภาษา เราก็จะไม่เข้าใจวัฒนธรรม” เนื่องด้วยสถาบันฯ เกิดขึ้นมาโดยการเคารพความแตกต่างและความหลากหลาย และสมัยแรกๆ ของการจัดตั้งสถาบันฯ เรื่องของชาติพันธุ์เป็นประเด็นสำคัญของชาติ เราจึงได้พยายามที่จะร่วมแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยใช้ภาษาและวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการที่จะพัฒนาประเทศ ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ในประเทศไทยมานาน ถือเป็นคนไทยคนหนึ่ง ควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกับคนไทย

“หากเราทุกคนเคารพซึ่งกันและกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยไม่คิดว่าเราอยู่เหนือกว่าคนอื่น หรือดีกว่าคนอื่น สังคมก็จะไม่เกิดปัญหา คนเราอยู่ด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ หากเรามองแต่ตัวเอง แล้วไม่สนใจคนรอบข้างเลย ปัญหาก็จะเกิด แต่ถ้าเรามีความเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งในทางสังคม ผู้คน และทรัพยากรธรรมชาติ หรืออะไรก็แล้วแต่ ปัญหาก็จะน้อยลง ถึงแม้อาจไม่หมดสิ้น แต่จะสามารถเบาบาง และแก้ไขได้ในที่สุด ซึ่งถ้าเราไม่รู้วัฒนธรรมของเขา เราจะไปตีความจากสิ่งที่เราคิดเพียงฝ่ายเดียวนั้นไม่ได้ โดย “วัฒนธรรมศึกษา” จะช่วยให้เกิดการ “รู้เขา รู้เรา” ซึ่งบางครั้งเรามัวแต่ “รู้เขา” แต่เรา “ไม่รู้ตัวเอง” ก็ไม่สามารถเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองรู้ ก็ไม่มีประโยชน์” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรณู เหมือนจันทร์เชย กล่าว

อาจารย์ ดร.นันธิดา จันทรางศุ อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และฝ่ายประชาสัมพันธ์หลักสูตรฯ กล่าวเสริมทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ สถาบันฯ กำลังเปิดรับสมัครนักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา ซึ่งเป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นใหม่ เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ วิธีวิทยา การทำความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมผ่านมุมมองเชิงวิพากษ์ทางวัฒนธรรมศึกษา (Critical Theory in Cultural Studies) และการพัฒนางานวิจัยที่หลากหลายในประเด็นต่างๆ ทางวัฒนธรรม มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Tailor made) ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้ด้านวัฒนธรรมศึกษาอย่างเป็นองค์รวม เป็นผู้รู้รอบอย่างลึกซึ้งในเชิงทฤษฎี วิธีวิทยา เนื้อหาเฉพาะด้านในรายวิชาต่างๆ ที่มีให้เลือกเรียนรู้อย่างหลากหลาย เช่น สุขภาพในยุคดิจิทัล พหุวัฒนธรรมทางดนตรีและการแสดง พิพิธภัณฑ์ศึกษาแนววิพากษ์ วัฒนธรรมภาพยนตร์ข้ามชาติในบริบทเอเชีย วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ในบริบทร่วมสมัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสื่อดิจิทัล วัฒนธรรมการมีส่วนร่วม และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นต้น ตลอดจนสามารถเลือกศึกษาประเด็นเฉพาะ (Directed Studies) เชิงลึกในประเด็นที่สนใจโดยตรงกับอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นนั้นๆ

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://www.lc.mahidol.ac.th FB: RILCA Mahidol University

หรือ https://www.facebook.com/CulturalStudiesRILCA สมัครออนไลน์ได้ตั้งแต่บัดนี้ - วันที่ 10 ตุลาคม 2562 ทาง www.grad.mahidol.ac.th

 

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line