‘นาโนเทค’ สวทช. อว. ส่งมอบมุ้งฆ่ายุงนาโนช่วยผู้ประสบภัยอุบลฯ

‘นาโนเทค’ สวทช. อว. ส่งมอบมุ้งฆ่ายุงนาโนช่วยผู้ประสบภัยอุบลฯ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอุทกภัยที่ทำให้เกิดความเสียหายในหลายพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้ประชาชนหลายพันครัวเรือนต้องเผชิญกับความสูญเสีย แม้ระดับน้ำจะทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังต้องการความช่วยเหลือและการฟื้นฟู ทั้งนี้ อว. ได้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปมอบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ฯ โดยจัดทำ “โครงการฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด” กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นำทีมโดย นายจำลอง พรมสวัสดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน พร้อมด้วย นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.สุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้บริหารจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ในการนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ได้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรม “มุ้งฆ่ายุงนาโนสมบัติพิเศษ” ไปบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องที่ประสบความเดือดร้อน




นายจำลอง พรมสวัสดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ มีความห่วงใยและให้ตรวจเยี่ยมและลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นหน่วยงานในการประสานงาน โดย กระทรวงฯ มีนโยบายในการนำผลงานวิจัยเข้าไปช่วยเหลือฯ ได้แก่ เครื่องกรองน้ำ จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ยากันยุง และมุ้งฆ่ายุงนาโนสมบัติพิเศษ จากนาโนเทค สวทช. ใน 2 พื้นที่ได้แก่ โรงเรียนหาดสวนยาง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และวัดกุดกูล อ.เมือง จ.อุบลราชธานี อีกทั้งกระทรวงฯ มีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อตอบโจทย์ BCG Model (B: bioeconomy, C: circular economy, G: green economy) รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่เร่งให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างทั่วถึงบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในการดำเนินโครงการ 3 เรื่อง ได้แก่ นวัตกรรมชุมชน นวัตกรรมสังคม และอาสาประชารัฐ ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งในภาคการเกษตรและอาหาร ด้านพลังงานและวัสดุ ด้านสุขภาพและการแพทย์ และด้านการท่องเที่ยว โดยมุ่งจะนำประเทศไปสู่การเป็นผู้นำการผลิตอาหารคุณภาพต่อไป 



ดร.สุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์หลักหนึ่งของ สวทช. คือ การนำเทคโนโลยีพร้อมใช้ไปถ่ายทอดให้กับชุมชน และผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางด้านสังคมและสาธารณประโยชน์ นาโนเทค หนึ่งในศูนย์แห่งชาติภายใต้ สวทช. ที่มีนวัตกรรมและงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีอยู่ จึงพร้อมที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาส่งต่อให้กับผู้ที่ต้องการ รวมทั้งบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดขึ้น การลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในครั้งนี้ นาโนเทคได้นำนวัตกรรมที่เรียกว่า มุ้งฆ่ายุงนาโนสมบัติพิเศษ หรือ Antimosquito Nano Bednets เพื่อนำไปมอบให้กับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งมุ้งฆ่ายุงนาโนฯ จำนวน 480 หลัง มอบให้กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้

มุ้งฆ่ายุงนาโนสมบัติพิเศษ เป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาสูตรเคมีและกระบวนการเคลือบสิ่งทอสำหรับกำจัดแมลง โดย นาโนเทค สวทช. ที่เกิดจากการพัฒนา “เดลตาเมธริน” (Deltamethrin) สารสังเคราะห์เลียนแบบสารในกลุ่ม “ไพเรธรอยด์” (Pyretroid) สารสกัดธรรมชาติจากดอกดาวเรืองและเก๊กฮวย ซึ่งเป็นสารที่ได้รับการแนะนำให้ใช้จากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยสารสังเคราะห์ “เดลตาเมธริน” (Deltamethrin) ถูกนำไปต่อยอดในกระบวนการผลิตมุ้ง แบ่งเป็น 2 แบบ คือ เคลือบสารเดลตาเมธรินลงบนเส้นใยสำหรับมุ้งที่ผลิตขึ้นจากเส้นใยธรรมชาติหรือเส้นใยฝ้าย และผสมสารชนิดนี้ลงในเม็ดพลาสติกเพื่อขึ้นรูปเป็นเส้นใย ซึ่งในวิธีการหลังนั้นทำให้เก็บสารที่ผลต่อการฆ่ายุงได้นานกว่าการนำมุ้งไป ชุบ 5 เท่า

กระบวนการทำงานของมุ้งฆ่ายุงนาโนสมบัติพิเศษ จะเริ่มเมื่อตัวรับ (Receptor) ที่ปลายขาของยุง ได้รับสารเดลตาเมธรินจากการชนหรือสัมผัสมุ้งที่ผสมสารเดลตาเมธริน จะทำให้ยุงบินช้าลงและตายในที่สุด ซึ่งยุงแต่ละชนิดมีความไวต่อสารสังเคราะห์ชนิดนี้ได้ต่างกัน โดยเฉพาะยุงรำคาญและยุงก้นปล่อง ที่จะไวต่อสารเดลตาเมธรินมากที่สุด โดยจะตายภายใน 6 นาทีหลังจากได้รับสารที่สำคัญ คนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่มีตัวรับสารดังกล่าวจึงไม่ได้รับอันตรายเหมือนยุง ซึ่งนอกจากจะปกป้องผู้ใช้จากการถูกยุงกัดแล้ว ยังสามารถลดจำนวนประชากรของยุงได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ทีมวิจัยนาโนเทค สวทช. ยังพัฒนาให้มีคุณสมบัติพิเศษร่วมอื่น ๆ อีกหลายชนิด (Multifunction) ได้แก่ ป้องกันเชื้อแบคทีเรียทำให้ผลิตภัณฑ์ปราศจากกลิ่นอับชื้น ป้องกันรังสียูวีทำให้มุ้งและสารกำจัดยุงมีความทนทานต่อแสงแดด คุณสมบัติแบบผสมดังกล่าวเหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป หรือในช่วงที่มีอุทกภัย ซึ่งมีการแพร่ระบาดของยุงจำนวนมาก

นางสุพัตรา แซ่ลอ ชาวบ้านจากชุมชนวงสว่าง ที่บ้านเรือนได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมและต้องมาพักที่ศูนย์พักพิงวัดกุดคูณ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า แม้ทุกปี พื้นที่บ้านของเธอจะเป็นพื้นที่รับน้ำอยู่แล้ว แต่ปีนี้ นับว่าหนักมาก เพราะน้ำมาตอนตี 2 เก็บของขึ้นที่สูงไม่ทัน และน้ำยังท่วมสูงกว่าทุกปี แม้แต่ชั้น 2 ของบ้านก็ไม่พ้นถูกน้ำท่วม

“เราเก็บอะไรไม่ทันเลย คว้าลูก ๆ และพัดลม 1 ตัวออกมาได้เพียงเท่านั้น บ้าน ข้าวของเครื่องใช้เสียหายหมด ต้องมาอยู่ศูนย์พักพิง โดยกางเต้นท์นอน แต่ก็ไม่ชิน บวกกับครอบครัวคนเยอะ ร้อน แล้วเรายังต้องคอยดูเป็ดไก่ที่เอามาด้วย ทำให้ต้องออกมาอยู่ข้างนอก ยุงเยอะมากเพราะน้ำเริ่มนิ่ง และเน่า ยากันยุงเอาไม่อยู่” นางสุพัตรากล่าว พร้อมแสดงความดีใจเมื่อได้รับมุ้งฆ่ายุงจากนาโนเทค เพราะตอบความต้องการได้อย่างแท้จริง

เช่นเดียวกับ นางวิระกุล อ่อนคำลุน วัย 75 ปี ชาวบ้านจากชุมชนวัดกุดคูณ ที่อยู่ในศูนย์พักพิงเดียวกัน ที่บ้านเรือนของคุณยายเสียหายไม่น้อย และยังใช้ชีวิตลำบากจากยุงที่มีจำนวนมาก มุ้งฆ่ายุงที่ได้รับไปจากนาโนเทคจะช่วยให้คุณยายและครอบครัวพักผ่อนได้อย่างสะดวกสบายขึ้น

“น้ำท่วมครั้งนี้ หลายฝ่ายต่างมีน้ำใจมาช่วยเหลือ ทั้งคนที่มาทำกับข้าว มาบริจาคอาหาร น้ำดื่ม รวมถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการยังชีพ นับว่า ยังมีสิ่งที่ดีงามแม้จะเป็นช่วงวิกฤต” คุณยายวิระกุล กล่าว

ดร.สุธี เผยต่อว่า การลงพื้นที่ นำนวัตกรรมและงานวิจัยไปช่วยผู้ประสบภัย นับเป็นการต่อยอดงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งในครั้งนี้ นับว่าประสบความสำเร็จในการตอบความต้องการของผู้ประสบภัยได้อย่างดี

 

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line